"เสมา1" มั่นใจคุมเข้มโควิด ขยายเรียนไฮบริดทั่วปท.จับมือกทม.-เอกชนชูจุดเด่นปั้นรร.
"รมว.ศธ."มั่นใจทุกโรงเรียนใช้มาตรการเข้มข้นรับมือโควิด-19หลังเปิดเรียนวันแรกภายใต้การแพร่ระบาดระบุการใช้มาตรการแบ่งแยกโซนทั่วประเทศส่งผลดีทำให้การเรียนการสอนดำเนินการได้ตามปกติกำชับโรงเรียนให้มีความยืดหยุ่นหาก"ผู้ปกครอง-นักเรียน"บางส่วนต้องการเรียนที่บ้าน
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นโรงเรียนวัดรางบัว และโรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจความพร้อมในการเปิดเรียนวันแรก หลังปิดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดชองเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดย นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนได้รับทราบว่าทุกโรงเรียนมีความมั่นใจ และมีความพร้อมในการบริหารจัดการรับมือกับวิกฤตินี้ เนื่องจากทุกๆ โรงเรียนได้ผ่านประสบการณ์มาก่อนหน้าแล้ว โดยโรงเรียนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และนครปฐม มีการควบคุมด้วยจำนวนนักเรียนที่ต้องไม่เกิน 25 คนต่อห้อง ซึ่งสามารถทำให้ผู้บริหารโรงเรียนสามารถจัดการเรื่องการเว้นระยะห่างได้อย่างเรียบร้อย
อีกทั้งทุกโรงเรียนยังให้ความสำคัญต่อความเข้มงวด ในเรื่องการใส่หน้ากาก การล้างมือ การตรวจอุณหภูมิ และการเว้นระยะห่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ทุกๆ คน ได้แก่ ผู้บริหาร ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต้องมีความเข้าใจ เพราะวันนี้เรายังอยู่ในช่วงที่กำลังมีการแพร่ระบาดของ Covid-19 แม้จะเปิดเรียนแล้วก็ตาม
“กระทรวงศึกษาธิการ มั่นใจว่า มาตรการการแบ่งแยกโซนทั่วประเทศนั้น ทำให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ โดยในส่วนของผู้ปกครอง หรือนักเรียนบางส่วน ที่ยังไม่มั่นใจ และยังไม่ประสงค์จะมาโรงเรียน ทางโรงเรียนก็จะส่งใบงาน หรือแบบฝึกหัดให้นักเรียนทำที่บ้านได้ ยอมรับว่าเป็นภาระหนักสำหรับคุณครูและโรงเรียน รวมถึงคุณภาพของการศึกษา แต่เราก็ต้องพยายามขับเคลื่อนตรงนี้ไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นนักเรียนจะได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร แนวทางนี้เป็นการแก้ไขปัญหาในช่วงที่มีวิกฤติอยู่ ณ ปัจจุบัน แต่ผมมั่นใจว่า ถ้าพวกเราร่วมมือกัน เราก็จะผ่านวิกฤตินี้ไปได้”นายณัฏฐพล กล่าว
ส่วนเสียงสะท้อนเรื่องการเรียนผ่านระบบออนไลน์นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องนี้มีเสียงสะท้อนมาในสองรูปแบบ บางส่วนบอกว่าการเรียนผ่านออนไลน์ทำให้พวกเขาได้รับความรู้มากขึ้น ขณะที่บางส่วนต้องการกลับมาเรียนที่โรงเรียน เพราะได้ความรู้มากกว่า ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องนำข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้มาประมวลอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในอนาคตโอกาสการเรียนแบบผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์ กับการเรียนที่โรงเรียน ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถึงแม้จะไม่มีวิกฤติก็ตาม
“การเรียนผ่านออนไลน์นั้น เราต้องขยายไปให้ทั่วทั้งประเทศ เพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทั้งด้านวิชาการและทักษะด้านต่างๆ เราสามารถเรียนรู้ผ่านออนไลน์เพิ่มเติมและเป็นส่วนเสริมได้ ขณะเดียวกันการเรียนการสอนในโรงเรียนก็ยังคงต้องใช้เป็นตัวหลัก โดยมีคุณครูเป็นสื่อกลาง เพื่อสร้างสังคมในโรงเรียนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
