ข่าว

"หมอสมศักดิ์" ชำแหละ 8 ข้อ ความจริง "สปสช." ระบบสุขภาพไทย

"หมอสมศักดิ์" ชำแหละ 8 ข้อ ความจริง "สปสช." ระบบสุขภาพไทย

22 เม.ย. 2568

"หมอสมศักดิ์" ชำแหละ 8 ข้อ ความจริง "สปสช." ระบบสุขภาพไทยที่สังคมต้องรู้ ซัด! อย่าเน้นแต่พีอาร์สร้างภาพ หวั่น! ประชาชนเข้าใจผิด ส่งผลกระทบถึงบุคลากรทางการแพทย์

นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โพสต์ผ่านเฟชบุ๊ก  “ความจริงของระบบสุขภาพไทย กับ สปสช. ที่สังคมต้องรู้”

 

\"หมอสมศักดิ์\" ชำแหละ 8 ข้อ ความจริง \"สปสช.\" ระบบสุขภาพไทย

 

1. สปสช. ซื้อการบริการต่างๆ จากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยการจ่ายค่าบริการในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งเป็นการกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม แต่ สปสช. ก็ทำให้ทุกอย่างเป็นความสอบธรรมโดยการจัดทำประกาศ การจ่ายค่ารักษาพยาบาลออกมาอย่างเป็นทางการ โดยสถานพยาบาลของรัฐไม่มีสิทธิปฏิเสธการเข้าร่วมการบริการด้านสุขภาพของ สปสช. ได้

 

 

2. การบริหารงบประมาณของ สปสช. เป็นงบประมาณปลายปิด คือ แต่ละปีจะมีวงเงินงบประมาณจำกัดที่ได้มาตามงบประมาณรายหัวประชากร ดังนั้นถ้าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงๆ ในแต่ละปี มีมูลค่าสูงกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช. มี ทาง สปสช. ก็จ่ายเงินค่ารักษาให้แต่ละหน่วยบริการเป็นอัตราส่วนของวงเงินงบประมาณที่มี เช่น ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ทาง สปสช. กำหนดว่าจะจ่ายตามค่า RW โดย 1 RW เท่ากับ 8350 บาท แต่ในไตรมาสที่ 3 และ 4 งบประมาณส่วนกองทุนผู้ป่วยในเหลือเพียง 70% ของวงเงินที่ต้องใช้ ทาง สปสช. ก็จะลดวงเงินที่จ่ายต่อ 1 RW = 8350 บาท เหลือเพียง 70% ของ 8350 บาท เป็นต้น

3. ผู้ป่วยบางรายที่ทางโรงพยาบาลให้การรักษาพยาบาลจนหายดี มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจริง แต่หลักฐานการรักษาพยาบาล หรือเอกสารเวชระเบียนผู้ป่วยมีความไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์การเบิกจ่ายของ สปสช. ที่กำหนดไว้ ทางสถานพยาบาลก็ไม่ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วยรายนั้น ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นแล้ว

 

 

4. การจ่ายเงินค่ารักษาของ สปสช. ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนหลังจากการรักษานั้นเสร็จสิ้น เนื่องจากมีงานด้านเอกสารต่างๆ มาก และมีขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องอีกหลายขั้นตอน ไม่รวดเร็วเหมือนบริษัทประกันชีวิตจ่ายค่ารักษาพยาบาลคืนให้โรงพยาบาล

 

 

5. สปสช. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่า 30 บาทรักษาได้ทุกโรค ซึ่งอาจจะจริงถ้าเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงสุด แต่ที่ไม่จริง คือ โรงพยาบาลรักษาให้ได้ แต่ไม่สามารถรียกเก็บค่ารักษาจาก สปสช. ได้ เพราะการรักษานั้นอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ อยู่นอกรายการ fee schedule หรืออยู่นอกกติกาการเบิกจ่ายของ สปสช. เช่น การใส่สายสวนหลอดเลือดในผู้ป่วยมีความผิดปกติของหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000 บาท โรงพยาบาลรักษาได้ แต่ สปสช. ไม่จ่ายค่ารักษาให้เลยแม้แต่บาทเดียว

6. เงินเดือนบุคลากรของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวของประชากรด้วย ทำให้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลจริงๆ ที่ประชาชนได้รับนั้นต่ำกว่าวงเงินงบประมาณรายหัวที่ประกาศให้ทราบ

 

7. สปสช. มีระบบการตรวจสอบ (audit) เวชระเบียนผู้ป่วยที่ให้การรักษาไปแล้วและจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปแล้ว แต่ถ้าภายหลังจากการตรวจสอบ พบว่ามีความไม่สมบูรณ์ของเวชระเบียน หรือเอกสารการส่งเบิกไม่พบในการส่งเบิก สปสช. ก็จะมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลส่วนนั้นคืนจากสถานพยาบาล

 

 

8. โดยภาพรวมแล้วทาง สปสช. จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้สถานพยาบาลประมาณ 55-60% ของค่ารักษาที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาลระดับต่างๆ ต่อ 1 RW ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชนประมาณ 13,000 บาท โรงพยาบาลทั่วไปประมาณ 17,000 บาท โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยประมาณ 23,000 บาท ในขณะที่ สปสช. จ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงสุดต่อ 1 RW เท่ากับ 8,350 บาท ดังนั้นจะเห็นได้ว่าราคาค่ารักษาพยาบาลที่รัฐกำหนดไว้ให้โรงพยาบาลคิดราคาค่ารักษาพยาบาลนั้นมีราคาต่ำกว่าต้นทุนอยู่แล้ว แต่ต่ำไม่มาก มีบางรายการที่ราคากำหนดไว้สูงกว่าต้นทุน ซึ่งโรงพยาบาลพออยู่ได้ แต่จากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของ สปสช. นั้นต่ำกว่าต้นทุนมาก จึงส่งผลต่อการขาดสภาพคล่องทางการเงิน

 

ข้อเท็จจริงที่ผมเล่ามานี้มีวัตถุประสงค์ให้สังคมรับทราบความเป็นจริงว่าแต่ละโรงพยาบาลมีข้อจำกัดด้านการเงินอย่างมาก ส่งผลให้การพัฒนาระบบบริการต่างๆ เป็นไปได้ยากมาก ทั้งการเพิ่มบุคลากร การเพิ่มเทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย เพราะขาดงบประมาณสนับสนุนที่เหมาะสม แล้วปัญหาทั้งหมดที่ สปสช. ต้องใช้การบริหารแบบนี้ ก็เพราะได้รับงบประมาณที่จำกัด ไม่พียงพอต่อการให้บริการด้านสุขภาพของคนไทย 75% ของทั้งประเทศ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ของ สปสช. ที่ให้ข้อมูลกับสังคมนั้น ผมมีความเห็นว่าต้องพูดข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบอย่างถูกต้อง อย่าเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพให้ประชาชนเข้าใจไม่ถูกต้อง เพราะผลกระทบจะส่งผลถึงบุคลากรทางการแพทย์ และสถานพยาบาล

 

ที่มา: หมอสมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท