ไลฟ์สไตล์

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

08 ต.ค. 2562

คีตราชา โปรมูสิกา จูเนียร์ โครงการส่งเสริมศักยภาพของผู้มีความสามารถด้านดนตรี โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก

     ในฐานะนักดนตรีคนหนึ่ง ทุกครั้งที่ได้เล่นเพลงพระราชนิพนธ์ หนูรู้สึกภูมิใจ และคิดถึงพระองค์ท่านมากค่ะ” ถ้อยคำเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความหมายที่บ่งบอกถึงความรู้สึกของ “เบนซ์” ธนภรณ์ ลาภส่งผล เยาวชนวัย 18 ปี จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้รับโอกาสครั้งใหญ่ในชีวิตร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการการแสดงคอนเสิร์ต “คีตราชา : โปรมูสิกา จูเนียร์ รียูเนียน” การแสดงดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ เพื่อน้อมรำลึกและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นการแสดงร่วมกันของคณาจารย์จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเยาวชนที่เคยผ่านการฝึกอบรมค่ายดนตรีของโครงการคีตราชา โปรมูสิกา จูเนียร์ จาก 5 รุ่นที่ผ่านมา 

      กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง \"คีตราชา\" รำลึกในหลวง ร.9

เหล่าโปรมูสิกา จูเนียร์ ฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง \"คีตราชา\" รำลึกในหลวง ร.9

ธนภรณ์ ลาภส่งผล

    ด้วยความประทับใจในบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาโดยตลอด "เบนซ์" ธนภรณ์ เผยความรู้สึกด้วยว่า ดีใจที่มีโอกาสได้เล่นเพลงที่ได้ฟังมาตั้งแต่เล็กจนโต ส่วนตัวรู้สึกประทับใจเพลงใกล้รุ่งมาก ได้รู้จักเพลงพระราชนิพนธ์นี้จากการเล่นดนตรีไทย ตอนนั้นเล่นขลุ่ยเพียงออ พอเล่นก็รู้สึกชอบเพลงนี้มากแล้ว แต่พอได้มาเล่นดับเบิลเบส ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีคลาสสิก ก็ยิ่งทำให้รักเพลงพระราชนิพนธ์นี้มากขึ้นไปอีก

    โครงการ คีตราชา โปรมูสิกา จูเนียร์ เป็นโครงการที่ส่งเสริมศักยภาพของผู้มีความสามารถด้านดนตรี เป็นค่ายฝึกอบรมดนตรีที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ทางด้านดนตรีคลาสสิก โดยจะคัดเลือกเด็กจากภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ เรียกว่าแต่ละรุ่นจะได้ฝึกฝนฝีมือทางด้านดนตรี ทั้งเพลงคลาสสิก และเพลงพระราชนิพนธ์ โดยอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งไทยและจากต่างประเทศ

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง \"คีตราชา\" รำลึกในหลวง ร.9

ธัญชิศา เรื่องลือ

     “มิวสิค” ธัญชิศา เรื่องลือ วัย 19 ปี หนึ่งในสมาชิกของค่าย กล่าวว่า การเข้าค่ายในโครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้การฝึกซ้อมดนตรีแบบเข้มข้น ทำให้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น เพราะได้ฝึกวินัยแบบนักดนตรีอาชีพ การบริหารจัดการเวลาว่าควรซ้อมแค่ไหน ตื่นกี่โมง ทำอะไร การใช้ชีวิตให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น การแบ่งเวลา การตรงต่อเวลา อย่างตัวเองเล่นเครื่องดนตรีเชลโล อาจารย์ก็จะคอยมาแนะนำอย่างใกล้ชิด ช่วยส่งเสริมให้กระตือรือร้น ทำความเข้าใจในโน้ตดนตรีคลาสสิกที่มีความยากให้กลายเป็นเรื่องสนุกได้

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง \"คีตราชา\" รำลึกในหลวง ร.9

เทวชัย ม่วงสุข (ขวา) ตั้งใจฝึกซ้อมเชลโล่

      การเข้าค่าย ทำให้ได้เจอเพื่อนๆ ที่มีใจรักดนตรีคลาสสิกเหมือนกัน “โฟน” เทวชัย ม่วงสุข อายุ 18 ปี ชั้นปีที่ 1 คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าให้ฟังว่า ค่ายนี้ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะทางดนตรีมากขึ้น ได้เจอคนเก่งๆ เยอะมาก ส่วนตัวชอบดนตรีประเภทเครื่องสาย เชลโล คือเครื่องดนตรีที่ชอบที่สุด และมองว่าการเล่นดนตรีคลาสสิกเปรียบเสมือนการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เหมือนการนำภาษาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มารวมกัน เพราะสำหรับตัวเองต้องใช้ความคิดเยอะมากในการเล่นแต่ละเพลง มีจุดหัก จุดเชื่อมต่อ จุดประสาน เพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงบรรเลงแรกๆ ที่ได้ฟัง เช่น เพลงลมหนาวแว่ว จะได้ยินเพลงเหล่านี้มาตลอด ซึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์หลายๆ เพลง มีท่วงทำนองและมีเนื้อเพลงที่เป็นพลังและกำลังใจในการใช้ชีวิต การได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง \"คีตราชา\" รำลึกในหลวง ร.9

