ข้อเข่าเสื่อมรักษาได้ไม่ต้องผ่าตัด
ข้อเข่าเสื่อมรักษาได้ไม่ต้องผ่าตัด คอลัมน์... เสียงเตือนจากร่างกาย
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เป็นอีกโรคที่พบบ่อยในคนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มที่มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาของข้อเข่าเสื่อมสามารถส่งผลต่อการเกิดข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันได้ เนื่องจากสาเหตุของความปวดและความไม่สามารถในการใช้งานเช่น การลุก-นั่ง การเดิน และถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดความเจ็บปวดเพิ่มมากขึ้น ข้อเข่าผิดรูปมากขึ้น ท่าทางในการเดิน การลงน้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปทำให้เดินได้ไม่ปกติ สิ่งที่ตามมาคืออาจทำให้การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆ ทำได้ไม่สะดวก และจะมีความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
การเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นถือเป็นการเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป และถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน เช่น อายุที่เพิ่มขึ้นและพบว่าเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งความเสี่ยงในการเกิดเข่าเสื่อมจะมีมากขึ้นเมื่อมีอายุที่มากขึ้น แต่ก็สามารถเกิดกับผู้ที่อายุยังน้อยได้เช่นกัน โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอายุ 40 ปี ขึ้นไป จากการศึกษาและการเก็บข้อมูลพบว่าเพศมีผลต่อการเกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมโดยที่เพศหญิงมีโอกาสเกิดเข่าเสื่อมได้มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป แต่ในกรณีนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่ก็มีหลายการศึกษาที่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเช่น ฮอร์โมน มวลของกล้ามเนื้อ การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบในร่างกาย พฤติกรรมการใช้ชีวิต น้ำหนักตัวมากขึ้นหรือผู้ที่มีภาวะของโรคอ้วนน้ำหนักตัวที่เกินเกณฑ์จะส่งผลต่อข้อโดยตรงซึ่งพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินมักเป็นผู้ที่ขาดการออกกำลังกายและขาดการบริหารฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบเข่า
จากการศึกษาในอดีตเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่ากล้ามเนื้อมีส่วนสำคัญในการกระจายแรงที่กระทำต่อร่างกายไม่ให้ไปตกเข้าข้อโดยตรงแต่เมื่อวันใดที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงหรือประสิทธิภาพการทำงานลดลงส่งผลให้การกระจายแรงไม่มีประสิทธิภาพแรงที่เกิดขึ้นก็จะกระทำต่อข้อต่อและผิวของข้อโดยตรงทำให้เกิดความเสื่อมอย่างเรื้อรังตามมาปัญหาจากการใช้งานของข้อเข่าในอดีตที่ไม่เหมาะสม การขาดการดูแล การออกกำลังกายที่ถูกต้อง การปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม และการทรงท่าทางที่ผิดมีผลต่อข้อเข่าโดยตรง อาทิ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ เป็นต้นซึ่งในประเทศไทยท่าทางต่างๆ เหล่านี้มักนิยมทำกันเพราะเป็นไปตามธรรมเนียมค่านิยมต่างๆรวมไปถึงในบางกรณีที่เกิดปัญหากับเข่า เช่น เคยผ่าตัดข้อ บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ-เล่นกีฬา การมีโรคประจำตัวบางอย่าง ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยส่งเสริมที่อาจส่งผลในปัจจุบันได้ กรรมพันธุ์ก็เป็นอีกตัวแปรที่มีความเกี่ยวโยงกับการเกิดข้อเข่าเสื่อม โดยที่ผู้ป่วยข้ออักเสบบางรายจะพบว่ามีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคเข่าเสื่อมได้
