ไลฟ์สไตล์

70%อยากให้ปรับบท"ดอกส้มสีทอง"

70%อยากให้ปรับบท"ดอกส้มสีทอง"

01 พ.ค. 2554

วธ.เผยผลร้องเรียนผ่านสายด่วน 1765 ล่าสุดประชาชนร้อยละ 70 ยังอยากให้ปรับเนื้อหา “ดอกส้มสีทอง”

 (1พ.ค.)  จากกรณีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน1765 ของกระทรวงวัฒนธรรมให้ช่วยดูแลละครดอกส้มสีทองว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมนั้น ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลการร้องเรียนล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 70 มีความเห็นว่า ควรที่จะให้ทางสถานีดำเนินการปรับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น ลดเลิฟซีนลง เป็นต้น และให้วธ.ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความว่า รู้สึกเฉยๆกับเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยหนังสือ และประสานกันดัวยวาจา อย่างต่อเนื่องแล้ว

 น.ส.ลัดดา กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องของสัมปทานนั้น ตนขอชี้แจงเรื่องสัมปทานว่า ช่อง 3 ได้รับสัมปทานจากช่อง 9 ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล โดยกฎกติกา จะต้องไม่นำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี หากทางช่องที่ได้รับสัมปทานไปแล้ว ดำเนินการไม่เหมาะสมขัดต่อกติกา ก็ควรที่จะต้องมีการทบทวบสัมปทาน ส่วนละครเรื่องดอกส้มสีทองประชาชนได้ร้องเรียนเข้ามายังวธ. ทางรมว.วัฒนธรรม ได้มอบหมายให้ทำหนังสือถึงนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสื่อ ให้ช่วยหารือกับช่อง 9 ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานว่า จะประสานอะไรกับช่อง 3 ได้หรือไม่ หากไม่มีการดำเนินการตามที่ประชาชนร้องขอ จะมีมาตรการการทบทวนเรื่องสัมปทานได้หรือไม่อย่างไร เพราะเนื้อหาละครกระทบต่อศีลธรรมอันดี และขัดต่อกติกาสังคม

 “ขอยกตัวอย่างระบบโทลเวย์ที่รัฐบาลให้สัมปทานภาคเอกชน หากเอกชนดำเนินการไม่ดีขัดต่อกติกาที่รัฐบาลได้วางไว้ ก็จะต้องมีการทบทวนให้ภาคเอกชนรายอื่นเข้าไปดูแล หรือหากมีการแก้ไขให้ดีขึ้น ก็จะไม่มีการยกเลิกสัมปทาน ซึ่งเรื่องนี้ ก็เหมือนกับสัมปทานของสถานีโทรทัศน์ หากไม่ดำเนินการแก้ไขตามที่หน่วยงานภาครัฐและประชาชนร้องขอ ก็ควรที่จะมีการทบทวนในเรื่องสัมปทาน อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอเน้นย้ำว่า วธ.ไม่มีอำนาจจะยกเลิกสัมปทานสถานีโทรทัศน์ได้ แต่จะทำหน้าที่ประสานและให้นำข้อเสนอแนะของประชาชนเสนอต่อรัฐบาลเท่านั้น”ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังฯกล่าว

 น.ส.ลัดดา กล่าวอีกว่า ยังมีหลายส่วนออกมาโต้แย้งว่า ละครเรื่องนี้ไม่ทำให้เด็กเลียนแบบ ซึ่งไม่น่าจะใช่ แม้แต่ตัวของนักแสดงยังมาบอกว่า มีผู้ชมหลายคนชอบแทนตัวเองว่าชื่อ เรยา แล้วแบบนี้ ตนอยากจะถามว่า เป็นการเลียนแบบหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า วธ.จะมาทำหน้าที่ทำความสะอาดสังคม ดังนั้น ตนอยากจะบอกว่า วธ.เป็นเหมือนหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หากมีประชาชนร้องเรียนสิ่งที่ไม่ถูกต้องเข้ามาแล้วปล่อยไว้ ก็จะถือว่าเพิกเฉย ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน ซึ่งกติกาของสื่อโทรทัศน์ก็ได้มีการตกลงกันไว้ว่า จะสร้างสรรค์งานออกมาให้เหมาะสม ไม่รุนแรง ก็จะไม่เกิดปัญหาหรือกระแสสังคมเช่นนี้