ปวดศีรษะไมเกรน&ปวดจากความตึงของกล้ามเนื้อ&เนื้องอกในสมอง(1)
ปวดศีรษะ ไมเกรน & ปวดจากความตึงของกล้ามเนื้อ & เนื้องอกในสมอง (ตอนที่ 1) คอลัมน์... เสียงเตือนจากร่างกาย
สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ฉบับนี้มีเรื่องเล่าให้ฟังจากหลายๆ ท่านที่ได้มาพบผู้เขียนที่คลินิก ซึ่งถือว่ามีเยอะมากขึ้นในช่วงนี้ค่ะ อาจด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน สังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด จึงทำให้มีอาการนี้มากขึ้นค่ะ
อาการที่พูดถึงนี้คือ อาการปวดศีรษะค่ะ หลายท่านคงประสบปัญหานี้ แต่อาการปวดศีรษะนี้มีหลายลักษณะค่ะ บางท่านปวดมากจนจะทนไม่ไหวต้องนอนตัวขดตัวงอลงไปเลย บางท่านก็ปวดหนักๆ ตื้อๆ ไปทั้งหัว มึนหัว ตาพร่ามัว เหมือนตาจะปิด บางเคสก็รู้สึกปวดหนักๆ ปวดบ่า ปวดก้านคอ ร้าวเข้ากระบอกตา ร้าวขึ้นขมับ บางเคสปวดมากถึงขั้นคิดไปว่าเป็นเนื้องอกในสมองหรือเปล่า คิดกันได้หลายแง่มุมเพราะความปวดค่ะ ก็ไม่แปลกค่ะ เพราะอาการปวดศีรษะมักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมาก ฉบับนี้ผู้เขียนเลยอยากเล่าเรื่องร่างกายของเคสแต่ละเคสที่มีอาการปวดศีรษะ ในหลายแง่มุมให้ท่านผู้อ่านได้ฟังค่ะ มีหลายเคสคิดว่าตัวเองเป็นโรครุนแรงที่สมองถึงขั้นอยากจะไปทำ ซีที สแกน ที่สมองก็มีค่ะ
หมอที่เก่งที่สุดคือตัวเราเอง ประโยคนี้หลายท่านที่ดูแลตัวเองในวิถีธรรมชาติบำบัด คงจะคุ้นชินดีนะคะ อาการปวดศีรษะในแต่ละแบบที่ร่างกายเราแสดงออกมา ก็ถือเป็นข้อมูลหนึ่งที่จะนำไปประมวลคร่าวๆ ว่าเราเป็นอะไร เพราะสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดศีรษะมาได้จากหลายสาเหตุ และแต่ละสาเหตุก็จะมีเกณฑ์ในการประเมินคร่าวๆ ว่าเราปวดจากอะไร เมื่อร่างกายเรากำลังฟ้องสิ่งใดอยู่ เราเฝ้ามองสิ่งที่ร่างกายกำลังบอกอาการ เราก็จะบอกตัวเองได้ว่าเราควรจะตัดสินใจ นำร่างกายนี้ไปรักษาที่ไหน รู้เท่าทันร่างกาย มีความรู้เบื้องต้นไว้พิจารณา นอกจากจะทำให้รักษาตัวเองได้ตรงจุด ก็ทำให้เราไม่ต้องกังวลเกินไปด้วยค่ะ
เราเริ่มจากอาการปวดที่ติดปากคนปวดศีรษะกันค่ะ นั่นคือไมเกรน อาการปวดหัวเราก็มักบอกตัวเองว่าเราเป็นไมเกรน แต่มาดูกันค่ะว่าจริงๆ แล้วลักษณะของการปวดไมเกรนเป็นอย่างไร ปวดมากถึงมากที่สุด คือค่อนข้างรุนแรง เวลาปวดขึ้นมาไม่สามารถทำอะไรต่อได้ เป็นต้น
อาการปวดจะปวดตุ๊บๆ เป็นจังหวะ ที่ขมับและกระบอกตา
โดยปกติเกือบทั้งหมด จะปวดเพียงข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ
ปวดร่วมมักร่วมกับคลื่นไส้ และ/หรือ อาเจียน
อาการปวดมักถูกกระตุ้นด้วยเสียงดัง หรือแสงจัด (Phonophobia & Photophobia)
หากลองสังเกตตัวเองว่ามีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อนี้ ก็พอจะวินิจฉัยด้วยตัวเองคร่าวๆ ได้ค่ะว่าน่าจะเป็นไมเกรน ซึ่งอย่างที่เรียนไปเบื้องต้น อาการไมเกรนค่อนข้างรุนแรงมากจึงมักบรรเทาได้ด้วยการกินยาแล้วนอนพัก ถึงกระนั้นบางเคสก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ต้องเพิ่มโดสยาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในระยะยาวมักไม่เกินผลดีค่ะ แต่มีงานวิจัยหลายฉบับที่แนะนำให้ป้องกันไม่ให้รุนแรงขึ้นได้ หรือบางเคสหากยังไม่รุนแรงมากก็มักจะหายขาดได้ แต่วิธีการนี้ต้องอาศัยวินัยในการดูแลตัวเองค่อนข้างมากค่ะ คือ
ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ นอนในเวลาที่ร่างกายต้องการ การพักผ่อนจะช่วยเรื่องสมดุลฮอร์โมนได้ คือนอน 4 ทุ่ม เป็นต้นไป
ออกกำลังกายแบบได้เหงื่อคือต้องออกต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างต่ำ
ฝึกตนเองให้รู้จักปล่อยวางคือเครียดให้น้อยลง
รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนให้น้อย รับประทานผักผลไม้ให้มาก รับประทานอาหารที่มีอายุสั้น เป็นต้น
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจต้องอาศัยความต่อเนื่อง อย่างต่ำอาจต้องติดต่อกัน 6 เดือนหรือเป็นปีจึงจะเห็นผลค่ะ ดังนั้นต้องฝึกให้เป็นอุปนิสัยค่ะ ฝึกจนเป็นวิถีชีวิตถึงจะเห็นผลชัดเจนค่ะ ฉบับนี้เราพึ่งรู้จักอาการปวดศีรษะเพียงอย่างเดียว ฉบับหน้าเรามาต่อกันนะคะ ว่าปวดจากความตึงตัว ปวดจากเนื้องอกในสมองนั้นเป็นอย่างไร ไว้พบกันฉบับหน้าค่ะ
***ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) โทรศัพท์ 09-2326-9636 www.ariyawellness.com Facebook: Ariya Wellness Center สถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ***