โรคกระเพาะอาหาร...ปวดแน่นท้อง
คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าอาการปวดท้อง หรือไม่สบายในท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ โดยเฉพาะที่มีอาการเป็นเรื้อรังมานาน ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร
ซึ่งมักคิดว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร แท้จริงแล้วอาการปวดท้องอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ภายในช่องท้องอีกมากมาย เช่น โรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผล โรคระบบทางเดินน้ำดี โรคตับอ่อน เป็นต้น
โรคกระเพาะอาหาร เป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อยที่สำคัญ ได้แก่ โรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผล หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร จะพบว่าผู้ป่วยอาจมาด้วยเรื่องอาการปวดท้องเรื้อรังเป็นๆ หายๆ หรือรู้สึกไม่สบายในท้องบริเวณลิ้นปี่ บางคนอาจมีอาการอืดแน่นท้อง แสบลิ้นปี่ มีเรอแน่น คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
โรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผล หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
คนไข้ในกลุ่มนี้อาจจะมีอาการปวดจุกแน่นท้อง ไม่สบายท้อง อืดแน่นท้อง เรอย่อยลำบาก แสบยอดอก คลื่นไส้ โดยอาการอาจจะสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับมื้ออาหารก็ได้ โดยมีอาการเรื้อรังเป็นมานาน อาการเป็นๆ หายๆ บางรายอาจจะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นเอง หรือดีขึ้นหลังได้ยาลดกรด บางรายจะมีอาการคล้ายผู้ป่วยที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจมีอาการได้ ดังต่อไปนี้
- ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือหน้าท้องช่วงบน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อาจเป็นเวลาท้องว่าง หรือเวลาหิว อาจมีอาการเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน
- อาการปวดแน่นท้อง อาจจะบรรเทาได้ด้วยอาหาร หรือยาลดกรด
- อาการปวดมักจะเป็นๆ หายๆ โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น อาจปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปหลายเดือนจึงกลับมาปวดอีก
- ส่วนใหญ่มักจะไม่ปวดแน่นท้องกลางดึก หลังจากที่หลับไปแล้ว
- อาจจะมีอาการสัมพันธ์กับความเครียด
- แม้จะมีอาการเรื้อรังเป็นปี สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม
- โรคนี้จะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆ หายๆ อยู่นานกี่ปีก็ตาม
โดยทั่วๆ ไป ผู้ป่วยจะมีสุขภาพดี ไม่ควรมีอาการของการเสียเลือด เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ น้ำหนักลด ปวดท้องรุนแรง หรือมีไข้
สาเหตุของโรค
อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเรื้อรัง คือ
1.การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
2.ความไวของกระเพาะอาหารและลำไส้เปลี่ยนแปลงไป
3.มีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก อาทิ อาหาร ยา เป็นต้น
4.เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เฮลิโคแบกเตอร์ ไพลอรี่
5.สภาวะจิตใจ เช่น ความเครียด
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
เป็นการอักเสบของเยื่อบุด้านในกระเพาะอาหารทั้งหมด หรือบางบริเวณเท่านั้น แบ่งเป็น
1.โรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเฉียบพลัน หมายถึง โรคที่เป็นในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ก็หาย อาการสำคัญคือ จะปวดท้องหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเป็นเวลากินอาหาร หรือหลังอาหารเล็กน้อย คลื่นไส้อาเจียน ในรายที่รุนแรงจะมีอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระสีดำ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนอันตราย สาเหตุที่พบบ่อย คือ จากอาหารเป็นพิษ พิษสุรา และจากยาที่มีฤทธิ์ระคายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบ
2.โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หมายถึง โรคที่เป็นนานเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการของโรคเป็นแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ การใช้ยาจะช่วยอาการให้ดีขึ้นในผู้ป่วยบางราย บางรายแม้ไม่ได้ใช้ยาอาการก็ดีขึ้นเอง แต่ไม่พบการเกิดโรคร้ายหรือโรคอื่นๆ แตกต่างไปจากคนปกติทั่วไป
หลักการปฏิบัติตัว
โรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผล หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มักไม่หายขาดตลอดชีวิต ผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาบางช่วง หรือใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ร่วมกับการแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น
- กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
- กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ
- กินอาหารน้อยๆ แต่กินบ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด สุรา
- งดสูบบุหรี่
- งดการใช้ยาแก้ปวด แอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบทุกชนิด
- ผ่อนคลายความเครียด กังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
- กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหาร
- ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อนต้องรีบไปพบแพทย์
นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลธนบุรี โทร.02-412-0020