นายหนังตะลุง-หมอกบโรงเขาคือจอมขมังเวทหลังจอมายาผู้ร่ายมนต์คาถาผ่านตัวหนังลงอาคม
นายหนังตะลุง-หมอกบโรงเขาคือจอมขมังเวทหลังจอมายาผู้ร่ายมนต์คาถาผ่านตัวหนังลงอาคม คอลัมน์... ตามรอยตำนานแผ่นดิน โดย... เอก อัคคี Fb:Akeakkee Ake
ในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำทะเลน้อยสมัยโบราณ
เป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญแบบคนเมือง ยิ่งขึ้นชื่อว่าแถบนี้ ดงคนดุ นักเลง โจรผู้ร้ายชุกชุมยิ่งกว่ายุงในปลักควาย!!
อ่านข่าว... หุ่นพยนต์ มหาภูติ มหายันต์ ไอ้เณรแก้วพิธี๗วาระ ของ "เณรดอย เมืองตรัง"
แต่ไม่ว่า ไอ้เสือร้ายขนาดไหน มันก็ชอบความบันเทิง
เพราะฉะนั้นนักเดินทาง ที่หาญกล้านำพามหรสพความบันเทิง
ไปมอบให้กับชาวบ้านชายป่า ชายเลจึงมีเพียงคณะหนังตะลุง คณะมโนราห์และแน่นอนว่า พวกเขาต้องมีดีพอตัว
มีความเป็นลูกผู้ชายตัวจริง ฉลาดหัวไว ปากดีมีเสน่ห์และมีวิชา
นายหนังตะลุงสมัยก่อนมักเป็นนักเลงไสยศาสตร์และต้องมีหมอประจำตัวนายหนัง ที้เรียกกันว่า หมอกบโรง ซึ่งต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาคมพิธีกรรมต่าง ๆ ป้องกันไม่ให้นายหนังถูกคุณไสยของฝ่ายตรงกันข้ามและถ้าเกิดมีขึ้นสามารถแก้ไขได้ ยังทำหน้าที่ทำของใส่ฝ่ายตรงข้ามด้วย ถ้าสังเกตุหมอกบโรงจะนั่งติดกับหัวหยวกปักรูปเสมอ แม้แต่ในปัจจุบันนี้
ยกเว้นบางคณะที่ตัวนายหนังตะลุงเอง
อาจจะเป็นคนมีวิชาก็สามารถเป็นหมอกบโรงไปด้วยในตัว
ในอดีต การถูกคุณไสยของฝ่ายตรงกันข้ามของคณะนายหนังตะลุงนั้นมีอยู่จริง แม่พลอย หัทยายนท์ เคยเล่าให้ผมฟังว่ามีหลากหลายรูปแบบ ท่านก็เคยเห็นกับตาตัวเองสมัยยังสาวๆ เช่น ทำให้เสียงแห้ง ของลงท้อง ชักจนหน้ามืด หรือจู่ๆหน้าโรงอากาศเย็นผิดปกติ
คือฝ่ายคู่แข่งหรือหมอประจำถิ่นอาจจะมีเจตนาร้ายโดยใช้พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ มาลองของด้วยการใช้ชินหรือภูตผีมารังควานหมอกบโรงต้องทำหน้าที่เป็นผู้แก้
เพราะฉะนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อเดินทางไปทำการแสดงต่างถิ่นต่างที่นั้นต้องมีการทำพิธีกรรมยกเครื่องคือก่อนจะมีการยกขนเครื่องประโคมต่าง ๆ ตลอดถึงลูกคู่ ก่อนออกจากบ้านนายหนัง ให้มีการประโคมเพลงเพื่อให้การเดินทางปลอดภัย มีผู้คนนิยมชมชอบ หมอกบโรงจะประกอบพิธีร่ายเวทมนตร์ ๓ เที่ยวสวดว่า"นะเมตตา โมกรุณา พุทปราณี ธายินดี ยะเอ็นดู นะยอออลือออทม” ซึ่งเป็นคาถาของสายสำนักเขาอ้อนั้นเอง!
