
"เงินบำรุง รพ." หลายแห่งติดลบ ประธานองค์กรแพทย์ฯ จี้ สปสช. แก้ปัญหา
เกิดอะไรขึ้น? "เงินบำรุง รพ." หลายแห่งติดลบ ขาดสภาพคล่อง "ประธานองค์กรแพทย์ รพ.พุทธชินราช" จี้ สปสช. แก้ปัญหา ชี้ เป็นอีกสาเหตุ ทำบุคลากร ย้ายไปเอกชน
19 เม.ย. 2568 พญ.รัชริน เบญจวงศ์เสถียร ประธานองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก กล่าวถึงสถานการณ์โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ "เงินบำรุงโรงพยาบาล" ซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณที่ได้มาจากการดำเนินงานของโรงพยาบาล หลักๆ คือ รายได้จากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเงินบำรุงจะครอบคลุมค่าใช้จ่าย 9 ด้าน ได้แก่
- 1.ค่าวัสดุ เวชภัณฑ์ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้ปวย
- 2.ค่าบำรุงรักษาซ่อมแชม อาคาร เครื่องมือทางการแพทย์และระบบต่างๆ ที่เสียหายชำรุดอย่างเร่งด่วน
- 3.ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างพนักงานรายเดือน/รายวัน
- 4.ค่าตอบแทนภาระงานนอกเวลา (OT)
- 5.ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (P4P)
- 6.ค่าฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร/จัดการประชุมต่างๆ
- 7.ค่ากิจกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล
- 8.การจัดซื้อ/ปรับปรุงเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วน
- 9.ค่าดำเนินการระบบงานต่างๆ เช่น งานไอที เวชระเบียน โดยมีระเบียบการใช้จ่ายเงินบำรุงโรงพยาบาล เป็นแนวทางควบคุมกำกับให้เกิดโปร่งใสและตรวจสอบได้
พญ.รัชริน กล่าวว่า สาเหตุหลักที่เงินบำรุงโรงพยาบาลลดลง เนื่องจากเงินบำรุงส่วนใหญ่ มาจากการจัดสรรแบบเหมาจ่ายรายหัว ของ สปสช. ซึ่งแบ่งจ่ายหลายกองทุนย่อยมากเกินจำเป็น จึงมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรของ สปสช. และงบกลางที่ได้มาในปี 2567 จัดสรรไปหน่วยบริการใด
ขณะที่ภาระงานและต้นทุนการรักษาพยาบาลในปัจจุบันสูงขึ้นจากเทคโนโลยี และการพัฒนาความก้าวหน้าในการรักษาโรคต่างๆ ทำให้อัตราที่ สปสช. จ่ายคืนโรงพยาบาล ไม่สอดคล้องกับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่แท้จริง โรงพยาบาลจึงขาดสภาพคล่อง จนส่งผลกระทบทั้งการให้บริการประชาชน และการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคลากรลาออกไปอยู่ภาคเอกชน
พญ.รัชริน กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง สปสช. ควรนำงบประมาณที่ได้รับ มาจัดสรรให้โรงพยาบาลต่างๆ เป็นค่ารักษาพยาบาลให้เพียงพอกับต้นทุนก่อนที่จะนำไป จัดสรรในภารกิจอื่น นอกจากนี้ แพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ และบุคลากรทุกคน ต้องร่วมมือกันเพื่อเพิ่มรายรับเงินบำรุง ดังนี้
1.เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การตรวจรักษา ลดระยะเวลารอคอย และทำหัตถการที่สามารถเบิกค่าบริการ เพื่อเพิ่มรายได้จากการเรียกเก็บเงินส่วนกลางหรือกองทุนต่างๆ
2.บันทึกเวชระเบียนให้ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อเรียกเก็บค่าบริการจากกองทุนต่างๆ ได้ครบถ้วน
3.เปิดคลินิกบริการพิเศษ เช่น คลินิกมะเร็ง คลินิกโรคเรื้อรัง เพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นและรวดเร็ว ช่วยให้ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพิเศษหรือโครงการนำร่อง
4.พัฒนาระบบงาน คุณภาพการบริการผู้ป่วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อโรงพยาบาล ขณะเดียวกันต้องลดรายจ่าย โดยสั่งจ่ายยาและตรวจแล็บอย่างเหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อน, ลดระยะเวลาการนอนรักษาในโรงพยาบาล โดยสร้างเครือข่ายการดูแลต่อเนื่อง
เช่น ส่งกลับโรงพยาบาลชุมชนหรือดูแลที่บ้าน (Home Ward) ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในโรงพยาบาล, เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ โดยจัดระบบเวรหรือห้องตรวจให้เหมาะสม ใช้ระบบการปรึกษาทางไกล/การแพทย์ทางไกล ให้ความรู้ผู้ป่วยในการดูแลตนเอง เป็นต้น