'วิโรจน์ จิวะรังสรรค์'สะสม'พระกรุ'
'วิโรจน์ จิวะรังสรรค์'สะสม 'พระกรุ' เพื่อมอบเป็นมรดกแผ่นดิน : สรณะคนดัง เรื่อง / ภาพ โดยสุพิชฌาย์ รัตนะ / ศูนย์ข่าวภาคใต้
“พระเครื่อง” นอกจากเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้ว ความวิจิตรงดงามหรือ “พุทธศิลป์” ในองค์พระคืออีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนอารยะความรุ่งเรืองของแผ่นดินในแต่ละยุคสมัย ดังนั้น จึงนับได้ว่า เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญทางโบราณคดี ที่อนุชนรุ่นหลังได้ใช้ศึกษาเรื่องราวเมื่อครั้งกาลก่อน อีกด้วย
เฉกเช่นเดียวกับ “วิโรจน์ จิวะรังสรรค์” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนอกจากจะชื่นชอบและศึกษาสะสมพระเครื่องในฐานะพุทธสาวกแล้ว ยังหลงใหลในการเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของศิลปะในแต่ละยุคแต่ละสมัยผ่าน “พระเครื่อง” ชนิดที่นักวิชาการทางด้านศิลปะและโบราณคดีหลายคนยอมซูฮกจนต้องยกนิ้วให้ในความเชี่ยวชาญ
ผู้ว่าฯ วิโรจน์ บอกว่า พระเครื่องกับเด็กชายเป็นของคู่กัน โดยพระองค์แรกที่คล้องคอ คือ “เหรียญหลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต” วัดประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเกิดประสบการณ์กับตัวโดยตรง เมื่อลงเล่นน้ำกับเพื่อนวัยคะนอง แล้วเกิดอาการตะคริว จนไม่สามารถว่ายน้ำไปให้ถึงฝั่งได้ จึงขอให้พระที่ติดตัวช่วยด้วย สิ่งอัศจรรย์บังเกิด เพราะเหมือนมีแรงหนุนร่างของท่านให้ลอยเอื่อยๆ เข้าสู่ตลิ่ง และเพื่อนฝูงช่วยกันพยุงขึ้นฝั่งรอดตายได้ราวปาฏิหาริย์ ชนิดที่ทุกคนต่างอยู่ในอาการงุนงงเหมือนกันหมด
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ “ผู้ว่าฯ วิโรจน์” เริ่มสนใจในเรื่องราวของพระเครื่องมากขึ้น กอปรกับการได้ติดตามผู้ปกครองเข้าวัดอยู่เป็นประจำ จึงเริ่มสวดมนต์และปฏิบัติธรรม โดยเมื่ออ่านหนังสือออกก็เริ่มท่อง “คาถาหลวงพ่อทวด” จากนั้นก็เป็นคาถาชินบัญชร คาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย รวมถึงคำพระต่างๆ แต่ที่สนใจมาก คือ เรื่องราวของ “ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต” และมีคนมอบ “พระเนื้อผง” รุ่นสรงน้ำ ทำบุญฉลองอายุของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) วัดเทพศิรินทราวาส ให้ ซึ่งเกิดประสบการณ์ตรงกับตัวอีกครั้ง นั่นคือ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์บนท้องถนน แต่รอดตายอย่างปาฏิหาริย์ชนิดหาคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้
ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๑๖ ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงที่สนามพระย้ายจากวัดมหาธาตุมายังท่าพระจันทร์ จึงได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องพระเครื่องอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ “ลุงเครื่อง” เซียนรุ่นเก่า และเซียนใหญ่ยุคนั้นอีกมากมาย คอยให้คำแนะนำ โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นเดินเข้าสนามพระด้วยกันบ่อยๆ คือ “ชลิต มานิตยกุล” ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ที่สำคัญจากการได้ร่ำเรียนวิชา “ศิลปวัฒนธรรมไทย” กับ “อาจารย์หม่อม” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำให้ตัวเองให้มีพื้นฐานและความเข้าใจศิลปะอย่างแตกฉาน จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้หันมาสนใจพระเก่า โดยเฉพาะพระกรุ โดยไม่รู้ตัว ด้วยเพราะชื่นชมนิยมในพุทธศิลป์ ที่แฝงด้วยหลักธรรมที่เชื่อมอดีตมาสู่ปัจจุบันนั่นเอง
ผู้ว่าฯ วิโรจน์ ยังบอกด้วยว่า พระพิมพ์มีเรื่องราวที่น่าศึกษาค้นหา ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เราไม่ลืมรากเหง้าของเรา เพราะไม่ว่าจะเป็นศิลปะสมัยใดย่อมบ่งสะท้อนเรื่องราวความรุ่งเรืองในแต่ละยุคสมัยของบ้านเราได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นศิลปะขอม ลพบุรี สุโขทัย ศรีวิชัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่กับพุทธศาสนาในทุกภาคของแผ่นดินไทย
