ไลฟ์สไตล์

มนุษย์กับถ้ำ เขาอ้อกับคติความเชื่อของพราหมณ์และที่นี่คือ เทวสถานแห่งเทพเจ้า(๑)

มนุษย์กับถ้ำ เขาอ้อกับคติความเชื่อของพราหมณ์และที่นี่คือ เทวสถานแห่งเทพเจ้า(๑)

01 ส.ค. 2563

มนุษย์กับถ้ำ เขาอ้อกับคติความเชื่อของพราหมณ์และที่นี่คือ เทวสถานแห่งเทพเจ้า(๑) คอลัมน์...  ตามรอยตำนานแผ่นดิน  โดย...  เอก อัคคี  FB :akeakkee ake

ผมจำความได้ก็จำได้ว่า ผมโตมากับลานหินหน้าถ้ำ....!?!
ถ้ำที่ว่านั้นคือ ถ้ำน้ำเย็นแห่งเขาชัยสน เมืองพัทลุง
เพราะที่นาและสวนยางพาราของตายายผมอยู่บริเวณหน้าถ้ำและเชิงเขาในสมัยโน่นนะ ผมน่าจะมีอายุไม่เกิด ๙ ขวบ แปลกแต่จริงคือ ยิ่งแก่ยิ่งจำเรื่องสมัยเด็กๆได้

 

อ่านข่าว...   จับตาเหรียญพระพุทธปฏิมาเจษฎากร เหรียญเหนียวแห่งเมืองนครปฐมผสานพลังเขาอ้อ

 

มนุษย์กับถ้ำ เขาอ้อกับคติความเชื่อของพราหมณ์และที่นี่คือ เทวสถานแห่งเทพเจ้า(๑)

ห้องโถงถ้ำฉัททันบรรพตของเขาอ้อ ด้านในสุดที่ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าชม

 

 

ถ้ำน้ำเย็นอยู่ทางหัวเขาด้านเหนือ
ถ้ำน้ำร้อนอยู่ค่อนไปทางด้านใต้
ถ้ำพระที่สมัยนั้นมีตาหลวงเหียนปฏิบัติธรรมอยู่ช่วงกลางๆของเขาชัยสนฟากตะวันออก ตาผมเคยทำกิจการ “มายา”คือ ปุ๋ยขี้ค้างคาวบนเขาลูกนี้(แม่เล่าให้ฟัง)


การเข้าถ้ำ มุดถ้ำ ผมทำมาตั้งแต่เด็กๆ
ในถ้ำน้ำเย็น ผมเคยขี่คอน้าชายลุยเข้าไป 
ในถ้ำน้ำลึก-น่ากลัว(สำหรับเด็กน้อยอย่างผม-แต่น้าผมเขาคงสนุก)

 

 

มนุษย์กับถ้ำ เขาอ้อกับคติความเชื่อของพราหมณ์และที่นี่คือ เทวสถานแห่งเทพเจ้า(๑)

อ.เปลี่ยน หัทยานนท์ ประกอบพิธีกรรมขอเจ้าถ้ำใช้พื้นที่

 


....ผมเคยกลับไปนั่งคิดอะไรเงียบๆที่นั่น....


ผมว่า ถํ้าน่าจะเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์เรา 
ก่อนที่มนุษย์เราจะรู้จักตัดไม้มาสร้างบ้าน 
บรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์พวกเราเคยเป็น มนุษย์ถ้ำมาก่อน
เพราะมีหลักฐานทางโบราณคดีมากมายในโลกนี้ที่บ่งชี้
ให้เห็นความผูกพันของมนุษย์กับถ้ำ

 

หลังจากตายายเสียชีวิต แม่ผมและพี่น้องก็ตัดสินใจขายที่นาที่สวนผืนนั้นให้ญาติฝ่ายยายและต่อมาก็ทราบว่ามีการขายต่อให้คนอื่น จนทุกวันนี้บริเวณนั้นได้รับการพัฒนาปรับปรุงจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว รีสอร์ตและมีความสวยงามร่มรื่นมาก



 แต่นอกจากจะเป็นอยู่ที่กินที่หลับนอนหลบภัยแล้ว 
ถ้าเราศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีของมนุษย์ทั้งในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคที่เริ่มมีประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เราก็ใช้ถ้ำเป็น ศาสนาสถาน,เทวสถาน บำเพ็ญเพียรภาวนา
มาตั้งแต่ยุคมนุษย์บูชาดำ น้ำ ลม ไฟ จนถึงมีศาสนา


เพราะในความมืดมิด รูปทรงที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้หินงอกหินย้อยมีส่วนโค้งเว้า นูนต่ำเมื่อมีแสงเงาตกกระทบย่อมที่จะเกิดปรากฏรูปร่างทรวดทรงที่แตกต่างกันไปตามแสงหักเห
เสียงสะท้อนที่ก้องกังวานสะท้อนกระทบไปมา 


ผมว่าน่าจะทำให้มนุษย์เราเกิดความรู้สึกกริ่งเกรงและจินตนาการถึง “พลังงานบางอย่าง” ภายในถ้ำ 


ยิ่งเป็นการบำเพ็ญเพียรภาวนาสวดมนต์ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกสะกดข่มและสงบงามในท่วงท่าทีที่นั่งฝึกจิตสู่ห้วงภวังค์ที่ดำดิ่งลงในสมาธิ ก่อให้เกิดฌานสมาบัติ


ไม่ว่าจะเป็น นักพรต ฤาษี นักบวช พระสงฆ์ ในลัทธิ นิกาย ศาสนาต่างๆสุดแท้แต่ จึงนิยมเข้าถ้ำจำศีล!

 

 

มนุษย์กับถ้ำ เขาอ้อกับคติความเชื่อของพราหมณ์และที่นี่คือ เทวสถานแห่งเทพเจ้า(๑)

 ถ้ำฉัททันต์บรรพต ที่ปรมาจารย์สำนักเขาอ้อ ใช้ประพิธีกรรมามาตั้งแต่โบราณ

 


.......................................


หากถ้ำ...อยู่ในภูเขาโดดๆลูกเดียว
อันเปรียบเหมือน เขาพระสุเมรุ,เขาไกลลาศที่ประทับของพระศิวะเจ้า  ผมรู้สึกว่า ถ้ำก็เหมือนท้องเหมือนครรภ์ของพระแม่ธรณี  พระแม่อุมาเทวี นั้นแหละครับ และบางแห่งอาจจะมีสายโลหิตของพระแม่คงคาหล่อเลี้ยงอยู่ไม่ไกลหรือไม่ก็อยู่ในท้องถ้ำเป็นอุทกธารนั้นแหละ.


แม้ว่าในกาลต่อมา มนุษย์ออกจากถ้ำมาสร้างบ้านแปลงเมืองแล้ว แต่ถ้ำก็ยังมีความหมายในด้านของการเป็นที่ “เร้นกาย”ของนักพรต ดาบส ผู้ทรงศีลที่ปลีกวิเวกจากสังคมมนุษย์ ก่อนศาสนาพราหมณ์จะเกิดและศาสนาพุทธจะมีตามมา


คือที่เก่าก่อนในถ้ำคือที่อยู่ของศาสนาผี ผีป่าผีเขาผีถ้ำผีน้ำ
เพราะมนุษย์มักไปฝังศพในถ้ำ เชิงเขา หรือใต้ซอกหินหลืบผา


ปัจจุบันยังมีถ้ำในบ้านเราอีกหลายแห่งที่เชื่อว่ายังคงมี  “ผีศักดิ์สิทธิ์”ครอบครองอยู่ อย่าง เช่น ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ถ้ำเชียงดาวที่ เชียงใหม่ ถ้ำขุนตาล ฯลฯ


หรือแม้แต่ถ้ำฉัททันต์บรรพต เขาอ้อ พัทลุง ก็เชื่อกันว่า
ดวงจิตอันศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาฤาษี นักพรต บูรพาจารย์แห่งสำนักปาฏิโมกเขาอ้อ ยังคงสถิตย์อยู่ในถ้ำแห่งนี้มากมาย


ในอินเดีย ในจีนและในเมืองไทยเราเอง ผมว่า ถ้ำยังคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแทบทุกศาสนา หากใครไปอินเดียจะพบว่า มีถ้ำที่เป็นเทวสถานต่างๆทั้งศาสนาพราหมณ์ฮินดู ,ศาสนาพุทธ ล.ศาสนาไชนะ, ฯลฯรวมไปถึงในจีนและไทย 


อาจเป็นเพราะถ้ำเป็นที่ “วิเวก” เหมาะแก่การเจริญจิตภาวนาและศึกษาพระธรรม ผมเคยไปชมถ้ำที่เมืองลั่วหยาง ประเทศจีน 
พบว่ามีการเจาะผนังภูเขาหินและถ้ำทำเป็นช่องเล็กๆ มากมาย  
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เพื่อให้เป็นที่นั่งจำศีลภาวนาของพระภิกษุและจัดวางพระพุทธรูปเพื่อเป็นพุทธบูชา


พระภิกษุฝ่าย “อรัญวาสี”หรือ พระป่ามักนิยมแสวงหาที่พำนักวิเวกตามถ้ำต่างๆไม่ว่า อินเดีย พม่า ไทย เนปาล ทิเบต จีน ลาว  ฯลฯ


และก็น่าจะคล้ายกันครับ!...คือถ้ำไม่ได้เป็นพื้นที่เฉพาะของศาสนาเดียว กล่าวคือ พุทธศาสนาก็ไปซ้อนทับกับพื้นที่ของศาสนาอื่นที่อาจจะอยู่มาเก่าก่อน อย่างศาสนาผีอาจจะอยู่แต่เดิมในถ้ำเหล่านั้นที่ถูกทดแทนด้วยศาสนาพราหมณ์ และต่อมาศาสนาพุทธก็เข้าไปแทนที่แล้วถ้ำหลายแห่งจึงอยู่ทั้งพุทธ พราหมณ์และผีครับ 


ผมเคยอ่านบทความของคมกฤช อุ่ยเต็งเค่ง ในมติชนสุดสัปดาห์ เขาเล่าเอาไว้ว่า แม้ว่าจะมีเทพเจ้าพราหมณ์ไม่กี่องค์ที่เกี่ยวข้องกับถ้ำ แต่ในหนังสือ The Hindu Temple : An Introduction to Its Meaning and Forms ของ George Michell กล่าวว่า ที่จริงเทพเจ้าในเทวสถานทุกองค์ก็อยู่ใน “ถ้ำ” อยู่แล้ว
..............................

(อ่านต่อตอนต่อไป)