
ภัยแล้งมาแล้ว กรมฝนหลวงฯ เร่งปฏิบัติการฝนเทียมช่วยเกษตรกร
กรมฝนหลวงฯ เร่งปฏิบัติการช่วยเกษตรกร หลังหลายพื้นที่ฝนทิ้งช่วงและวิกฤตภัยแล้ง ขณะที่เกษตรกรต้องกาฝนเทียมมาก เพราะเป็นฝนตามสั่งและตรงจุด
ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง หลายพื้นที่กำลังได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำ หล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หลังฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำหลักหลายแห่งลดลง
นายพสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ ประธานแปลงใหญ่จังหวัดลำพูนและตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย เปิดเผยว่า ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของจังหวัดลำพูน ซึ่งสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดคือเรื่องน้ำ เพราะเรียกได้ว่า "ลำไย" จำเป็นต้องใช้น้ำในทุกช่วง ตั้งแต่การตัดแต่งกิ่ง , การให้ปุ๋ยจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เรียกว่าตลอดระยะเวลา 7 เดือน ลำไยเป็นพืชผลทางการเกษตรที่จำเป็นต่อการใช้น้ำเป็นอย่างมาก
ในช่วงฤดูฝนเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจะมีแหล่งน้ำของตัวเองที่จะช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหรือช่วงฝนทิ้งช่วง ที่ผ่านมาต้องใช้น้ำกันอย่างประหยัดที่สุด แต่บ่อยครั้งที่ฤดูแล้งหนัก น้ำที่เก็บกักไม่เพียงพอต่อการดูแลสวนลำไยเกษตรกรในพื้นที่ ก็จะต้องร้องขอฝนเทียมไปที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อให้ช่วยทำฝนเทียมในพื้นที่ที่ต้องการ เพราะได้ฝนตามสั่งและตรงจุด วันนี้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในจังหวัดลำพูนรู้สึกขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะน้ำถือว่ามีความจำเป็นต่อลำไยมาก ถ้าน้ำดี ฝนดี การดูแลจากภาครัฐดี เกษตรกรก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดจำเป็นต้องใช้น้ำ
ขณะที่ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูแล้ง กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้วางแผนและจัดกำลังเจ้าหน้าที่รวมถึงเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติภารกิจในพื้นที่วิกฤต เน้นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และบางส่วนของภาคกลาง ซึ่งมีระบบเรดาร์ดาวเทียมและข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาในการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อเลือกช่วงเหมาะสมขึ้นบินกระตุ้นเมฆและสร้างฝนได้อย่างแม่นยำ และขระนี้เริ่มเห็นผลในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีความชื้นเพียงพอและเอื้ออำนวยต่อการก่อตัวของเมฆ
ด้านราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมฝนหลวงฯ จะเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันที ขณะนี้ได้รับแจ้งจากอาสาสมัครฝนหลวงกว่า 1,000 คนทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนพี่น้องประชาชน ตัวอย่างเช่น ที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ปีที่ผ่านมาพบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับปลูกข้าว กรมฝนหลวงฯส่งเครื่องบินเข้าปฏิบัติการ ทำให้ฝนตกกว่า 120 มิลลิเมตรในวันแรก และสามารถช่วยให้ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันฤดูกาล แม้งบประมาณจะมีจำกัด แต่กรมฝนหลวงฯยืนยันว่า ความเดือดร้อนของประชาชนต้องมาก่อน พร้อมเดินหน้าภารกิจตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสืบสานต่อยอดโดยรัชกาลที่ 10 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้การปฏิบัติการฝนหลวงยังมีเป้าหมายเพื่อเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เริ่มมีระดับน้ำลดลงต่ำกว่าค่ามาตรฐาน หากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรและการผลิตน้ำประปาในหลายพื้นที่
อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ย้ำว่า การทำฝนเทียมไม่ใช่ทางออกเดียวในการแก้ปัญหาภัยแล้ง แต่เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการช่วยบรรเทาสถานการณ์ในระยะสั้น พร้อมเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในระยะยาว ส่งเสริมการใช้น้ำอย่างประหยัดในภาคครัวเรือนและภาคเกษตรกรรม ซึ่งกรมฝนหลวงฯ จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และหากพบว่ามีแนวโน้มขาดแคลนน้ำในระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ก็จะขยายการปฏิบัติการไปยังพื้นที่อื่นๆ