เปิดกรุพระเครื่องและคณาจารย์ ของนายกรัฐมนตรีประเทศไทย
เปิดกรุพระเครื่องและคณาจารย์ ของนายกรัฐมนตรีประเทศไทย คอลัมน์... ตามรอยตำนานแผ่นดินโดย... เอก อัคคี FB:Akeakkee Ake
หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง
พระขลังเมืองกรุงศรี
อาจารย์ของนายทวี
นายกรัฐมนตรีบารมี ๑๗ วัน
…...................
ในสมัยรัชกาลที่ ๕และรัชกาลที่ ๖ นั้น เมืองพระนครศรีอยุธยายังมีพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวาวิทยาคมอยู่ไม่น้อย และหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ “หลวงพ่ออ่ำ” หรือ “พระพุทธวิหารโสภณ” แห่งวัดวงษ์ฆ้องเนื่องจากท่านเป็นพระที่เก่งกล้าเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านไสยศาสตร์และแพทยศาสตร์ ขนาดแพทย์แผนปัจจุบันยังศรัทธาเลื่อมใส เพราะสามารถทายทักอาการป่วยต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยไม่ต้องนำตัวคนไข้มาหา แต่สามารถให้ญาติจดชื่อยาไปเจียดจากร้านซินแสได้เลย
อ่านข่าว... หลวงพ่อลา วัดแก่งคอยสุดยอดอาจารย์ขลังพลังเวท ที่พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกฯคนที่๒
นายกรัฐมนตรีคนที่ ๕ ของไทย นายทวี บุณยเกตุ
หลวงพ่ออ่ำ ท่านเป็นอาจารย์ของนายกรัฐมนตรีคนที่ ๕ ของไทย นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญที่เข้าร่วมกับคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(สมัยรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์)ก่อนจะลี้ภัยการเมืองไปปีนังและกลับมาได้เข้าดำรงตำแหน่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยทำหน้าที่เป็นประธานสภา
หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง อยุธยา ไม่ธรรมดา ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อฟัก วัดธรรมิกราช ในสมัยรัชกาลที่ ๕เล่ากันว่า“ พระพุทธเจ้าหลวง ”มักเสด็จฯมาที่วัดนี้อยู่เนืองๆเนื่องจากทรงศรัทธาเลื่อมใสในวิชาอาคมของ“ หลวงพ่อฟัก ”ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้นและมีเกร็ดที่เล่าขานกันสืบมาในหมู่ลูกศิษย์ว่า ในโอกาสที่เสด็จฯมาวัดธรรมิกราชคราวหนึ่ง ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จฯขึ้นไปทอดพระเนตรภายพระวิหารหลวง ซึ่งตั้งอยู่บนโคกสูงกว่าเสนาสนะทั่วไป ขณะที่ทรงพระดำเนินขึ้นบันไดได้ทรงจูงมือ“หลวงพ่อฟัก”ซึ่งชะรอยจะทรงเห็นว่าค่อนข้างชราและเดินเหินไม่สันทัด
หลวงพ่ออ่ำกับ หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ
แต่หลังเสด็จฯออกจากวัดไปได้ครู่เดียวเท่านั้น “ พระญาณไตรโลก ( อาจ ) ” วัดศาลาปูนซึ่งเป็นเจ้าคณะเมืองกรุงเก่า ได้เรียกให้เข้าไปหาและต่อว่าต่อขานทำนองว่า ท่านละลาบละล้วงจ้วงจาบจับพระกรพระเจ้าแผ่นดิน และได้สั่งลงทัณฑกรรมให้ตักน้ำจากตีนท่ามารดโคนโพธิ์ในวัดจำนวน ๑๐๐บาตร โดยเริ่มเมื่อไหร่ก็ได้
แต่ยังไม่ทันที่ท่านจะปฏิบัติตาม ความได้ทราบถึงพระกรรณ“ พระพุทธเจ้าหลวง ”เสียก่อน จึงได้โปรดฯให้สังฆการี(เจ้าหน้าที่วัด)มาแจ้งแก่“ เจ้าคุณญาณฯ ”ว่า“หลวงพ่อฟัก”หาได้ทำผิดตามที่สั่งลงทัณฑ์ไม่ แต่เป็นพระองค์เป็นฝ่ายจูงมือท่านเอง