อาการข้อเข่าเสื่อม มักเริ่มจากมีอาการปวดข้อเข่าเป็นๆ หายๆ และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อมากๆ หากมีอาการเรื้อรังมากจะมีอาการปวดตลอดเวลา มีจุดกดเจ็บซึ่งมักพบบ่อยทางด้านในของข้อเข่า รวมทั้งอาจมีเสียงดังในข้อ ข้อเข่าฝืด ยึดตึงในช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า หากเป็นรุนแรงมากอาจทำให้เกิดข้อเข่าผิดรูปและมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อเข่า แนวการลงน้ำหนักและการรับน้ำหนักจะเปลี่ยนไป การรักษาข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกโดยทั่วไปจะมุ่งเน้นเพื่อลดอาการปวดหรือลดการอักเสบ และทำให้องศาของการเคลื่อนไหวของเข่าอยู่ในองศาที่สามารถทำได้ปกติ โดยมีแนวทางในการรักษาด้วยตนเอง ได้แก่ การใช้ความร้อนประคบรอบๆ เข่าเพื่อหวังผลสำหรับลดอาการปวดเกร็ง การบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง การใช้วัสดุกระชับข้อหรือสนับเข่าเพื่อกระชับข้อก็เป็นอีกแนวทางที่สามารถมาช่วยเพิ่มความรู้สึกมั่นคงแต่ก็ต้องทำร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าและส่วนที่เกี่ยวข้องให้แข็งแรงร่วมด้วย การบรรเทาอาการปวดโดยการใช้ไม้เท้าช่วยเดินเพื่อลดแรงกระแทกที่จะมากระทำต่อข้อเข่า การลดน้ำหนักในรายที่มีน้ำหนักเกิน หรือในภาวะอ้วนมากจะมีส่วนสำคัญในการดูแลเข่าเพราะเป็นการลดแรงกระแทกของข้อเข่า ในรายที่เป็นมากอาจร่วมกับการใช้ยา และ/หรือการผ่าตัดซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เพราะยาบางอย่างก็มีอันตรายและอาจไม่เหมาะกับทุกคนหรือบางคน
จากแนวทางที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแนวทางของการดูแลตนเองและคนในครอบครัวเบื้องต้นแต่การรักษาที่จะสามารถบรรเทาอาการสามารถแบ่งได้เป็น การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด และการรักษาโดยการผ่าตัดในกรณีที่มีข้อบ่งชี้และความจำเป็น ซึ่งการรักษาโดยการผ่าตัดจะกระทำเมื่อไม่สามารถที่จะดูแลข้อเข่าโดยวิธีการไม่ผ่าตัดได้แล้ว ดังนั้นในบทความนี้จะเน้นเรื่องการรักษาโดยการไม่ผ่าตัดเป็นสำคัญ
การวินิจฉัยเข่าเสื่อมมักจะถูกเริ่มต้นจากการถามประวัติ เช่น อาการต่างๆที่เป็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาการปวด การบวม ข้อติด เสียงผิดปกติ ลักษณะการเดิน รวมไปถึงโรคประจำตัวที่มี พฤติกรรมซ้ำๆในชีวิตประจำวัน ประวัติการบาดเจ็บต่างๆในอดีต และการตรวจสอบอาการต่าง ๆ จากการตรวจประเมินข้อเข่า เช่น อาการปวดตำแหน่งเฉพาะที่มีอาการ การบวมแดง อาการกดเจ็บ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และดูการเคลื่อนไหวของข้อเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะการเดินก็เป็นข้อมูลที่สำคัญเพื่อช่วยให้วินิจฉัยได้ละเอียดและหาสาเหตุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และการวินิจฉัยหาสาเหตุด้วยการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การทำเอกซเรย์ หรือใช้เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เป็นสิ่งที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและมีความละเอียดมากขึ้นเพราะในคนไข้หลายรายมักมีอาการหลายอย่างที่สามารถเป็นเหตุปัจจัยของการเกิดข้อเข่าเสื่อมและมีการบาดเจ็บร่วม ในบางรายการบาดเจ็บนั้นอาจเกิดในข้อเช่น มีเอ็นไขว้ในเข่ามีปัญหา หมอนรองกระดูกบาดเจ็บหรือฉีกขาดร่วม และ/หรือบางรายการบาดเจ็บอาจไม่ได้จำกัดเฉพาะในข้อแต่มีปัญหาบางอย่างที่เกิดนอกข้อเข่าแต่สามารถเป็นปัจจัยส่งเสริมความเสื่อมของข้อเข่าได้เช่น การบาดเจ็บอย่างเรื้อรังของกล้ามเนื้อหลังเข่าหน้าเข่า การอักเสบของถุงน้ำรอบข้อเข่าล้วนแล้วแต่สามารถพบได้ร่วมกับอาการข้อเข่าเสื่อม แม้กระทั่งปัญหาที่เกิดกับข้อสะโพกและข้อเท้าก็สามารถส่งผลได้ ซึ่งสาเหตุร่วมทั้งหลายเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการดูแลรักษาข้อเข่าอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นในบางกรณีอาจมีความจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจน้ำในข้อหรือตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดข้อหรืออาการที่คล้ายข้อเข่าเสื่อม ยกตัวอย่างเช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคเกาต์เทียม รวมไปถึงการอักเสบหรือการติดเชื้อต่าง ๆ
การรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัดจะมุ่งเน้นไปที่การลดความเจ็บปวดและช่วยให้เคลื่อนไหวได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยการรักษาจะอาศัยวิธีต่างๆร่วมกันไป ได้แก่ ปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต การลดและควบคุมน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายที่มีรูปแบบเฉพาะ เพื่อลดน้ำหนักและเสริมสร้างความแข็งแรงของข้อเข่า เพื่อให้กล้ามแข็งแรงจนสามารถช่วยพยุงข้อเข่าได้ และเมื่อข้อเข่ามีความยืดหยุ่นสูงก็จะช่วยลดความเจ็บปวดได้ดี ซึ่งในโปรแกรมการออกกำลังกายต้องให้ความสำคัญและหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เพิ่มความตึงเครียดให้กับข้อมากเกินไป เช่น การวิ่งหรือการยกน้ำหนักที่เกินพอดี ในบางรายอาจแนะนำให้ว่ายน้ำซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ข้อไม่ต้องรับแรงกดมากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะกับทุกคนเสมอไปทั้งนี้ขึ้นกับปัญหาของคนไข้แต่ละราย นอกจากนั้นในคนไข้บางรายเป็นไปได้ว่าอาจสามารถเพิ่มความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อด้วยการเดินเร็วหรือปั่นจักรยานก็อาจเป็นอีกทางเลือกแต่ก็ต้องขึ้นกับความสามารถและความพร้อมของระบบการทำงานของร่างกายอื่นด้วยเช่นระบบการทำงานของปอดและหัวใจตามช่วงอายุที่เหมาะสมและปัจจัยพื้นฐานของร่างกาย
การรักษาด้วยยาเป็นที่นิยมอย่างมากเพราะผู้ป่วยมักจะถามหายาดียาวิเศษที่จะมาใช้รักษาและลดอาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาแก้ปวดหรือยาลดการอักเสบเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดที่มักนิยมรับประทานกัน เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งไม่ควรใช้ยาประเภทนี้นานเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง และเพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาขอใช้ยาตามแพทย์แนะนำ และการใช้ยาเหล่านี้เป็นการลดอาการไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Cortisone Injections) สามารถช่วยลดการอักเสบและความเจ็บปวดได้ซึ่งฉีดยาเข้าไปที่ข้อของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับการฉีดได้ 3-4 ครั้งต่อปีเท่านั้น เพราะหากฉีดมากเกินไปอาจสร้างความเสียหายกับข้อได้อย่างถาวร การฉีดกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของน้ำในข้อต่อ ซึ่งการฉีดกรดไฮยาลูโรนิกเข้าไปที่เข่าจะช่วยเพิ่มความหล่อลื่นให้กับข้อเข่า
การรักษาทางเลือกอื่นๆ เช่น การฝังเข็ม (Acupuncture) ซึ่งเป็นวิธีรักษาแบบธรรมชาติตามศาสตร์แพทย์แผนจีนซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นความสมดุลให้มวลกระดูกและกระตุ้นการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงที่ข้อโดยระยะเวลาที่ใช้และผลในการรักษาจะแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล การใช้ครีมยาทาเฉพาะที่เช่น แคปไซซิน (Capsaicin) เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อเข่าจากเข่าเสื่อม การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเช่น คอนดรอยติน (Chondroitin) เชื่อว่าจะช่วยชะลอการแคบลงของช่องระหว่างข้อและลดอาการเจ็บข้อได้ แต่พบว่ามีส่วนน้อยที่ได้ผลซึ่งยังต้องมีการเก็บข้อมูลมากขึ้น แต่ทั้งนี้การทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในผู้ที่มีปัญหาข้อเสื่อม เพราะการกายภาพบำบัดจะมีวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การใช้งานข้ออย่างถูกวิธีทั้งการใช้กล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว การทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่ามีความแข็งแรงและรู้วิธีเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อ ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนและเป็นการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาซึ่งมีผลให้อาการปวดน้อยลงและขยับเคลื่อนไหวได้มากขึ้น นอกจากนั้นการทำกายภาพบำบัดยังรวมไปถึงการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเช่น การบำบัดด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อลดอาการปวดและลดการอักเสบ การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ การรักษาด้วยเครื่อง shockwave และ Short wave เป็นต้น