![ปภ.บูรณาการความปลอดภัยทางถนน ลดปัจจัยเสี่ยงทุกมิติ ปภ.บูรณาการความปลอดภัยทางถนน ลดปัจจัยเสี่ยงทุกมิติ](https://media.komchadluek.net/media/img/size1/2019/11/02/77kk8eejhjhiafbdaik85.jpg?x-image-process=style/lg-webp)
ปภ.บูรณาการความปลอดภัยทางถนน ลดปัจจัยเสี่ยงทุกมิติ
ปภ.บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนน มุ่งลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ทั่วประเทศ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก
ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ โดยได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ.2554 เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งระดับส่วนกลาง ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น
โดยมีคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) เป็นหน่วยกำหนดนโยบายในส่วนกลางมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ซึ่งมีหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในฐานะสำนักงานเลขานุการฯ เป็นหน่วยบูรณาการ
ส่วนในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น มีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด/อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยดำเนินงาน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดการให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง พร้อมทั้ง ได้จัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นกรอบ การดำเนินงานด้านสร้างความปลอดภัยทางถนนแก่หน่วยงานทุกภาคส่วน โดยมุ่งดำเนินมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ
ซึ่งทุกแผนงานและมาตรการต่างๆ ได้กำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักในแต่ละด้านอย่างชัดเจน อีกทั้งได้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน อาทิ การเพิ่มโทษผู้กระทำผิดกรณีเมาแล้วขับและขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การได้มาซึ่งใบอนุญาตขับขี่ที่ “ออกยาก ยึดง่าย” รวมถึงการกวดขันรถโดยสาธารณะให้มีมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น
นอกจากนี้ หน่วยงานทุกภาคส่วนได้ร่วมกันรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และสร้างจิตสำนึกด้านการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยแก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย และเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนกับภาครัฐ
นายเชษฐา กล่าวต่อไปว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ แต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการในภารกิจที่เกี่ยวข้องแล้ว
อีกทั้งได้มีการแก้ไขระเบียบเพิ่มเติมโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดการและแก้ไขปัญหาการจราจรในระดับพื้นที่ ซึ่งทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ของตนเองได้
ท้ายนี้ การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนต้องร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงสามารถลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างยั่งยืน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กทม. ครองแชมป์จังหวัดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด