
สรุปผลการผ่าชันสูตร "อดีต ผกก.โจ้" ชัดแล้ว! สาเหตุการเสียชีวิต
กรมคุ้มครองสิทธิฯ สรุปผลการผ่าชันสูตร "อดีต ผกก.โจ้" ชัดแล้ว! ลักษณะบาดแผล สาเหตุการเสียชีวิต
ตามที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้แถลงการณ์เกี่ยวกับมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริง กรณีการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2568 กรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ "อดีตผู้กำกับโจ้" เสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัว ณ เรือนจำกลางคลองเปรม
โดยที่ประชุมมีมติให้ชะลอการพิจารณาเพื่อรอรายงานการผ่าชันสูตรศพอย่างเป็นทางการจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งผลการตรวจวัตถุพยานและสถานที่เกิดเหตุจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้น
18 เม.ย. 2568 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ได้รับรายงานการผ่าชันสูตรศพ จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เรียบร้อยแล้ว คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จึงขอสรุปผลการผ่าชันสูตรศพ ดังนี้
1. ลักษณะบาดแผลที่สำคัญ
1) รอยกดรัดบริเวณลำคอใต้ต่อลูกกระเดือกกว้างประมาณ 1.2 ซม.ยาว 14 ซม.จากลำคอด้านหน้าเฉียงขึ้นที่ใบหูด้านขวา ใบหน้าปกติไม่มีลักษณะของการคั่งเลือด ไม่มีจุดเลือดออกใต้ตาขาว
2) บาดแผลถลอกที่บริเวณต้นแขนซ้ายด้านในใกล้กับข้อพับข้อศอก เป็นรอยคล้ายกับถูกแมลงจำพวกมดกัดแทะเป็นบริเวณกว้างประมาณ 2 x 2 ซม. และ 6 x 2.5 ซม. ลักษณะรอยแผลเป็นรอยตื้น สอดคล้องกับการถูกแมลงจำพวกมดกัดแทะภายหลังการเสียชีวิต
และบริเวณของแผลพบลักษณะของของเหลวสีแดงเป็นซีรั่มไหลออกมาจากบาดแผล และเมื่อสอบถามกับแพทย์ที่ชันสูตร ณ ที่เกิดเหตุจากสถาบันนิติเวชศาสตร์โรงพยาบาลตำรวจพบว่าเป็นลักษณะของเหลวสีแดงคล้ายซีรั่มเช่นเดียวกันกับที่เจอในที่เกิดเหตุ
3) รอยบาดแผลฟกช้ำเก่าที่บริเวณเอวด้านหน้าซ้ายขนาด 4 x 4.5 ซม. และบริเวณชายโครงขวาขนาด 4 x 4 ซม. และบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวขนาด 6 x 1.4 เซนติเมตร เป็นรอยฟกช้ำเก่าที่เกิดขึ้นมาประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้าการตรวจชันสูตร
2. การตรวจเลือดและกระเพาะอาหารเพื่อตรวจหาสารยาและสารพิษ ตรวจพบยา ดังนี้
- ยากลุ่มต้านอาการซึมเศร้า fluoxetine norfluoxetine
- ยากลุ่มยานอนหลับ 7-Aminocnazepan
- ยากลุ่มรักษาความดันโลหิตสูง propranolol
3. การวิเคราะห์ผลจากการตรวจพิสูจน์เนื้อเยื่อใต้รอยกดรัด ไม่พบรอยช้ำ กล้ามเนื้อลำคอไม่พบรอยช้ำ แสดงว่าแรงที่มากระทำในการกดรัดไม่เยอะมาก เข้าได้กับการนั่งผูกคอแล้วเสียชีวิต ประกอบกับลักษณะรอยกดรับมีแนวเฉียงขึ้น ไม่พบบาดแผลร่องรอยการต่อสู้อื่นใดสอดคล้องกับลักษณะของการกระทำการผูกคอด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากผู้อื่นกระทำ
“สรุปสาเหตุการเสียชีวิต : ตายจากการขาดอากาศ เนื่องจากผูกคอตาย”
สำหรับคดีชันสูตรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น พนักงานสอบสวนกำลังจะสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการเพื่อจัดทำคำร้องยื่นต่อศาลเพื่อทำการไต่สวนต่อไป