สุประวีณ์ จันทร์สว่าง

      ในขณะที่ “รวงข้าว” สุประวีณ์ จันทร์สว่าง อายุ 18 ปี ชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าเริ่มเล่นไวโอลินเพลงแรกคือเพลงพระราชนิพนธ์ “พรปีใหม่” รู้สึกว่าทุกครั้งที่ได้เล่นเพลงนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพรให้เรา

     “เพลงพรปีใหม่ เป็นเพลงในดวงใจ พอได้บรรเลงเพลงนี้เหมือนกำลังได้รับพรจากพระองค์ท่าน อีกเพลงที่ชอบคือเพลงยิ้มสู้ เพราะเพลงนี้พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อให้กำลังใจ หนูเองรู้สึกผูกพันกับเพลงพระราชนิพนธ์มาก เพราะว่าวงออเคสตร้าที่ภาคใต้ ที่หนูเคยร่วมวง มีคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติประจำปี จึงทำให้เราได้มีโอกาสเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ในทุกๆ ปีมาตลอดค่ะ” สุประวีณ์ กล่าว

      กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง \"คีตราชา\" รำลึกในหลวง ร.9

      แม้จะเป็นเด็กสายวิทย์ แต่ชีวิตก็สนุกกับดนตรีคลาสสิก “รวงข้าว" เสริมว่า ไม่มีอะไรแบ่งแยกว่าดนตรีกับสายวิทย์อยู่ด้วยกันไม่ได้ จริงๆ คือการบาลานซ์ที่ดีมาก อย่างวันไหนอ่านหนังสือแล้วไม่เข้าหัว ก็จะหยุดพัก และซ้อมไวโอลิน พอเล่นไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็จะกลับมาอ่านหนังสือต่อได้อีกเรื่อยๆ ซึ่งการเล่นดนตรีคลาสสิกทำให้มีสมาธิ และได้จัดการกับระบบทางความคิดได้ดีขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีด้วย

   “หนูภูมิใจมากค่ะ และคิดว่าทุกคนในค่ายนี้ก็ต้องภูมิใจเช่นกัน เราได้เป็นตัวแทนของเยาวชนที่ได้มาบรรเลงบทเพลงของพระองค์ เป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต เพราะว่าทุกบทเพลงเพราะมากและมีความหมายที่ลึกซึ้ง อยากชวนทุกคนให้ลองฟังดนตรีด้านนี้กัน มาร่วมรับชมรับฟังคอนเสิร์ต คีตราชา โปรมูสิกา จูเนียร์ รียูเนียน กันเยอะๆ นะคะ รับรองว่าต้องประทับใจแน่นอนค่ะ” สุประวีณ์ กล่าวปิดท้าย

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง \"คีตราชา\" รำลึกในหลวง ร.9

      สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ ถือเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของตัวแทนเยาวชนตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนรุ่นที่ 5 ร่วมถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การแสดงแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์โดยวงดนตรีเครื่องสายจากเยาวชน โปรมูสิกาจูเนียร์รุ่นแรกถึงรุ่นปัจจุบัน ร่วมกับคณาจารย์จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 10 เพลง โดยมีศิลปินรับเชิญ “โก้ มิสเตอร์แซกแมน” มาร่วมบรรเลง 3 เพลง

   ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการแสดงสร้างสรรค์จากเหล่าศิลปินรับเชิญ ได้แก่ “พินต้า” ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ, “อ๊ะอาย” กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ และ “ฉัฏฐ์” ฉัฏฐ์วรรณ ทีปสุวรรณ โดยผสมผสานการร้องเพลงและการแสดงเข้าด้วยกันจำนวน 5 เพลง

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง \"คีตราชา\" รำลึกในหลวง ร.9

    “คีตราชา : โปรมูสิกา จูเนียร์ รียูเนียน คอนเสิร์ต” โดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดแสดงให้ชมในวันที่ 12-13 ตุลาคมนี้ เวลา 15.00-16.30 น. ที่ควอเทียร์ แกลอรี่ ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมฟรี