ประวัติโดยสังเขปหลวงพ่อสดวัดปากน้ำภาษีเจริญ
ประวัติโดยสังเขปหลวงพ่อสดวัดปากน้ำภาษีเจริญ
ชาติภูมิ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เดิมมีชื่อว่า “สด มีแก้วน้อย” เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๒๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้าoสองพี่น้อง ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีก่อนอุปสมบท ได้เรียนหนังสือเมื่อเยาว์วัยกับพระภิกษุซึ่งเป็นน้าชาย ณ วัดสองพี่น้อง ต่อมาได้ศึกษาอักษรสมัยที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม
เมื่ออายุ ๑๔ ปี โยมบิดาถึงแก่กรรม ท่านดำเนินการค้าสืบต่อจากบิดา จนถึงอายุ ๒๒ ปี และปี ๒๔๔๙ ได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง โดยมีพระอาจารย์ดี วัดประตูศาล เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเหนี่ยง อินฺทโชโต เป็นพระกรรมวาจารย์, พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “จนฺทสโร”
อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา เรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อโหน่ง และหลวงพ่อเนียม ในระยะเวลาสั้นๆ ปวารณาพรรษา แล้วเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อไป สมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) กับ สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน)
สรุปแล้วท่านเคยศึกษาสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานในสำนึกต่างๆ ดังนี้
๑. พระอาจารย์โหน่ง วัดสองพี่น้อง ๒. หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ๓. พระมงคลทิพยมุนี (มุ้ย) วัดสามปลื้ม ๔. พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล ๕. พระสังวรานุวงษ์ (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม ๖. พระครูญาณวิรัต (โป๊) วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ๗. พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ๘. พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่
การศึกษาของหลวงพ่อสด จากอาจารย์ตามข้างต้นนี้ อยู่ในระยะเวลาประมาณ ๑๐ ปี จากปีที่ท่านอุปสมบทในปี ๒๔๔๙-๒๔๕๙
เมื่อสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ องค์ต่อจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จ.ธนบุรี ท่านมีความประสงค์ที่จะให้หลวงพ่อสดมีวัดอยู่เป็นหลักเป็นฐาน จึงหวังเอาตำแหน่งเจ้าอาวาสผูกหลวงพ่อไว้กับวัดปากน้ำ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงวัดหนึ่ง เพื่อไม่ให้เร่ร่อนโดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
อีกต่อไป
ปี ๒๔๕๙ หลวงพ่อสดจึงรับบัญชาออกจากวัดพระเชตุพน ไปเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ๒๔๖๓
เมื่อแรกที่ท่านมาปกครองวัดปากน้ำ วัดมีสภาพกึ่งร้าง ท่านได้เริ่มสร้างความเจริญให้วัด โดยกวดขันพระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด สอนสมถวิปัสนากัมมัฏฐาน ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ตั้งสำนักเรียนทั้งนักธรรมและบาลี สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น จนวัดปากน้ำมีความเจริญขึ้นมาโดยลำดับ กลายเป็นศูนย์กลางปฏิบัติธรรมและการศึกษาบาลี ปฏิบัติสมถ-วิปัสสนากรรมฐาน
สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (พ.ศ.๒๕๐๒ -๒๕๐๘) ได้เขียนไว้ว่า
“หลวงพ่อวัดปากน้ำใช้คำว่า “ธรรมกาย” เป็นสัญลักษณ์ของสำนักกัมมัฏฐาน วัดปากน้ำ ทีเดียว เอาคำว่า “ธรรมกาย” ขึ้นเชิดชู ศิษยานุศิษย์รับเอาไปเผยแพร่ทุกทิศ”
อีกตอนหนึ่งท่านเขียนเล่าว่า
“คำว่า “ธรรมกาย” นั้นย่อมซาบซึ้งกันแจ่มแจ้ง เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำได้มรณภาพแล้ว กล่าวคือ เมื่อทำบุญ ๕๐ วัน สรีระสังขารของพระคุณท่าน คณะเจ้าภาพได้อาราธนาเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร วัดชนะสงคราม มาแสดงธรรม
เจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร ได้ชี้แจงว่า คำว่า “ธรรมกาย” นั้นมีมาในพระสุตันตปิฎก ท่านอ้างบาลีว่า ตถาคต ๘๘ วาเสฏฐ เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํ ซึ่งพอจะแปลความได้ว่า “ธรรมกายนี้เป็นชื่อของตถาคต ดูกรวาเสฏฐะ” ทำให้ผู้ฟังเทศน์เวลานั้นหลายร้อยคนชื่นอกชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนกราบสาธุการแด่เจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร และประหลาดใจว่า ทำไมเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธรจึงทราบประวัติ และการปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำได้ถูกต้อง
ผู้เขียน (สมเด็จพระสังฆราชปุ่น) เรื่องนี้ก็แปลกใจมาก เมื่อแสดงธรรมจบลงจากธรรมาสน์แล้วจึงถามผู้แสดงธรรมว่า คุ้นเคยกับหลวงพ่อวัดปากน้ำหรือ จึงแสดงธรรมได้ถูกต้องตามเป็นจริง
พระธรรมทัศนาธร ตอบว่า “อ้าว ไม่รู้หรือ ผมติดต่อกับท่านมานานแล้ว หลวงพ่อวัดปากน้ำข้ามฟากไปฝั่งพระนครแทบทุกคราวไปหาผมที่วัดชนะสงคราม และผมก็หมั่นข้ามมาสนทนากับเจ้าคุณวัดปากน้ำ การที่หมั่นมานั้นเพราะได้ยินเกียรติคุณว่า มีพระเณรมาก แม้ตั้ง ๔-๕๐๐ รูป ก็ไม่ต้องบิณฑบาตฉัน วัดรับเลี้ยงหมด อยากจะทราบว่า ท่านมีวิธีการอย่างไรจึงสามารถถึงเพียงนี้และ ก็เลยถูกอัธยาศัยกับท่านตลอดมา”
สมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๖๔ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูสมณธรรมทาน”…พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระภาวนาโกศลเถร”….พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศ
ชั้นเปรียญ…พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระมงคลราชมุนี”…พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระมงคลเทพมุนี”
อาพาธและมรณภาพ พระมงคลเทพมุนี หรือหลวงพ่อสด เริ่มอาพาธด้วยโรคความดันโลหิตสูง ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ มีอาการขึ้นๆ ลงๆ พล.ร.จ.เรียง วิภัตติภูมิประเทศ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลทหารเรือ เป็นแพทย์ประจำตัวดูแลรักษา
หลังจากได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระมงคลเทพมุนี” เมื่อปี ๒๕๐๐ อาการของโรคเพิ่มมากขึ้น แต่กำลังใจของท่านนั้นเข้มแข็ง ไม่แสดงอาการรันทดใจใดๆ การต้อนรับแขกด้วยอาการยิ้มแย้มเสมอ
หลวงพ่อสด อาพาธได้ประมาณ ๒ ปีเศษ จึงถึงแก่กาลมรณภาพด้วยอาการอันสงบ ณ ตึกมงคลจันสร เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๐๕ น. สิริอายุได้ ๗๕ ปี พรรษา ๕๓