รักลูกอย่างไร ห่างไกล "โรคอ้วน" ลดเสี่ยงติดเชื้อ โควิด-19 รุนแรง - เสียชีวิต
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังวิกฤติ "โรคอ้วน" ยังคงเป็น 1 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง - เสียชีวิต
เกาะติดสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ ในประเทศ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน (ข้อมูล ณ เวลา 07.50 น. วันที่ 23 มิถุนายน 2564) พบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จำนวน 3,174 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อใหม่ 3,138 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 36 ราย หายป่วยกลับบ้าน 1,941 ราย ผู้ป่วยสะสม 199,676 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) เสียชีวิต 51 ราย
ทั้งนี้ มีรายงานโรคประจำตัวของผู้ป่วยเสียชีวิตที่ผ่านมา ระบุ โรคอ้วน อยู่ด้วย เกิดคำถาม โรคอ้วน เป็นสาเหตุทำให้เสี่ยงติดเชื้อ โควิด-19 อาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ - เสียชีวิตง่ายกว่า หรือไม่
ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงติด โควิด-19 มากกว่าคนปกติ แต่ในทางการแพทย์ พบว่า คนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าติด โควิด-19 อาจจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง ดูได้จากปรากฏการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนอ้วนจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงกลุ่มแรกๆ เพราะคนอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแรกๆ ที่เป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs
แบบไหนเรียกว่า โรคอ้วน รู้ได้อย่างไรว่าเป็น
โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ นำมาซึ่งสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อ มี 2 ประเภท คือ
1. อ้วนลงพุง มีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหาร และอื่นๆ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
2. โรคอ้วนทั้งตัว มีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ โดยไขมันที่เพิ่มขึ้นมิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ บางคนนอกจากเป็นโรคอ้วนทั้งตัวแล้วยังเป็นโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วย จะมีโรคแทรกซ้อนทุกอย่าง และโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวมาก ได้แก่ โรคไขข้อ ปวดข้อ ข้อเสื่อม ปวดหลัง ระบบหายใจทำงานติดขัด
เป็นโรคอ้วนหรือไม่ดูที่ BMI
ข้อมูลสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สามารถใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เพื่อการวินิจฉัย โรคอ้วนทั้งตัว และวัดเส้นรอบเอวเพื่อการวินิจฉัย โรคอ้วนลงพุง เพราะ BMI คือ ค่าความหนาของร่างกาย ใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนผอมในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งคำนวณได้จาก การใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังสูตรต่อไปนี้
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 เช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร = 50 / (1.5 x 1.5) = 22.22 จะมีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 นั่นเอง
นอกจากนี้ การวัดเส้นรอบเอว หรือเส้นรอบพุง (โดยทั่วไปจะวัดรอบเอว ตรงระดับสะดือพอดี) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการก่อโรค ผู้ชายต้องมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร ถ้าเส้นรอบเอวใหญ่เกินกว่าค่าดังกล่าวนี้แล้วก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ นั้นสูงขึ้น
โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้วัดภาวะอ้วน คือ BMI : Body Mass Index ดังนี้
ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ลงไป แสดงว่า มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5 - 24.9 แสดงว่า อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
ค่า BMI ตั้งแต่ 25.0 - 29.9 แสดงว่า มีน้ำหนักเกิน
ค่า BMI ตั้งแต่ 30.0 - 38.9 แสดงว่า อยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ
ค่า BMI ตั้งแต่ 40.0 ขึ้นไป แสดงว่า อยู่ในภาวะอ้วนอย่างมากและเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง
อันตรายจากโรคอ้วนในเด็ก
ด้านร่างกาย
- เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง
- เสี่ยงต่อภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ (นอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเรียน)
ด้านจิตใจ
- อาจโดนล้อหรือโดนรังแกเรื่องรูปลักษณ์
- อาจเกิดความเครียดหรือโรคทางจิตเวช
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
1. ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน อาจเริ่มจากฝึกทำงานบ้านง่ายๆ เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์
2. ควบคุมปริมาณอาหารของลูก หลีกเลี่ยงของทอด ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
3. ฝึกเข้านอนเป็นเวลา เนื่องจากการนอนดึกเป็นเหตุส่งเสริมโรคอ้วน
4. รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยเป็นประจำ
5. เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรงดการใช้หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ควรใช้เวลาภายใต้การกำกับของผู้ปกครอง
เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันทำให้เกิด โรคอ้วน ได้เพราะการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ บริโภคหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ใช้ชีวิตไม่สมดุล ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเกิน และส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น ส่วนที่คิดว่าโรคอ้วนมาจากพันธุกรรม ในทางการแพทย์ พบว่า อยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย
สิ่งที่ดีที่สุด คือ กินผัก ผลไม้ ให้ได้วันละ 400 กรัม มีกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้ร่างกาย เพราะความอ้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ไตวาย เก๊าท์ ตับแข็ง