โรคพยาธิหนอนหัวใจ
คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย -น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก [email protected]
จากสัปดาห์ที่แล้วหมอได้เล่าถึงภาวะโรคลมแดดที่มาพร้อมกับอากาศร้อนไปแล้วนะครับ ฉบับนี้หมอจะเล่าเรื่องเกี่ยวข้องกับอากาศร้อนในฤดูร้อนอีกสักโรค นั้นคือ “โรคพยาธิหนอนหัวใจ” หลายคนคงจะเริ่มงงกันแล้วใช่ไหมครับ เอ๊ะ!!! ทำไมหัวใจถึงมีพยาธิ ซึ่งสวนกับความรู้สึกของเราที่ควรจะพบพยาธิบริเวณทางเดินอาหาร... แล้วทำไมต้องอากาศร้อนด้วยล่ะ ???
“โรคพยาธิหนอนหัวใจ” เกิดจากการได้รับเชื้อพยาธิชนิดหนึ่งในกลุ่มพยาธิตัวกลม คือ “พยาธิหนอนหัวใจ” (Dirofilaria immitis) ที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งการแพร่ระบาดของยุงในฤดูร้อนนั้นพบว่ามีอัตราที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ระบบไหลเวียนเลือดของยุงกลับมาดีขึ้น และจากการจำศีลในฤดูหนาวเป็นระยะเวลานานทำให้ยุงนั้นค่อนข้างหิวโหย จึงส่งผลให้ในช่วงฤดูร้อนมีการเพิ่มของยุงสูงขึ้น
และหากมีฝนตกลงมาสมทบยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ยุงสามารถขยายพันธุ์วางไข่ได้มากขึ้นทำให้ปริมาณยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคมีจำนวนมากขึ้น เห็นไหมละครับว่าอากาศในฤดูร้อนนั้นก็เป็นผลทางอ้อมอย่างหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของพาหะนำโรคพยาธิหนอนหัวใจได้ โดยสุนัขปกติจะติดโรคได้จากตัวอ่อนของพยาธิชนิดดังกล่าวที่มักจะอาศัยอยู่ในกระแสเลือดของสุนัข เมื่อยุงไปกัดเลือดสุนัขตัวที่ติดเชื้อ ตัวอ่อนก็จะเข้าไปพัฒนาในตัวยุง
จากนั้นเมื่อยุงบินไปกัดกินเลือดสุนัขตัวที่ปกติ ก็จะนำพาตัวอ่อนในระยะติดเชื้อโดยถูกปล่อยออกมาทางน้ำลาย และพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยไปอาศัยอยู่ที่หัวใจห้องล่างขวา หลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปสู่ปอด และหลอดเลือดดำขนาดใหญ่บริเวณใกล้เคียง
อาการที่พบมีได้ตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนกระทั่งแสดงอาการภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งมีอันตรายถึงขั้นทำให้สุนัขตายได้ โดยเจ้าของสามารถสังเกตอาการเริ่มแรกได้จากการที่สุนัขแสดงอาการไอแห้งๆ เหนื่อยง่าย หายใจหอบ หายใจลำบาก ท้องมาน ท้องกางขยายใหญ่
เนื่องจากยาฉีดที่นำมาใช้ในการรักษาทำลายตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจมีความเป็นพิษสูง จึงมีโอกาสทำให้เกิดผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ สัตวแพทย์จึงจำเป็นต้องทำการประเมินสุขภาพร่างกายของสุนัข โดยการเจาะตรวจค่าเลือดก่อนทำการรักษาเพื่อเช็กการทำงานของไตและตับ ส่วนยาที่นำมาใช้ในการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจนั้นมีราคาค่อนข้างสูง
ดังนั้นการป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคย่อมเป็นทางเลือกที่ดี และทำได้ง่ายกว่าการรักษา เสียค่าใช้จ่ายน้อย โดยหลักวิธีการป้องกัน คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขที่เลี้ยงไว้นั้นถูกยุงกัด ไม่ว่าจะเป็นการกางมุง การติดตั้งมุ้งลวด หรือ การจุดยากันยุง ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดป้องกันยุงแก่สัตว์เลี้ยงที่รักมากมายให้เจ้าของได้เลือกสรรในท้องตลาดตามแต่ความสะดวก ความเหมาะสม และกำลังทรัพย์
แม้การป้องกันยุงกัดสัตว์เลี้ยงทำได้ค่อนข้างยากเพราะประเทศไทยเรานั้นอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของยุง ก็ยังมีอีกวิธีที่ได้ผลอย่างยั่งยืน คือ การป้องกันที่ตัวสัตว์ โดยการให้ยาทำลายตัวอ่อนในเลือดเพื่อไม่ให้พัฒนาไปเป็นตัวแก่ในหัวใจ ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น แบบหยดหลัง ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก และปลอดภัยต่อการที่เจ้าของสามารถทำเองได้ แบบกิน มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ออกฤทธิ์นานสามารถป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ประมาณ 1 เดือน
โดยการเลือกใช้ยาแต่ละชนิดควรเป็นไปตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ที่สำคัญควรเลือกใช้ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองอย่างถูกต้อง และอีกวิธีคือ แบบฉีด โดยการพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการฉีดยาป้องกันโดยมีให้เลือกทั้งในรูปแบบรายปี และรายเดือน เหล่านี้ล้วนเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้สุนัขห่างไกลจากโรคพยาธิหนอนหัวใจได้ ซึ่งเจ้าของเองต้องมีความสม่ำเสมอ ใส่ใจในการดูแลสุขภาพ สุขอนามัยของสุนัข เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจนะครับ !