ขยายพันธุ์ 'ปลาเวียน' สู่สัตว์เศรษฐกิจ
28 ต.ค. 2557
ทำมาหากิน : ขยายพันธุ์ 'ปลาเวียน' สู่สัตว์เศรษฐกิจ อีกหนึ่งความสำเร็จของกรมประมง
จากเดิมที ปลาเวียน ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดของไทย กลายเป็นปลาที่สวยงาม หายากและใกล้สูญพันธุ์ ทำให้ราคาแพง แต่ล่าสุดผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี กรมประมง สามารถขยายพันธุ์ได้สำเร็จ และกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจต่อไป
สำหรับปลาเวียนนั้น นายนพดล ภูวพานิช ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด บอกว่า ปกติชอบอาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำบนเทือกเขา บริเวณน้ำตก ลำห้วย และแหล่งน้ำที่ใสสะอาดทั่วประเทศ อาทิ ในแม่น้ำเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แม่น้ำไทรโยคน้อย จ.กาญจนบุรี แม่น้ำปาย จ.แม่ฮ่องสอน อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อถึงฤดูฝนถึงจะอพยพย้ายถิ่นลงมาทางปากน้ำ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า จำนวนปลาเวียนในธรรมชาติลดน้อยลงจนใกล้สูญพันธุ์แล้ว ทางกรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์จนประสบผลสำเร็จ ต่อไปจะพัฒนาให้เป็นการเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจต่อไป
ด้าน น.ส.สุภาพร มหันต์กิจ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี เล่าว่า หลังจากรวบรวมพันธุ์ปลาเวียนจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จะนำพ่อแม่พันธุ์ปลามาเลี้ยงในบ่อน้ำหมุนเวียนระบบปิด โดยมีการจัดระบบน้ำภายในให้มีการไหลเวียนตลอดเวลา เพื่อให้คล้ายการไหลของน้ำตามลำธารต้นน้ำ วิธีในการเพาะขยายพันธุ์ที่ทางศูนย์ดำเนินการจะมี 2 วิธี คือ การเพาะพันธุ์แบบกึ่งธรรมชาติ และการเพาะพันธุ์โดยวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม
การเพาะพันธุ์แบบกึ่งธรรมชาติ ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้คล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติมากที่สุด รวมถึงการให้วิตามินเสริมในอาหารสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ และตรวจสอบความสมบูรณ์เพศของพ่อแม่พันธุ์ปลาในระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ จากการทดลองพบว่า พ่อแม่พันธุ์ปลาเวียนสามารถเพาะพันธุ์และวางไข่ได้ โดยการสังเกตพบว่าแม่พันธุ์ปลาเวียนที่สมบูรณ์เพศพร้อมสำหรับการเพาะพันธุ์จะสลัดไข่ออกมา
ดังนั้นเมื่อพบว่าแม่ปลามีพฤติกรรมดังกล่าวจะนำมารีดไข่ โดยการรีดเบาๆ หากไข่ไหลให้ทำการรีดต่อ แต่หากรีดแล้วมีเลือดไหลให้หยุดรีดทันที นำไข่ที่รีดได้ผสมกับน้ำเชื้อของปลาเพศผู้ แล้วโรยบนแผงฟักไข่ที่ใช้มุ้งฟ้าขนาดช่องตา 16 วางภายในบ่อที่มีระดับน้ำประมาณ 25 เซนติเมตร เปิดน้ำไหลผ่าน 1 ลิตรต่อนาที ไข่จะเริ่มฟักเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 72-96 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 21-27 องศาเซลเซียส
อีกวิธีหนึ่งเป็นการเพาะพันธุ์โดยวิธีฉีดฮอร์โมน จะทำฉีดต่อมใต้สมองปลาไนให้แม่พันธุ์ 2 ครั้ง จากนั้นนำมารีดไข่นำไข่ที่รีดได้มาผสมกับน้ำเชื้อ แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด และนำไข่ที่ได้ไปฟักในระบบเดียวกับการเพาะพันธุ์แบบกึ่งธรรมชาติ การเพาะพันธุ์ปลาเวียนพบว่ามีอัตราการปฏิสนธิระหว่าง 87.06-99.0% อัตรารอด 94.16-95.40%
ปัจจุบันทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรีมีพ่อแม่พันธุ์ปลาเวียนจำนวน 85 ตัว สามารถเพาะขยายพันธุ์ลูกปลาเวียนขนาด 1 นิ้ว ได้ประมาณ 20,000-30,000 ตัวต่อปี ซึ่งแน่ใจได้ว่าปลาเวียนจะไม่สูญพันธุ์แน่นอน
ปลาเวียนจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน มีรูปทรงที่คล้ายกัน แต่ยาวกว่า ส่วนใหญ่ลำตัวยาว 40-50 เซนติเมตร บางตัวเคยพบลำตัวยาวถึง1 เมตร มีสีสันสะดุดตากว่า ลำตัวมีสีฟ้าอมเขียว บริเวณส่วนหลังเขียวเข้ม ข้างลำตัวมีสีทอง ท้องขาวปนเทา เกล็ดโต แต่ละเกล็ดจะมีจุดสีน้ำเงินเล็กๆ เรียงกันเป็นวง ขอบเกล็ดสีน้ำตาลดำขอบสีทอง ดูคล้ายเป็นร่างแหอยู่ทั่วตัว ทุกครีบมีสีน้ำเงินเข้ม หัวค่อนข้างแหลม ปากเล็กอยู่ต่ำกว่าระดับปลายจะงอยปาก เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าปลาเพศผู้ กินพืชพรรณไม้น้ำ ผลไม้ และเมล็ดพืชทุกชนิด รวมถึงอาหารสด เช่น เนื้อกุ้ง เนื้อหอย เนื้อปลาเล็กๆ เป็นต้น
สนใจศึกษาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดต่อขอศึกษาดูงานได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี โทร.0-3241-6521-2