แล้วนำเครื่องออกเดินทาง เมื่อไปถึงสถานที่แล้ว ก่อนที่ลูกคู่หรือทีมงานจะนำอุปกรณ์ต่าง ๆ วางบนโรงหนังที่เจ้าภาพสร้างไว้ นายหนังหรือหมอกบโรง เดินเวียนโรง ๓ รอบ แล้วบริกรรมคาถาว่า “ออนอ ออพ่อ ออแม่ อออา ออแอ” ต่อจากนั้นจึงจะขึ้นบนโรงได้
การสำรวจที่ตั้งโรงหนังตะลุง ในปัจจุบันต้องดูทำเลในการปลูกโรง เช่น การตั้งโรงซึ่งมีข้อห้าม คือ ในงานศพเขาไม่นิยมหันหน้าโรงหนังตะลุงไปหน้าโลงศพแต่ถ้าไม่สามารถเลี่ยงได้ให้ตั้งโรงหนังตะลุงเฉียงออกจากหน้าโลงศพ
ซึ่งมีความเชื่อกันหากตั้งโรงหนังตะลุงหันหน้าไปหน้าโลงศพจะเป็นสิ่งอัปมงคล ว่าอาจจะหนังเล่นหนังไม่ออก คือ เล่นหนังไม่ลื่นไหลอาจมีปัญหา อุปสรรค หรือเกิดสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ซึ่งการยึดถือปฏิบัติของนายหนังจะไม่เหมือนกันและแตกต่างกันออกตามความเชื่อ
ส่วนการเบิกโรงก่อนจะทำการแสดงนั้นเจ้าภาพต้องเตรียมอาหารคาวหวานใส่ถ้วยเล็ก ๆ วางบนถาด๑๒อย่าง เรียกว่า “แต่งเท่(ที่)สิบสอง” และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเหล้า พร้อมด้วยหมากพลู ๙คำ เทียน๙เล่ม เงินเบิกโรง ๑ บาท ดอกไม้ธูปเทียน ใส่ในพาน
นายหนังหรือหมอกบโรง จะประกอบพิธีชุมนุมเทวดาว่าโองการธรณีสาร ไหว้สัดดี อัญเชิญดวงวิญญาณของครูหนัง ให้มาปกป้องผองภัยทั้งปวง แล้วปักเทียนที่ทับกลองพร้อมด้วยหมากพลูแห่งละหนึ่งคำ นายหนังเคาะทับกลองเบาๆลูกคู่ขึ้นกลองลงโรง เงินค่าลงโรงเป็นกรรมสิทธิ์ของคนแบกแผงปัจจุบันเงินค่าเบิกโรงไม่น้อยกว่า ๑๐๐ บาท แต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีการยกที่สิบสองเหมือนสมัยก่อนแล้วมีเทียนหมากพลูเป็นอันใช้ได้
จากนั้นก็ทำพิธีแทงหยวกกล้วย ซึ่งหยวกที่ใช้ปักรูปต้องเป็นหยวกกล้วยที่ตัดมาใหม่ ๆ หยวกที่โรงหนังอื่นใช้แล้วไม่เอา แต่ถ้าหนังโรงนั้นแสดงต่อ เป็นกี่คืนก็ได้ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ การวางหยวกให้หัวหยวกอยู่ทางขวาของจอ กลางหยวก ใช้มีดครูแทงเป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานอยู่ล่าง เอาหยวกที่แทงออก เสกหมากพลูฝังใน 1 คำ ใช้มือขวาวางเหนือหยวกตรงรอยแทง และใช้กาบหยวกที่แทงออกปิดให้เรียบร้อย เสกคาถาผูกใจคนดู 3 คาบ ”อิตถีโย บุรุสโส โรตันตัง จาระตัง เรเรรัง เอหิ อาคัตฉายะ อาคัตฉาหิ”
บางคณะจะตั้งนโม ๓ จบแล้วไหว้พระ ตั้งสัคเค ตั้งธรณีศาลและมีคาถาเบิกโรง โดยทำพิธีบริเวณหน้าจอหนังตะลุงจากนั้นจุดธูปเทียน จากนั้นนำหมากที่เตรียมไหว้มาเขียนอักขระด้วยกัน ๓ คำ โดยหมากคำแรกเขียนคำว่า “มะ” หมากคำที่สองเขียนคำว่า “อะ” และหมากคำที่สามเขียนว่า “อุ” โดยนำหมากคำแรกไปจุดในหยวกกล้วยหรือที่เรียกว่าจุกอกแล้วท่องคาถา หมากคำที่สองจะเสกหมากแล้วใส่ในทับพร้อมบริกรรมคาถา และหมากคำที่สามไหว้บนเพดานหนังตะลุง
แต่ในปัจจุบันโรงหนังตะลุงได้มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยหมากคำแรกจะใส่ไว้ที่หัวหยวก หมากคำที่สองจะใส่ไว้ที่หลอดไฟหน้าจอหนังตะลุง และหมากคำที่สามใส่ไว้ที่ปลายหยวก ซึ่งมีความเชื่อกันว่าอักขระที่เขียนลงบนหมากได้รับอิทธิพลมากจากศาสนาพราหมณ์คือเทพเจ้าทั้ง 3โลก ได้แก่ พระวิษนุ พระนารายณ์และพระศิวะ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการขอเจ้าที่เจ้าทางและขจัดปัดเป่าอุปสรรคในการแสดงหนังตะลุงในค่ำคืนนั้น
หลังจากเสร็จพิธีเบิกโรงหนังตะลุง นายหนังจะทำพิธีปลุกตัวให้ขลังก่อนกานแสดง (การขับกลอนไหว้ครู) โดยมีความเชื่อว่าเป็นการทำสมาธิ แน่วแน่ ไม่วอกแหวกเนื่องจากนายหนังตะลุงต้องทำบริกรรมคาถาสมาธิจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
หลังจากแทงหยวกเรียบร้อยก็จะทำพิธีเบิกปากรูป รูปตัวหนังตะลุงที่ออกเป็นครั้งแรกลูบขึ้น 3 ครั้ง แล้วร่ายมนต์เบิกปาก เฉพาะรูปตลกสำคัญ เช่นด้วยเหล้า โดยเอาหางจากหรือก้านธูปจุ่มลงในเหล้าแล้วนำไปจิ้มที่ปากรูปพร้อมกับชักปากร่ายมนต์มหาละลวยว่า “ดอล่อหี หีล่อดอ” สามคาบหรือสามจบ
จากนั้นก็จะชักฤาษี คือการเชิดรูปฤาษี “แล้วสอนให้ออกยักษ์ชักฤาษี” ซึ่งมีวิธีเชิด โดยเฉพาะกว่าจะชักได้ถูกต้องใช้เวลาฝึกฝนพอสมควร ถือเป็นศิลปะชั้นสูง มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ฤาษีท่องโรงฤาษีตกบ่อ ฤาษีขุดมัน
แล้วทำพิธี ลูบจอ จะลูบจอก่อนออกปรายหน้าบทใช้มือทั้งสองไปจรดกันที่จอกราบสามครั้งแล้ว ร่ายมนต์มหาเสน่ห์คนดูรักหลงใหล “นะคำนึง ดมคิดถึง พุทตามมา ธาร่ำไร นะรักสนิท โมปลอบจิต ยะปลอบใจ ยะอะอย่าลืมรัก รักแล้วอย่าลืม”
จากนั้นก็ชักเสียง ก่อนออกเสียงขับบทครั้งแรก นายหนังใช้หัวแม่มือขวากดที่เพดานปากแล้วเอาน้ำลายมาปลุกเสก ทำให้เสียงดังฟังไพเราะเสียงไม่แห้ง “โอมส่งเสียงกูไป เข้าในหัวใจมนุษย์หญิงชาย โอมระรวย พระพายพัดหวย ระรวยเป็นบ้า พระพายพัดพา โอมระรวยมหาระลวย” สามเที่ยว
ในการแสดงหนังตะลังนั้น หัวใจสำคัญคือการชักกาก หรือการเชิดรูปตัวตลก นายหนังสมัยก่อนมีคนชักกากให้โดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันนายหนังตะลุงเป็นผู้ชักกากเอง ซึ่งรูปกากหรือรูปตลกมีความสำคัญมากต้อง ชักปากได้ทุกตัวและมีสำเนียงพูดไม่เหมือนกันทุกตัว คนดูจะนิยมดูหนังตะลุงคณะนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเสน่ห์ของตัวตลกครับ
เพราะฉะนั้น ตัวกากหรือตัวตลกประจำคณะจึงเป็นตัวที่มีการลงอาคมไว้อย่างเต็มที่ บางคณะใช้ผิวหนังส้นเท้าของครูอาจารย์ที่ตายไปแล้วมาเย็บเป็นริมฝีปากล่างไว้ชักและเรียกดวงจิตวิญ ญานมาสถิตย์ เรียกกันว่า การกินรูป คือการเชิดรูปและออกสำเนียงพูดเข้ากับลักษณะนิสัยและรูปร่างของรูปหนังตัวนั้น ๆ
อย่างเช่น หนังกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ ท่านชักปากพูดพูดผ่านรูปหนังตัวสะหม้อ ที่ใครก็นำไปเลียนแบบไม่เหมือน หรือ หนังกิ้มเส้ง เมืองพัทลุง พูดอ้ายทองบ้านาย และพูดนางเบียนหรือนาง 2 แขน ได้อย่างที่หาตัวจับยากหรือหนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล เมืองพัทลุง ก็พูดเสียงนางหรือเสียงผู้หญิงได้ดียอดเยี่ยม
ในอดีตนั้น ปรมาจารย์ของเขาอ้อที่นายหนังตะลุงหลายคณะต้องเอ่ยนามไหว้ครูทุกครั้งก่อนทำการแสดงคือ พระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้ออละพระอาจารย์เกลี้ยง วัดดอนศาลา บิดาของพระอาจารย์นำ ชินวโร
โดยเฉพาะพระอาจารย์เกลี้ยง นั้น เคยมีผู้บันทึกเอาไว้ว่า ท่าน
เคยไปทำพิธีซัดทรายใต้โรงหนังตะลุง จนนายหนังเสียงดับมาแล้ว โทษฐานที่ให้ครูหมอกบโรงมาทำของ เล่นไสยศาสตร์ใส่
คณะหนังตะลุงที่เป็นของศิษย์ของท่าน!?!
ใครนักเลงมาก็ต้องนักเลงไป
แหลงไหรกันให้เทือน!!
(พูดอะไรกันให้วุ่นวาย)
..........