นอกจากนี้ นายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่า ปัจจุบันโรงเรียนในกรุงเทพมหานครนั้น มีการกระจุกตัวของนักเรียนในบางโรงเรียน เนื่องจากเป็นเรื่องค่านิยม ซึ่งทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนให้ความสนใจและมุ่งไปสู่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นต้องสร้างโอกาสในโรงเรียนมัธยม ซึ่งวันนี้ในหลายๆ โรงเรียนมีความพร้อมเรื่องสถานที่ เพียงแต่การจัดการเรียนการสอนอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้หมดโอกาสในการสร้างความสนใจให้กับผู้ปกครองและนักเรียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ กำลังจะทำการยกระดับโรงเรียนชุมชนประจำในกรุงเทพมหานคร
“โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร มีโอกาสได้รับการสนับสนุนในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบดิจิทัลเทคโนโลยี ในเรื่องของคนที่จะมีโอกาสเข้ามาสอน หรือผสมผสานในการสอนภาษาเพิ่มเติม รวมถึงกระบวนการที่จะยกระดับความรู้ของนักเรียนในวิชาสาขาต่างๆ ดังนั้นเราจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศทางด้านการศึกษาให้มีความน่าสนใจ หลังจากนั้นก็จะเป็นโอกาสในการดึงผู้สนับสนุนเข้ามาร่วม” รมว.ศึกษาธิการ ย้ำ
นายณัฏฐพล ยังบอกอีกว่า วันนี้จากการได้พูดคุยกับนักเรียน ได้เห็นเรื่องสำคัญของการศึกษา คือ เรื่องหลักสูตรวิชาที่ยังเป็นปัญหา โดยเนื้อหาหลักสูตรจากนี้ไป ต้องมองไปถึงอนาคตของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องความสนใจในทักษะต่างๆ และความสามารถเฉพาะตัวของเด็กๆ เพราะหลักสูตรในวันนี้ นำเอามาตรฐานการศึกษามาคอบความสามารถของเด็กทุกๆ คน เพื่อที่จะพยายามวัดความเท่าเทียมกัน
“ประเด็นนี้ผมเข้าใจ แต่เมื่อเด็กเข้ามาถึงมัธยมต้นและมัธยมปลายแล้ว ความต้องการก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งความสามารถ ทักษะ รวมถึงอนาคตของเด็กก็จะแตกต่างกันไป ผมมั่นใจว่า แม้เราสร้างความยืดหยุ่นด้านการศึกษา เราไม่ได้เสียคุณภาพทางการศึกษาแน่นอน แต่จะได้คุณภาพทางการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเด็กจะได้รับการสนับสนุนเฉพาะทางตามทักษะความสนใจ และความสามารถของเขา อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องผลักดัน ให้เกิดทันหลักสูตร ปี 2565 ซึ่งจะได้เห็นในเร็วๆ แต่สุดท้ายต้องมีความยืดหยุ่นของการศึกษา ”
ขณะเดียวกัน ในวันนี้ตนยังได้เห็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่โรงเรียนจะเป็นนิติบุคคล ที่จะทำให้โรงเรียนมีโอกาสดึงความสามารถเฉพาะทางของตัวเองออกมา ให้เห็นถึงความโดดเด่น เพื่อเสนอแนวทางการสนับสนุน แต่ยังมีความกังวลว่า หากทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบกติกาของกระทรวงศึกษา อาจทำให้โอกาสในการที่จะคิดฝันตามแนวทางของโรงเรียนตัวเองอาจจะมีข้อจำกัดอยู่
ส่วนภาพรวมของแผนการศึกษาจังหวัด โรงเรียนในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรนั้น นายณัฏฐพล กล่าวว่า ต้องหารือกันทั้งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้พอมองเห็นตัวเลขชัดเจน เพียงแต่ว่าวันนี้ ต้องพยายามสร้างโอกาสให้กับนักเรียนทุกคน ได้รับคุณภาพอย่างเต็มที่ เพราะหากมีโรงเรียนขยายโอกาสเกิดขึ้น อาจจะเป็นการไปตัดโอกาสของโรงเรียนมัธยมอื่นๆ ซึ่งต้องไปหารือกับทางกทม.
“ผมมั่นใจว่า เราสามารถหารือและทำความเข้าใจกันได้ โดยการตัดสินใจเลือกความต้องการของแต่เลือกพื้นที่ เป็นปัจจัยหลักว่า พื้นที่หรือเขตนั้นๆ ต้องการด้านการศึกษามากน้อยแค่ไหน อย่างไร ซึ่งจะทำให้การวางแผนสะดวกและชัดเจนมากขึ้น เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย หรืองบจากกระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นงบประมาณที่มาจากรัฐเหมือนกัน เพราะมีเป้าหมายต้องการให้โรงเรียนมีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ” นายณัฏฐพล กล่าว