ถามว่า“ หลวงพ่อฟัก ” องค์นี้มีดีอะไร จึงได้เป็นที่โปรดปรานถึงเพียงนั้น-ตอบยาก แต่ก็เล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านเก่งทางด้านเมตตามหานิยม โดยเฉพาะ“ นะหน้าทอง ”เพราะเพียงเขียน“ ยันต์เฑาะว์ ”ลงบนฝ่ามือแล้วลูบหน้า ก็ได้ผลเป็นเมตตามหานิยมแล้ว แม้ตัวท่านเจ้าของตำราเองก็ทำแบบเดียวกัน โดยบุคคลที่รู้ไม่ทันมักเข้าใจว่า ท่านคงจะลูบหน้าเพื่อให้หูตาสว่างเหมือนผู้สูงอายุทั่วๆ ไป( ในสมัยโบราณ เขาเชื่อกันว่า คนแก่ที่มีวิชามักจะทำแบบนี้)
ภาพถ่ายหลวงพ่ออ่ำ
ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง“ พระพุทธเจ้าหลวง ”กับ“ หลวงพ่อฟัก ”นอกจากคำบอกเล่าแบบ“ มุขปาฐะ ”ที่สืบทอดต่อกันมาแล้ว ยังพบใน“ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ” (ลงวันที่๑พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๑ ) ว่า “ เวลาค่ำแล้วพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯออกท้องพระโรง (ในพระราชวังบางปะอิน) เจ้าอธิการฟัก วัดธรรมิกราช เฝ้าถวายป้าน พระราชทานเงิน ๑ ชั่ง...”
เพราะฉะนั้นเมื่อมีพระอาจารย์วิชาดี บารมีสูง
หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง จึงย่อมไม่ธรรมดา!?!
เมธี ไทยนิกรเคยเขียนเล่าไว้ในนิตยสารลานโพธิฉบับที่ ๑๐๓๒ปักษ์แรกเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ :หลวงพ่ออ่ำ อินฺทปญฺโญ ( พระพุทธวิหารโสภณ ) วัดวงษ์ฆ้อง พระนครศรีอยุธยา พระเกจิผู้เก่งกล้าทั้งเรื่องไสยศาสตร์และแพทยศาสตร์ ความตอนหนึ่งว่า“ พระอธิการประสิทธิ์ ธารีศรี ”อายุ ๙๒ ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดป้อมรามัญ ( ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว ) ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านนั้น“ พระอธิการประสิทธิ์ ”กล่าวว่า หากใครไม่เห็นกับตาก็ต้องว่าโกหกพกลม อย่างเช่น กรณีที่ท่านสั่งให้เด็กไปตักน้ำมากรอกใส่ขวดโหล๒ใบ ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน
จากนั้นท่านได้ใช้มีดโกนตัดใบจากเป็นรูปปลา แล้วทิ้งลงไปในขวดโหลนั้นที่ละใบ พลันก็กลายเป็นปลากัดสีฉูดฉาดว่ายเข้าหากัน ราวกับจะกัดอีกตัวให้ตายไปข้าง แต่ท่านได้สั่งกำชับว่า “ ขอให้ดูแต่ตาอย่าเอานิ้วไปแหย่มันเป็นอันขาด มีเด็กบางคนที่ค่อนข้างทะเล้นบอกกับท่านว่า ปลาดุๆ แบบนี้อยากขอเอาไปกัดที่บ่อน แต่ท่านกลับสั่งสอนว่าเป็นการทรมานสัตว์ และอาจนำไปสู่การพนันขันต่อ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องบาปกรรมและอบายมุขไม่ควรประพฤติ เพราะที่อุตส่าห์ทำให้ดูนี้ก็เพื่อแก้เหงาเท่านั้น ไม่ได้ต้องการยั่วยุให้ผิดศีลผิดธรรมอะไรเลย ”
เหรียญแจกที่ระลึกงานศพหลวงพ่อ (หน้า-หลัง)
หลวงพ่ออ่ำ เป็นพระเกจิอาจารย์ ยุคเดียวกับ หลวงปู่จีน วัดเจ้าเจ็ดใน หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ หลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ หลวงพ่อปั้น วัดพิกุลโสคันธ์ หลวงพ่อรอด วัดสามไถ หลวงพ่อชม วัดพุทไธสวรรค์ หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง เป็นต้น
ศิษย์เอกของหลวงพ่ออ่ำที่โด่งดังมากที่สุด คือ หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ พระเกจิสายสักยันต์ หนึ่งในตำนานแห่งกรุงเก่า เจ้าของลายสักยันต์ เอกลักษณ์หนึ่งเดียวของสยามประเทศ นั้นคือลายยันต์ "บุตร ลบ (ลูกพระราม)"หนังเหนียวชนิดแมลงวัน ไม่ได้กินเลือด เหนียวขนาดที่สมัยนักเลงโบราณยุคนั้น มีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน ต่อให้เลือดขึ้นหน้าขนาดไหน โมโหมาขนาดไหน ถ้ารู้ว่าอีกฝ่ายเป็นลูกศิษย์ของ หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ เป็นต้องยอมหมอบราบคาบแก้ว ให้ทุกรายไป ไม่อยากมีเรื่องมีราวต่อ เพราะว่ากันว่า ตียังไงก็ตีไม่แตก เคี้ยวไม่ลง ยิ่งตี ยิ่งสู้ เป็นที่โจษจันไปทั่วทั้งทุ่งอยุธยา ว่า"ใครที่สักยันต์จาก หลวงพ่อขัน จะถูกฟันถูกตีก็ไม่ต้องกลัว "
ตำนานยันต์บุตรลบ แห่งเมืองกรุงเก่า นั้น ศิษย์วัดสะพานสูง แอดมินเพจชื่อดัง เคยเล่าเอาไว้ว่า เป็นยันต์พระบุตรพระลบ บายยันต์รูปเด็กสองคน หมายถึงบุตรของพระราม กล่าวกันว่ามีอิทธิฤทธิ์มาก แม้แต่หนุมานยังต่อกรไม่ได้ เมื่อนำมาสักที่ตัวคน ย่อมดลบันดาลให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์มาก ยันต์บุตรลบนิยมสักที่ชายโครง หรือที่หัวไหล่ เพราะยันต์นี้เวลาปลุกต้องเอามือลูบด้วย
เหรียญพระแก้วมรกต ที่หลวงพ่อเคยมาร่วมปลุกเสก
ยันต์บุตรลบมีชื่อเสียงมาก ในสมัยหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ นอกจากหลวงพ่อขันแล้วยังมี หลวงพ่อซวง วัดชีปะขาว ก็สักยันต์บุตรลบเหมือนกัน ตามประวัติหลวงพ่อซวง ท่านเรียนวิชาสักยันต์นี้มาจากอ.คำ ช่างประดับ ซึ่ง อ.คำท่านไปเรียนสักยันต์บุตรลบจากหลวงพ่ออ่ำ วัดวงฆ้อง อาจารย์ของหลวงพ่อขัน หลวงพ่อขันคงจะเรียนจากหลวงพ่ออ่ำเช่นกัน
การสืบทอดยันต์บุตรลบ มีอยู่สองสาย คือสายกรุงเก่ากับสายสิงห์บุรี สำหรับสายกรุงเก่านั้น หลวงพ่อขัน ได้ถ่ายทอดให้หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ และหลวงพ่อพรหมได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่พระอาจารย์โม่งวัดเดียวกัน ส่วนสายสิงห์บุรี อ.คำ ช่างประดับ เป็นผู้ไปเรียนมา ได้ถ่ายทอดให้หลวงพ่อซวง วัดชีปะขาว เมื่อหลวงพ่อซวง มรณภาพ แล้วยังไม่สามารถสืบได้ว่า ท่านถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ใคร
จากบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กล่าวไว้ว่า พระองค์(กรมหลวงชมพรฯ)ได้สักยันต์ “นะ” วิเศษกับหลวงพ่อขันวัดนกกระจาบ กรุงเก่า ที่กัณฐมณี(ลูกกระเดือก) และมีคนในรั้วในวัง อย่าง พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร , พระยาอุภัยพิพากสา, พ.ต.อ.พระยาอนันต์ยุทธกาจ ฯลฯก็เช่นกัน
ขนาดลูกศิษย์อย่างหลวงพ่อขัน ยังขลังขนาดนี้
แล้วลองคิดดูว่า หลวงพ่ออ่ำ ศิษย์หลวงพ่อฟักจะขลังขนาดไหน!?!
