"ไรน้ำนางฟ้า" อาหารเสริมปลา เลี้ยงง่าย-กำไรงาม-น่าลงทุน
หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบคุณสมบัติพิเศษของ "ไรน้ำนางฟ้า" มีโปรตีนสูงสามารถทำเป็นอาหารเสริมให้ปลาสวยงาม ทดแทนการนำเข้าไรน้ำเค็ม (อาร์ทีเมีย) และปลาป่น แหล่งโปรตีนนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมาก
จึงทำให้ไรน้ำนางฟ้ากลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่น่าจับตามอง เนื่องจากสามารถไปเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ และมีกำไรอย่างงดงามอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ผศ.โฆษิต ศรีภูธร แห่งภาควิชาประมง คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ให้ความสนใจการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าเป็นอย่างมาก
ผศ.โฆษิต เล่าว่า แพลงก์ตอนสัตว์น้ำจืดสายพันธุ์ใหม่ "ไรน้ำนางฟ้า" เดิมทีเรียกว่า "แมงหางแดง" หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า แมงแงว แมงน้ำฝน คนอีสานนำมาเป็นอาหารรับประทานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ต่อมา ศ.ดร.ละออศรี เสนาะเมือง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ค้นพบคุณสมบัติพิเศษมีโปรตีนสูงเหมาะแก่การที่จะนำไปเป็นอาหารเสริมให้ปลาสวยงาม ปลาเศรษฐกิจได้ และได้รับพระทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า "ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร" เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2541 แต่คนเรียกติดปากว่า ไรน้ำนางฟ้า
กระทั่ง ศ.ดร.ละออศรี ได้เปิดฝึกอบรมผู้สนใจที่จะเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า ผศ.โฆษิต จึงได้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย เป็นรุ่นที่ 2 ราวปี 2546 เพราะเขาเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ และน่าจะมีศักยภาพที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ พออบรมเสร็จจึงกลับไปเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าในโฆษิตฟาร์ม ที่บ้านพัก ต.แร่ อ.พังโคน จ.สกลนคร จนถึงวันนี้
"ผมเลี้ยงปลาสวยงาม ปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาหมอสี ปลานิลแปลงเพศ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาหาร อาหารเสริม เพราะปลาเหล่านี้ต้องใช้บำรุงด้วยวิตามิน และสารเร่งสีสังเคราะห์ ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ตกกิโลกรัมละ 10,000-100,000 บาท แต่หลังจากที่ได้มีการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าและให้ปลาที่เลี้ยงกิน ช่วยลดต้นทุนได้ 40-50% หรือลดได้เกือบ 100% หากมีปริมาณไรเพียงพอ" ผศ.โฆษิต กล่าวอย่างมั่นใจ
สำหรับการเพาะเลี้ยงฯ สามารถเลี้ยงได้หลายรูปแบบ เช่น เลี้ยงในกะละมังพลาสติกความจุ 10-20 ลิตร ยางรถยนต์ความจุ 20-100 ลิตร บ่อคอนกรีตกลมความจุ 150-200 ลิตร บ่อคอนกรีตเหลี่ยมขนาด 2x4 ตารางเมตร และในบ่อดินขนาด 1 ไร่ โดยใช้ไข่ไรน้ำนางฟ้า 1 ล้านฟอง ราคา 3,000-5,000 บาท และปุ๋ยมูลไก่-ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ลงทุนไม่เกิน 1 หมื่นบาท/ไร่ เลี้ยงง่ายโตเร็ว ใช้เวลา 20 วันก็ขายได้ ส่วนราคาซื้อสดกิโลกรัมละ 300-500 บาท ใน 1 ไร่ จะให้ผลผลิต 50-100 กิโลกรัม หรือไร่ละ 1.5-3 หมื่นบาท
"ที่โฆษิตฟาร์มของผม ตอนนี้เลี้ยงไว้ 6 บ่อ ใช้พื้นที่ราว 3 ไร่ และกำลังคิดจะขยายการเพาะเลี้ยงอีก เนื่องจากขณะนี้ไรน้ำนางฟ้าเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เพราะมีราคาถูกกว่าไรน้ำเค็ม อีกทั้งทำให้ปลามีสีสันสวยงาม"
เจ้าของโฆษิตฟาร์ม กล่าวอีกว่า ในฟาร์มนอกจากเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าขายแล้ว ยังเลี้ยงไรน้ำชนิดนี้สำหรับเป็นอาหารให้แก่ปลาเศรษฐกิจด้วย ซึ่งปัจจุบันตนได้เพาะพันธุ์ปลาเศรษฐกิจไว้จำหน่าย จำนวน 40 บ่อ ซึ่งภายหลังที่ใช้ไรน้ำเลี้ยงปลาเหล่านี้ สามารถช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้มาก แถมเพาะพันธุ์ปลาได้มากขึ้น เปอร์เซ็นต์การรอดก็สูง โดยพันธุ์ปลาที่เพาะจำหน่าย สนนราคาตัวละ 2-3 บาท ซึ่งแต่ละเดือน ผศ.โฆษิต บอกว่าจะมีรายได้จากการจำหน่ายพันธุ์ปลาเดือนละ 2-3 แสนบาท
ปัจจุบัน ผศ.โฆษิต นอกจากงานวิชาการที่ทำอยู่แล้ว ยังเดินสายเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้สนใจเพาะเลี้ยงไรน้ำชนิดนี้ด้วย ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา หลายคนตกงานและว่างงาน อาจารย์ฝากบอกว่า ใครสนใจจะเข้ารับการฝึกอบรมฯ ก็สามารถติดต่อไปได้ที่ศูนย์สาธิตไรน้ำนางฟ้า ม.ขอนแก่น โทร. 0-4320-2879 หรือติดต่อได้โดยตรงที่ 08-1878-8565
"มยุรี อัครบาล"