![เป็ดคับแค เป็ดคับแค](https://media.komchadluek.net/media/img/size1/2014/01/24/5dee9i8g7bbic98987f6b.jpg?x-image-process=style/lg-webp)
เป็ดคับแค
26 ม.ค. 2557
เป็ดคับแค : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
สิ้นเดือนมกราคม ที่จะถึงนี้ถือเป็นวันสุดท้ายของการสำรวจประชากรนกน้ำกลางฤดูหนาว AWC (Asian Waterbird Census) ผู้เขียนได้รับคำถามเข้ามามากมายถึงขอบเขตของคำว่า “นกน้ำ” ว่าครอบคลุมนกกลุ่มไหนบ้าง โดยทั่วไปแล้ว “นกน้ำ” หมายถึงนกทุกวงศ์ที่สมาชิกส่วนใหญ่ว่ายน้ำ (swimming) หรือเดินท่องน้ำ (wading) ซึ่งก็ทำให้นกที่ชอบหากินตามพื้นป่าอย่างนกยางลายเสือ (Malaysian Night Heron) และนกปากซ่อมดง (Eurasian Woodcock) ถูกจัดเป็นนกน้ำไปด้วยโดยปริยาย เพราะวงศาคณาญาติของมันล้วนเข้าข่าย“นกน้ำ” แต่ในขณะเดียวกัน นกที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำอย่าง เหยี่ยวปลา นกทึดทือ นกกะเต็น นกกางเขนน้ำ ฯลฯ ก็ถูกจัดเป็น“นกบก” (landbirds) และไม่ได้ถูกนับรวมในการสำรวจประชากร AWC ด้วย
พูดง่ายๆ ว่า AWC ไม่ได้นับครอบคลุมนกทุกหมวดหมู่ที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ แต่เน้นไปที่ swimming & wading birds ซึ่งก็ดูจะเหมาะสมในแง่ที่ว่า นกเหล่านี้ส่วนใหญ่มีการอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล การเก็บข้อมูลพร้อมกันทั่วทั้งทวีปเอเชียจึงจะทำให้เห็นภาพรวมของประชากรและแหล่งอาศัยช่วงฤดูหนาวของแต่ละชนิดได้ดี จริงๆ แล้วนกน้ำหลายชนิดที่พบในไทยเป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ โดยในช่วงฤดูหนาวจะมีประชากรจากประเทศทางเหนืออพยพลงมาเสริมทัพ หนึ่งในนกเหล่านั้นได้แก่ เป็ดคับแค
เป็ดคับแคเป็นนกเป็ดน้ำขนาดเล็กที่มีปากสั้น แลดูคล้ายห่าน (geese) เป็นที่มาของชื่อ Cotton Pygmy Goose ซึ่งหมายถึงห่านตัวจิ๋วที่มีสีขาวเหมือนปุยนุ่น จากการศึกษาดีเอ็นเอก็พบว่ามันมีเชื้อสายใกล้ชิดกับห่านและหงส์จริงๆ เพศผู้มีลำตัวสีเทาอ่อน ใบหน้าและคอสีขาวโพลนเป็นเอกลักษณ์ มีแถบคาดรอบคอ ปีกสีเขียวเหลือบ คาดด้วยแถบกว้างสีขาว เพศเมียโดยรวมมีสีตุ่นและอมน้ำตาลมากกว่า มีแถบสีดำคาดตาชัดเจน แต่เพศผู้หลังช่วงจับคู่ผสมพันธุ์ (eclipse plumage) มีลักษณะคล้ายเพศเมีย โดยมีจุดที่ยังคงต่างกันชัดเจนคือสีที่ปีก
ในอดีตเป็ดคับแคนั้น พบได้ทั่วไปตามบึงน้ำจืดทั่วประเทศ แม้ปัจจุบันยังคงพบเป็นฝูงใหญ่ตามบึงน้ำหรือทะเลสาบที่มีพืชน้ำหนาแน่น ประชากรของมันก็ถือว่าลดลงมากจากในอดีต โดยมีสาเหตุหลักมาจากการถูกล่า การตัดไม้ก็ส่งผลกระทบโดยตรงเช่นกัน เพราะมันทำรังในโพรงต้นไม้ใหญ่ แต่ก็มีรายงานว่ามันทำรังในบ้านร้างหรือสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีการรบกวนได้ด้วย ใครอยู่แถบชานเมือง ลองสอดส่องตามบึงน้ำเล็กๆ แถวบ้านดูครับ อาจมีเป็ดตัวเล็กหน้าตาน่ารักชนิดนี้มาอาศัยอยู่ก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้มีเป็ดคับแคอพยพลงมาจากจีนด้วย
เป็ดคับแค
ชื่ออังกฤษ Cotton Pygmy Goose, White Pygmy Goose, Cotton Tea
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nettapus coromandelianus (Gmelin, 1789)
วงศ์ (Family) Anatidae (วงศ์นกเป็ดน้ำ)
อันดับ (Order) Anseriformes (อันดับนกเป็ดน้ำ)
..........................
(เป็ดคับแค : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)