ไลฟ์สไตล์

แม่ท้องต้องรู้ ท้องแข็งแบบไหนไม่ปกติ

แม่ท้องต้องรู้ ท้องแข็งแบบไหนไม่ปกติ

02 ส.ค. 2562

แม่ท้องต้องรู้ ท้องแข็งแบบไหนไม่ปกติ คอลัมน์... ดูแลสุขภาพ

 

 

          เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ขึ้นไป หรือไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ (เดือนที่ 7-9) มดลูกจะเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปกติแล้วจะมีลักษณะเป็นก้อนนิ่มๆ เมื่อคลำดูก็จะสัมผัสได้ถึงการมีทารกดิ้นอยู่ บางครั้งคุณแม่อาจรู้สึกว่าท้องแข็งหรือรู้สึกตึงหน้าท้องซึ่งเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกเป็นครั้งคราว แต่ถ้ารู้สึกท้องแข็งนานเป็น 10 นาทีจึงคลายลง และเป็นต่อเนื่อง 4-5 ครั้งเป็นชุดๆ หรือหากท้องแข็งแล้วมีเลือดออกทางช่องคลอดด้วย ควรรีบไปพบแพทย์

 


          ๐ สาเหตุของอาการท้องแข็งในหญิงตั้งครรภ์
          แม้อาการท้องแข็งในระหว่างตั้งครรภ์จะไม่ได้เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้มีอาการท้องแข็งขึ้นไว้ก่อน หากพบว่ามีอาการท้องแข็งในระหว่างตั้งครรภ์ ควรไปพบสูติ-นรีแพทย์ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และรักษาครรภ์ให้ปลอดภัยจนถึงวันคลอด โดยปกติแล้วสาเหตุของอาการท้องแข็งของหญิงตั้งครรภ์ที่พบบ่อยคือ


          ๐ ทารกในครรภ์ดิ้นแรงหรือโก่งตัว
          อาการแบบนี้เป็นอาการท้องแข็งที่พบบ่อยที่สุด คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกท้องแข็งแบบ “บางทีแข็ง บางทีนิ่ม” ซึ่งเกิดจากทารกในครรภ์ดิ้นหรือโก่งตัวชนเข้ากับผนังมดลูก จนทำให้มดลูกเกิดการบีบตัว ทำให้อวัยวะต่างๆ ของทารก เช่น ศอก ไหล่ เข่า หัว หรือก้นปรากฏนูนที่หน้าท้อง ถ้าเป็นส่วนหลังกับก้นดันออกจะทำให้รู้สึกว่ามดลูกเบี้ยวไปข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งจะนิ่มกว่า บริเวณที่รู้สึกเป็นรอยนูนเล็กๆ หลายจุดจะเป็นส่วนของมือและเท้า ภาวะแบบนี้มักไม่เป็นอันตราย เป็นการดิ้นตามปกติของทารกในครรภ์


          ๐ มดลูกเกิดการบีบรัดตัวขึ้นเองโดยหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้
          การบีบตัวของมดลูกที่ไม่พบสาเหตุที่แท้จริงอาจเกิดเพราะมดลูกไม่แข็งแรง มดลูกบีบรัด หรือคุณแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง


          ๐ การรับประทานอาหารอิ่มเกินไป
          เมื่อรับประทานอาหารมากไปหรือเคี้ยวไม่ละเอียดจนอาหารไม่ย่อยหรือเกิดแก๊สในกระเพาะ อาจทำให้มดลูกบีดรัดตัวเพราะถูกกระตุ้นจากการเบียดของกระเพาะอาหาร ลักษณะท้องจะตึงหรือแน่นท้อง แต่ไม่ได้ท้องแข็งมาก คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากแล้วควรกินอาหารที่ย่อยง่าย กินอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ เคี้ยวให้ละเอียด ดื่มน้ำมากๆ และควรขับถ่ายเป็นประจำ อย่าปล่อยให้ท้องผูก


          ๐ อาการท้องแข็งที่ต้องรีบพบแพทย์
          หากยังไม่ถึงกำหนดคลอดแต่รู้สึกว่าหน้าท้องที่เคยนิ่มเกิดแข็งขึ้นมาทั่วท้องจนรู้สึกเจ็บ นั่นคือสัญญาณเตือนว่ามดลูกกำลังบีบตัวหดรัด ให้สังเกตดูว่าท้องจะแข็งนานประมาณ 10 นาทีต่อครั้ง ติดต่อกัน 4-5 ครั้ง เป็นชุดๆ ลักษณะแบนนี้หากเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ท้องแข็งจนรู้สึกแน่น หายใจไม่สะดวกและอาการไม่หายไป ควรจะรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้มดลูกจะบีบตัวจนปากมดลูกเปิดซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนดได้


          ๐ ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ท้องแข็ง
          ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ หากปวดปัสสาวะให้เข้าห้องน้ำทันที เพราะการกลั้นปัสสาวะนานๆ เป็นสาเหตุให้เกิดท้องแข็งได้ เนื่องจากมดลูกที่ใหญ่ขึ้นตามอายุครรภ์จะถูกกระเพาะปัสสาวะที่มีน้ำปัสสาวะอยู่มากเบียดแน่นขึ้น


          ไม่บิดตัวหรือบิดขี้เกียจ การบิดขี้เกียจหรือบิดตัวเอี้ยวตัวท่าที่ลักษณะคล้ายกัน ทำให้ช่องท้องมีปริมาตรเล็กลง ความดันในมดลูกสูงขึ้น ทำให้ท้องแข็งได้ ไม่กินอิ่มเกินไป การกินอาหารอิ่มมากไป เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะมากกว่าปกติ อาหารไม่ย่อย ซึ่งปกติแล้วระบบการย่อยอาหารในหญิงตั้งครรภ์จะทำงานได้ไม่ดีเหมือนขณะไม่ตั้งครรภ์อยู่แล้ว


          ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย การมีเพศสัมพันธ์ในบางท่าอาจกระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบตัวซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการตั้งครรภ์ ไม่ควรลูบท้องบ่อยๆ การลูบท้อง รวมถึงการสัมผัสกับอวัยวะที่ไวต่อการกระตุ้นอย่างบริเวณเต้านม ซึ่งมักถูกสัมผัสในขณะอาบน้ำทำความสะอาดจะส่งผลให้มดลูกบีบตัวได้

พญ.ปวีณา บุตรดีวงศ์
แพทย์ประจำศูนย์ สูติ นรีเวชวิทยา
โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์