10 ข้อควรรู้ "โรคโควิด-19" ในเด็ก มีอาการอะไรบ้าง อัตราการเสียชีวิตเท่าไหร่
เปิด 10 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับ "โรคโควิด-19" ในเด็ก มีอาการอะไรบ้าง ป้องกันการติดเชื้ออย่างไร อัตราการเสียชีวิตเท่าไหร่ ควรฉีดวัคซีนหรือไม่
เกาะติดสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ ในประเทศ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน (ข้อมูล ณ เวลา 12.30 น. วันที่ 22 มิถุนายน 2564) พบ ผู้ป่วยรายใหม่ 4,059 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 196,502 ราย หายป่วยแล้ว 160,410 ราย เสียชีวิตสะสม 1,599 ราย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้ป่วย โควิด-19 เป็นเด็กอยู่ด้วย สร้างความวิตกกังวลสำหรับพ่อแม่ครอบครัวที่มีลูกเด็กเล็กแดงไม่น้อย เพราะหากติดเชื้อขึ้นมาก็จะต้องถูกแยกกักตัว แถมยังอาจเสี่ยงกับปอดอักเสบรุนแรง ระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมถึงภาวะอักเสบหลายระบบในเด็กอีกด้วย
โรคโควิด-19 คืออะไร?
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ SARS-CoV-2 เริ่มระบาดครั้งแรกที่มณฑลหู่เป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน
- โครงสร้างทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกับโรคซาร์สที่แพร่ระบาดใน พ.ศ. 2545 และโรคเมอร์สที่แพร่ระบาดใน พ.ศ. 2555
โรคโควิด-19 แพร่กระจายเชื้อได้อย่างไร?
- ทางละอองฝอย ผ่านการไอจามรดกันในระยะ 1 - 2 เมตร
- ทางการสัมผัส ผ่านการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 เช่น น้ำมูก น้ำลาย ทั้งโดยทางตรง หรือทางอ้อมผ่านพื้นผิวสัมผัสที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น โต๊ะ , ลูกบิดประตู , ราวจับ สำหรับสิ่งคัดหลั่งอื่น เช่น อุจจาระ พบว่ามีโอกาสแพร่เชื้อได้น้อยมาก
- ทางอากาศ พบในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยไอมาก ใกล้ชิดผู้ป่วยในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก , การทำหัตถการที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของละอองฝอยขนาดเล็ก ได้แก่ การดูดเสมหะ , การใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น
อาการของโรคโควิด-19 ในเด็กมีอะไรบ้าง?
- สามารถมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่ ไม่มีอาการเลย จนถึงปอดอักเสบรุนแรง หรือเสียชีวิต
- ระยะฟักตัวประมาณ 14 วัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคประมาณ 4 - 5 วัน หลังสัมผัสโรค เด็กมักติดเชื้อจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในบ้านที่ติดเชื้อหรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19
- อาการของโรคโควิด-19 ที่พบมากที่สุด คือ ไข้ , ไอแห้งๆ และอ่อนเพลีย อาจพบอาการปวดเมื่อย , คัดจมูก , น้ำมูกไหล , จมูกไม่ได้กลิ่น , ลิ้นไม่รับรส , เจ็บคอ , ปวดศีรษะ , ปวดกล้ามเนื้อ หรือผื่นตามผิวหนัง สำหรับอาการทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย , ปวดท้อง พบได้เล็กน้อย
โรคโควิด-19 มีอาการรุนแรงไหม?
- ผู้ป่วยเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีอาการไม่รุนแรง มักพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ , ไอ , ปวดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเด็กเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่มีอาการรุนแรงหรือวิกฤติ เช่น ปอดอักเสบรุนแรง , ระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมถึงภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก
- ผู้ป่วยเด็กสามารถพบติดเชื้อแต่ไม่มีอาการได้ประมาณร้อยละ 4
- ภาวะแทรกซ้อนพบได้น้อย มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด , โรคไต , โรคปอดเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 2
โรคโควิด-19 มีอาการแตกต่างจากโรคติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจอื่นอย่างไร?
- อาการของโรคโควิด-19 แยกได้ยากจากโรคติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ , อาร์เอสวี (RSV)
- น้องที่มีอาการทางเดินหายใจร่วมกับมีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19 ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยง หากพบว่ามีความเสี่ยงจริง แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและเอกซเรย์ปอดต่อไป
หากน้องไม่มีอาการของโรคโควิด-19 ควรตรวจหาสารพันธุกรรมของโรคโควิด-19 หรือไม่?
- หากน้องไม่มีอาการ ไม่จำเป็นตรวจหาสารพันธุกรรมของโรคโควิด-19 เนื่องจากการตรวจขณะไม่มีอาการแล้วไม่พบเชื้อ อาจเข้าใจผิดว่าไม่เป็นโรคนี้ ทำให้ขาดความระมัดระวังในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมาก แออัด กลับจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคด้วย
- ยกเว้นกรณีที่น้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 น้องที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการที่ก่อให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
เราจะป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ได้อย่างไรบ้าง?
- สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ยกเว้นในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือหากเห็นว่ามือสกปรกก็ควรล้างด้วยน้ำกับสบู่เป็นระยะเวลา 20 วินาที
- เวลาไอ จาม ควรใช้ทิชชูปิดปากและจมูก หลังจากนั้นนำไปทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด ถ้าไม่มีทิชชูให้ใช้ข้อศอกและต้นแขนด้านในแทน หลังจากนั้นล้างมือให้สะอาด
- เว้นระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 1 - 2 เมตร
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก และปาก หากยังไม่ได้ล้างมือ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับคนที่มีอาการป่วย
- งดหอมแก้มหรือสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กโดยไม่จำเป็น
- แม้น้องจะเคยติดเชื้อ โควิด-19 มาแล้ว ก็ควรป้องการติดเชื้อและแพร่เชื้อ โควิด-19 ด้วยเช่นกัน
หากน้องสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 เราควรทำอย่างไร?
- หากน้องใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองและเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสมแล้ว รวมถึงไม่ได้สัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยโรคโควิด-19 น้องควรหยุดเรียนและแยกตัวจากเด็กคนอื่นเป็นระยะเวลา 14 วัน ในระหว่างนั้นวัดอุณหภูมิร่างกายวันละ 1 - 2 ครั้ง สังเกตอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ สวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันและแยกสำรับอาหาร รวมถึงงดไปแหล่งชุมชน
- หากน้องมีอาการผิดปกติหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษาคุณหมอที่ให้การดูแลรักษาได้เลยครับ
โรคโควิด-19 มียาหรือวัคซีนหรือไม่?
- ปัจจุบันยังไม่มียาที่ที่ใช้ในการป้องกันหรือรักษาให้โรคโควิด -19 ดังนั้น การรักษายังคงเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก
- สำหรับวัคซีน ปัจจุบันประเทศไทยได้ถือเป็นวาระแห่งชาติ (ข้อมูล ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ณ เวลา 12.30 น. วันที่ 22 มิถุนายน 2564) ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 21 มิถุนายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 7,906,696 โดส
น้องควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่แนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากข้อมูลความปลอดภัยในเด็กยังมีอยู่จำกัด แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้เมื่อเก็บข้อมูลอาสาสมัครเด็กมากเพียงพอก็น่าจะมีการรับรองให้ใช้ในเด็กได้
ดังนั้น ในระหว่างนี้ผู้ปกครองผู้ใหญ่ในบ้านทุกคน แม้แต่ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ควรฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันน้องให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19
ข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์