ในสมัยนั้นเรื่องราวความขลังของหลวงพ่ออ่ำนั้นโด่งดังไปทั่วแผ่นดิน กิตติศัพท์ของหลวงพ่อวัดวงษ์ฆ้อง ได้ยินมาถึงนายทวี บุณยเกตุ (ในสมัยนั้นยังไม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี)แต่มีความเคารพศรัทธามาก จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์
วิชาที่เด่นมากของหลวงพ่ออ่ำอีกศาสตร์หนึ่งคือการเป็นหมอยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่ไปขอความเมตตาจากท่านเป็นจำนวนมาก เพราะท่านได้แผ่เมตตาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่เลือกว่ายากดีมีจน ร่ำรวยหรือยาจกเข็ญใจ ว่ากันว่าแม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ทั้งเป็ด ทั้งไก่ ทั้งหนู เต็มไปทั้งใต้ถุนกุฏิ รวมทั้งวัว ควาย ที่เขาจะฆ่า ถ้าท่านทราบเข้า ท่านก็จะขอบิณฑบาตชีวิตไว้ ถึงจะต้องเสียปัจจัยในการซื้อชีวิตนี้เท่าใดก็ตามท่านก็ยอม
ประกอบกับท่านเป็นแพทย์แผนโบราณ ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านไปเรียนที่อินเดีย ท่านไปอินเดียด้วยการเดินธุดงค์ เมื่อหลายปีมาแล้ว ไปอยู่อินเดียหลายปี เรียนวิปัสสนากรรมฐานที่อินเดียโน่นด้วย ท่านก็ใช้วิชาแพทย์โบราณที่เรียกว่าช่วยเหลือมนุษย์และสัตว์ที่เจ็บไข้ได้ ป่วย เพื่อการกุศลอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกระดูกหัก ท่านเก่งมาก ที่ใต้ถุนกุฏิของท่านจะมีกองเฝือกที่แกะออก ผ่าออก จากแขน ขา ลำตัว คนไข้กองโตพะเนินเทินทึก กิตติศัพท์ของท่านได้ทราบกันทั่วไปในสมัยนั้น
หลายครั้งหลายเหตุการณ์ที่หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง ท่านไม่ได้มาที่บ้านผู้ป่วยเลย แต่ท่านจะทำการตรวจสมมุติฐานโรคโดยวิธีนั่งเพ่งเทียนที่ปากบาตรในวัด ก่อนจะบอกความให้ไปหาซื้อยาหรือจ่ายยาสมุนไพรกลับไปให้ต้มกินแล้วทุกคนก็หายจากโรคร้ายได้อย่างน่าอัศจรรย์
นพ. อาจินต์ บุณยเกตุ น้องชายของนายทวี บุณยเกตุ เคยเขียนเล่าเอาไว้ว่า อย่างเช่นมีอยู่รายหนึ่งมาหาท่านจะขอให้ท่านช่วยรักษาให้ โดยที่ป่วยมานานแล้วไม่หาย หลวงพ่อท่านว่า "ไปทำสังฆทาน กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าบุญนายคุณ เจ้ากรรมนายเวรเสีย รีบๆ ไปทำเสียเร็วๆ"
พอคนนั้นกลับไปแล้ว ผมถามท่านว่า "ทำไมหลวงพ่อไม่ช่วยรักษาให้เขา"
ท่านตอบว่า "นาฬิกาหมดลานแล้ว เหมือนเรือถึงท่าแล้ว ก็ขึ้นจากเรือเดินต่อไปก็แล้วกัน จะแจวจะพายไปไหนกันอีก" ต่อมาภายหลังจึงทราบว่า ผู้นั้นหมดอายุแล้ว และถึงแก่กรรมต่อมาในเวลาไม่กี่วันหลังจากวันนั้น
….....
หลวงพ่ออ่ำ ท่านเคยเป็นแม่กอง ไปซ่อมแซมบูรณะพระปฐมเจดีย์ ในสมัยรัชกาลที่๔ ซึ่งตอนนั้นชำรุดทรุดโทรม แต่จะชำรุดแค่ไหน ซ่อมแซมมากน้อยเท่าไร ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าท่านทำการบูรณะจนเสร็จการ หลวงพ่อได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระพุทธวิหารโสภณ"
หลวงพ่อท่านมีความสนิทสนมกับในหลวงรัชกาลที่ ๕ มาก ได้รับพระราชทานเรือกันยาสองแจว สำหรับที่เข้าไปเฝ้าในวัง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้ถวายอักษรแด่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ท่านจึงมีความสนิทสนมกับในหลวงรัชกาลที่ ๖ มาก ด้วยบารมีและวัตรปฏิบัติของท่าน จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายอะไรที่นายทวี บุณยเกตุนายกรัฐมนตรีคนที่ ๕ (๓๑สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ -๑๗กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘) จะไปฝากตัวเป็นศิษย์ แม้ว่าเขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงแค่ ๑๗ วัน ซึ่งตั้งและปลดโดย คณะราษฏร์ก็ขึ้นชื่อว่า เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ล่ะน่า!?!
สำหรับวัตถุมงคลเหรียญรุ่นแรกที่สร้าง ไม่ได้สร้างเป็นรูปเหมือนของท่าน หากแต่สร้างเป็นเหรียญฝาบาตรพระพุทธชินราช ในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ขอบเหรียญเหมือนกับขอบสตางค์ เหตุเพราะโรงกษาปณ์ในสมัยนั้นเป็นผู้ผลิต คณะลูกศิษย์ซี่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ได้ดำเนินการจัดสร้างเหรียญดังกล่าวขึ้นเป็นเนื้อฝาบาตรห่วงเชื่อมขอบสตางค์
นับว่าเป็นเหรียญพระพุทธเหรียญเก่าเหรียญหนึ่งที่น่าเก็บสะสมมากเหรียญหนึ่งเพราะใน สมัยนั้นมีพระเกจิอาจารย์ที่เป็นสหธรรมิกของท่าน ได้ร่วมปลุกเสกโดยเล่ากันว่าท่านนิมนต์ทางจิต ได้แก่ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงพ่อยิ้ม วัดหนองบัว หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล ,หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ,หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก, หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง และอีกหลายคณาจารย์ที่มาร่วมพิธีปลุกเสก เหรียญรุ่นนี้ สร้างจำนวนน้อย มีพุทธคุณเหรียญนี้เด่นด้านแคล้วคลาดปลอดภัย คงกะพันชาตรี เสน่ห์เมตามหานิยม โชคลาภวาสนา กลับร้ายกลายเป็นดี ส่วนเหรียญรูปเหมือนของท่านรุ่นแรกสร้างแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ
หลวงพ่ออ่ำ ท่านมรณภาพถึงแก่มรณภาพไปเมื่ออายุของท่านประมาณ ๙๐ ปีโดยสภาพที่นั่งหลับทำสมาธิในกุฏิ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๘ ขณะนั้นยังอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก่อนที่จะถึงมรณภาพ ท่านได้บอกลูกศิษย์ที่รับใช้ท่านอยู่ว่า "พรุ่งนี้ไม่ฉันเช้า ไม่ฉันเพล ไม่ต้องปลุก เพลแล้วจึงค่อยเข้าไปหาในกุฏิ ก่อนจะไปหาในห้อง ให้หาอาหารนก ให้ไก่ ให้แมว ให้สุนัข และสัตว์ที่ซื้อชีวิตเขามาเลื้ยงไว้ในถุนกุฏิ ให้อิ่มเสียก่อนด้วย"
วันรุ่งขึ้น ลูกศิษย์ก็ปฏิบัติตามที่ท่านสั่งอย่างเรียบร้อย เหมือนกับที่ปฏิบัติมาทุกวัน แต่ก็นึกแปลกใจว่า "วันนี้ทำไมหลวงพ่อไม่ตื่นออกมาฉันเช้าและฉันเพล" ทั้งๆ ที่อยากรู้ แต่ก็ไม่กล้าถามท่าน พอได้เวลาเลยไปแล้ว ลูกศิษย์ก็เปิดประตูกุฏิเข้าไปหาท่านตามสั่ง จึงพบว่า ท่านได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว ในลักษณะนั่งสมาธิบนเบาะพิงหมอนขวาน มือทั้งสองของท่านวางที่หน้าตัก ศีรษะเอียงไปข้างหนึ่ง จากนั้น ข่าวก็กระจายไปทั่วอยุธยาและทั่วประเทศ ลูกศิษย์ลูกหาผู้เคารพนับถือศรัทธาต่างก็หลั่งไหลไปที่วัดเพื่อกราบ นมัสการด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
สำหรับเหรียญยอดนิยมทั้งสองรุ่นของท่าน
โปรดอย่าถามว่า มีของเก๊ของปลอมหริอไม่
เซียนโดนปาดคอมานักต่อนักแล้ว-ขอบอก!!
.
.