ข่าว

เช็กลิสต์ 10 สัญญาณเตือน "โรคอัลไซเมอร์" พร้อมแนะ 5 วิธีป้องกันง่ายๆ

เช็กลิสต์ 10 สัญญาณเตือน "โรคอัลไซเมอร์" พร้อมแนะ 5 วิธีป้องกันง่ายๆ

12 มิ.ย. 2564

เช็กเลย อาการแบบไหนเป็นสัญญาณเตือน "โรคอัลไซเมอร์" มีวิธีรักษาและป้องกันการเกิดโรคอย่างไร

โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม เกิดจากเซลล์ในสมองตายหรือไม่ทำงาน ทำให้สมองส่วนที่เหลือทำงานได้ไม่เต็มที่ และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาจะเกิดภาวะสมองเสื่อมรุนแรง จนในที่สุดผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้

 

 

โดย 10 สัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์ สังเกตได้ดังนี้

1. มีการหลงลืมที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ลืมในสิ่งที่เพิ่งผ่านเข้ามาเร็วๆนี้ ลืมวันหรือเหตุการณ์สำคัญ ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องอาศัยสิ่งช่วยจำ เช่น สมุดจด หรือบุคคลในครอบครัวคอยช่วยเหลือ

2. เสียความสามารถในการวางแผนหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆเป็นขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง เช่น ลืมขั้นตอนจ่ายเงินเมื่อไปธนาคาร หรือขับรถ

3. รู้สึกยากลำบากในการทำงานที่คุ้นเคย ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน หรือเวลาพักร้อน เช่น ขับรถไปในสถานที่ที่ไปประจำ จำกฎกติกาของกีฬาที่เล่นประจำไม่ได้

4. รู้สึกสับสนกับเวลาหรือสถานที่ในขณะหนึ่งๆ เช่น ไม่รู้วันที่ ฤดูกาล และเวลา ลืมสถานที่ที่ตัวเองอยู่หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆอย่างไร

5. รู้สึกลำบากที่จะเข้าใจในภาพที่เห็นและความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่เห็นกับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือเข้าใจลำบากขึ้น กะระยะทางยากขึ้น วางของบนโต๊ะแต่มักปล่อยลงก่อนถึงโต๊ะ บอกสีต่างๆยากขึ้น

6. รู้สึกมีปัญหาในการค้นหาหรือใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน เช่น มักจะหยุดระหว่างกำลังสนทนาและไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อ หรืออาจพูดคำ ประโยคซ้ำๆ

7. ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรวาง หรือเก็บไว้และไม่สามารถย้อนนึกกลับไปได้ว่าวางไว้ที่ใด เช่น เก็บโทรศัพท์ไว้ในตู้เย็น

8. ความสามารถในการตัดสินใจลดลงหรือสูญเสียไป เช่น ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเอง ไม่ทำผม ไม่อาบน้ำ

9. มีการแยกตัวออกจากงานที่ทำหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ปกติจะไปเล่นกีฬา พบปะเพื่อนทุกสัปดาห์ แต่วันหนึ่งกลับไม่ไปโดยไม่มีเหตุผลใดๆ

10. รู้สึกว่าอารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดูสับสน วิตกกังวล หวาดกลัว

ทั้งนี้หากพบสัญญาณเตือนข้อใดข้อหนึ่งควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่แรกเริ่ม และรับการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด

 

เช็กลิสต์ 10 สัญญาณเตือน \"โรคอัลไซเมอร์\" พร้อมแนะ 5 วิธีป้องกันง่ายๆ

 

 

อาการของโรคอัลไซเมอร์จะกินเวลาหลายปี และแสดงอาการตามระยะเสื่อมของสมอง 3 ระยะ ดังนี้

อาการสมองเสื่อมระยะแรก : อาการระยะแรกของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เริ่มจากขี้หลงขี้ลืม ลืมเรื่องที่เพิ่งพูดไปหรือลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ชอบถามคำถามเดิมๆซ้ำๆ มีความลังเล ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆได้ ทำให้มีความวิตกกังวลมากขึ้น ตื่นตกใจง่าย และอาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้

อาการสมองเสื่อมระยะปานกลาง : ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเข้าขั้นสมองเสื่อมระยะแรก และคิดว่าเป็นเพียงความหลงลืมชั่วคราวหรือเป็นเรื่องปกติ อาจเป็นความคิดที่ผิดได้ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ปัญหาความจำอาจแย่ลงจนไม่สามารถจำชื่อคนรู้จักได้ ไม่สามารถลำดับเครือญาติหรือแยกคนใกล้ชิดได้ว่าใครเป็นใคร รวมถึงอาจมีอาการสับสน ลืมวันเวลา ประกอบกับนอนไม่หลับ และที่พบบ่อยคือหลงทาง หาทางกลับบ้านเองไม่ได้ ความรุนแรงของอาการสมองเสื่อมระยะนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายกว่าปกติ หรือรุนแรงถึงทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซึมเศร้าได้

อาการสมองเสื่อมระยะสุดท้าย : อาการระยะที่รุนแรง ผู้ป่วยจะเกิดภาพหลอน เรียกร้องความสนใจหรือก้าวร้าวขึ้น มักมีอาการทางกาย เช่น เคี้ยวอาหารและกลืนได้ลำบาก เคลื่อนไหวช้าลง หรือไม่สามารถเดินเองได้ ปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ดเนื่องจากกลั้นไม่อยู่ และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องง่ายๆ เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ

การชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ คือ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำกิจกรรมการกระตุ้นความคิดอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยการใช้ยายับยั้งสารอะเซตีลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase) เพื่อลดการทำลายสารความจำในสมอง

ทั้งนี้โรคความจำเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่มีโอกาสน้อยที่จะสามารถรักษาให้หายสนิทได้ แต่เราสามารถป้องกันไม่เป็นโรคนี้ได้ด้วยวิธีฝึกสมองง่ายๆ 5 ข้อดังนี้

1. อ่านหนังสือสามารถช่วยเสริมสร้างและยืดอายุสมองได้ 2. เขียนหนังสือบ่อยๆช่วยเสริมสร้างและกระตุ้นสมองได้ดี 3. คิดเลขช่วยกระตุ้นให้ใช้ความคิด และสมาธิ 4. เล่นเกมตอบปัญหาเพื่อกระตุ้นให้ใช้ความคิด ฝึกความจำ ความคิด สมาธิ 5. ฝึกใช้อุปกรณ์ใหม่ๆช่วยเสริมสร้างและกระตุ้นสมองได้ดี

 

ที่มาsamitivejchinatown