พระทุกองค์ แสวงหามาด้วยพื้นฐานความรู้ที่ศึกษาจากครูบาอาจารย์ ผนวกกับความชื่นชอบ ที่ได้ร่ำเรียนจากผู้เชี่ยวชาญ ด้วยหวังว่า จะเก็บและสะสมพระเครื่องที่เป็นมรดกธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้อยู่คู่กับแผ่นดิน ส่วนตัวชื่นชอบศิลปะเก่าแก่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเมืองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางแห่งความศรัทธาประดิษฐานอยู่ จึงมีพระกรุที่เด่นดังเข้มขลังมากมายหลายกรุ อีกทั้งมีความงดงามทางศิลปะ รวมถึงอิทธิปาฏิหาริย์ที่สาธยายไม่รู้จบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มาทำหน้าที่พ่อเมืองนครศรีธรรมราช ยิ่งทำให้มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้พระพิมพ์ และพระกรุเก่าแก่ ซึ่งเป็นของดีคู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้ได้อย่างลึกซึ้ง วันนี้จึงไม่แปลกที่จะนิมนต์ พระยอดขุนพล กรุที่วัง อ.ทุ่งสง, พระยอดขุนพล กรุเขาเหมน อ.ช้างกลาง, พระยอดขุนพล กรุนาสน อ.เมือง, พระเนื้อตะกั่วสนิมแดง และพระเนื้อดิน จากกรุวัดนางตรา อ.ท่าศาลา ๑ พระพุทธชินราช กรุท่าเรือ และเหรียญพระบรมธาตุเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช พ.ศ.๒๔๖๐ เอาไว้สักการบูชาด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ทั้งในด้านพุทธศิลป์และพุทธคุณ
“พระของผมทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ให้แผ่นดิน เพราะตั้งใจว่าจะมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ เช่น พระพุทธรูปทวารวดี กรุฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้เตรียมมอบให้เป็นมรดกของชาติ เฉกเช่นเดียวกับ พระพรุแห่งเมืองคอน ในอนาคตผมต้องส่งต่อให้อนุชนรุ่นต่อไปช่วยรักษา หรือมอบให้แก่คนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน นั่นคือ สืบสานพุทธศิลป์แห่งแผ่นดินไทย ให้คงอยู่สืบไป” ผู้ว่าเมืองคอน กล่าวปิดท้าย
“นครศรีดี๊ดี”
นครศรีธรรมราช เป็นนครแห่งประวัติศาสตร์ ที่มีความรุ่งโรจน์แห่งธรรม แต่ที่เมืองนี้ยังมีของดีอีกมากมายที่หลายคนยังไม่เคยสัมผัส และวันนี้พร้อมแล้วสำหรับการต้อนรับผู้มาเยือน ดังนั้นเพื่อเปิดมิติการท่องเที่ยว “วิโรจน์ จิวะรังสรรค์” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเปิดแคมเปญโครงการ “นครศรีดี๊ดี ที่เดียวเที่ยวครบเครื่อง เมืองเดียวเที่ยวทั้งปี” ขานรับนโยบายเที่ยวไทยหัวใจใหม่ ชูการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมกับโปรโมท ๓ จุดเด่น คือ เป็นนครประวัติศาสตร์ จังหวัดท่องเที่ยวอันซีน และสินค้าคุณภาพ พร้อมเปิดเมืองรับการลงทุน ทั้งภาคท่องเที่ยว และเกษตรอุตสาหกรรม
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ที่นี่ มีความหลากหลายในตัวเองแทบทุกด้าน มีทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่ขุนเขาสูงอย่าง "เขาหลวง" ที่ได้ชื่อว่าเป็นหลังคาแห่งภาคใต้ มีอากาศบริสุทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนถึงแนวหาดทรายยาวเหยียดชายทะเล ที่ยังคงความสมบูรณ์ เป็นดินแดนแห่งผลไม้อร่อย ทั้ง "ส้มโอทับทิมสยาม" ที่ได้ชื่อว่าเป็นที่สุดของส้มโอเมืองไทย รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งการเล่นหนังตะลุง รำมโนราห์ เครื่องถมนคร เครื่องเงิน ผ้ายกนคร งานจักรสานย่านลิเภา อีกทั้งความศรัทธาในพุทธศาสนาที่หยั่งรากลึก จากหลักฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่ตั้งสูงตระหง่าน มานานนับพันปี ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนอชื่อต่อศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO)
โครงการ "นครศรีดี๊ดี ที่เดียวเที่ยวครบเครื่อง เมืองเดียวเที่ยวทั้งปี" จึงเป็นโครงการที่ต้องการเผยแพร่ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย รู้จักเมืองนครศรีฯ ในมุมมองอื่นนอกเหนือไปจากเมืองประวัติศาสตร์แห่งพุทธศาสนาที่ยาวนานกว่า ๑,๘๐๐ ปี ผู้ว่าฯ วิโรจน์ จึงอยากขอเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสเสน่ห์นครศรีธรรมราช และเปิดมุมมองใหม่ ให้รู้จักว่านครศรีฯ แห่งนี้ดี๊ดีอย่างไร แล้วจะได้รู้ว่า นอกจากได้ไหว้พระธาตุเมืองคอนแล้ว ที่นี่ยังมีอะไรอีกมากที่คุณคาดไม่ถึง