"ตากุ้งยิง" หรือเพราะแอบดูใคร หลายคนเข้าใจแบบนี้ จริงๆ แล้วคือยังไงกันแน่
"ไปแอบดูอะไรไม่ดีมาหรือเปล่า" ความเข้าใจผิดๆ แบบนี้ น่าจะเหลือเพียงโจ๊กในโลกยุคดิจิทัล จริงๆ แล้ว "ตากุ้งยิง" คืออะไรยังไงกันแน่
เมื่อเกิด "ตากุ้งยิง" นอกจากจะทำให้เสียบุคลิกภาพ เพราะตาบวมแดงแล้ว บางคนยังอาจถูกแซวว่า "ไปแอบดูอะไรไม่ดีมาหรือเปล่า" ความเข้าใจผิดๆ แบบนี้ น่าจะเหลือเพียงโจ๊ก ล้อกันเล่นขำๆ แล้ว เพราะปัจจุบันนี่คือโลกยุคดิจิทัล ดังนั้น มารู้ไปพร้อมกันเลยว่าตากุ้งยิงเกิดจากอะไรกันแน่
"ตากุ้งยิง" คืออะไร
ตากุ้งยิง ภาษาอังกฤษคือ Stye หรือ Hordeolum โรคติดเชื้อที่บริเวณเปลือกตา ทำให้เกิดเป็นฝีหรือตุ่มหนองที่ขอบเปลือกตา ซึ่งอาจพบได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง
"ตากุ้งยิง" เกิดจากอะไร
โรคตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณเปลือกตา โดยบางรายอาจมีการอุดตันของต่อมไขมันหรือต่อมเหงื่อบริเวณเปลือกตานำมาก่อน แล้วเกิดการติดเชื้อซึ่งมีอยู่เป็นปกติในบริเวณนั้นตามมา หรือเมื่อมีเชื้อโรคเข้าไปจึงทำให้เกิดอาการอักเสบเป็นหัวหนองที่เปลือกตาบนหรือเปลือกตาล่าง
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยง "ตากุ้งยิง"
- ขยี้ตาบ่อย ๆ จนเปลือกตามีเชื้อแบคทีเรียหรือฝุ่นเกาะติดอยู่
- ล้างเครื่องสำอางออกไม่หมด
- ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด
- ใช้ผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาดเช็ดดวงตา
- เช็ดถูดวงตาด้วยเสื้อผ้าที่ใส่อยู่
- ล้างหน้าด้วยน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
- น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา
- ฝุ่นละอองในอากาศลอยเข้าดวงตา
"ตากุ้งยิง" ใครเสี่ยงเป็นมากที่สุด
ตากุ้งยิงเป็นโรคที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักจะพบในเด็กอายุ 4 - 10 ขวบได้บ่อย อาจเพราะเด็กวัยนี้ยังไม่รู้จักรักษาความสะอาดดีเท่าที่ควร เช่น อาจเล่นดินเล่นฝุ่นแล้วเอามือมาขยี้ตา เป็นต้น ทว่าในผู้ใหญ่ที่เป็นตากุ้งยิงบ่อยๆ อาจบ่งบอกได้ว่ามีปัญหาสุขภาพอื่นๆ แฝงอยู่ดังต่อไปนี้
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือตาเข ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเสี่ยงเป็นตากุ้งยิงบ่อย เพราะเปลือกตาต้องทำงานมากกว่าปกติ เช่น ต้องขยี้ตา หรี่ตา หรือเพ่งสายตามากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นได้ชัด
- สุขภาพทั่วไปไม่ดี เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ขาดอาหาร ฟันผุ ไซนัสอักเสบ อดนอน เป็นต้น
- ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำทำให้ติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เบาหวาน หรือกินยาสเตียรอยด์นานๆ เป็นต้น
อาการ "ตากุ้งยิง" เป็นอย่างไร
จะเป็นตุ่มบวมแดงหรือเป็นหนองที่เปลือกตา ระยะแรกจะมีอาการปวด บวม บางรายมีอาการบวมมากจนตาปิด หรือบางรายมีหนองไหลออกจากเปลือกตา และในกรณีที่หนองแตกในตาจะทำให้มีขี้ตาเป็นสีเขียว
แบ่ง "ตากุ้งยิง" ได้ 3 ประเภท
1. External hordeolum โรคตากุ้งยิงที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน ลักษณะเป็นตุ่มหนองที่บริเวณเปลือกตาด้านนอก มีอาการแดง เจ็บ ซึ่งเราอาจเรียกตากุ้งยิงชนิดหัวผุดก็ได้
2. Internal hordeolum โรคตากุ้งยิงที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาด้านใน จะพบเป็นตุ่มนูนแดง เจ็บ ซึ่งเราอาจเรียกตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน
3. Chalazion เป็นการอักเสบเรื้อรังของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ตากุ้งยิงจะมีลักษณะนูนแข็ง กดไม่เจ็บ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ตาเป็นซิสต์
เป็น "ตากุ้งยิง" ทำไงดี
หากรู้สึกว่าตัวเองเป็นตากุ้งยิง ให้ดูแลตัวเองเบื้องต้น ดังนี้
1. ล้างมือบ่อย ๆ
2. งดใช้เครื่องสำอาง
3. หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์
4. ไม่ควรบีบหนองออกเอง เพราะอาจทำให้อักเสบมากขึ้น
รักษา "ตากุ้งยิง" อย่างไร
เมื่อสงสัยว่าเริ่มเป็นตากุ้งยิงก็ควรรีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็ว เพราะในระยะแรกจะมีลักษณะเปลือกตาอักเสบ ยังไม่มีหนอง ถ้าได้ใช้ยาทันท่วงที และใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณที่เป็นวันละ 2 - 4 ครั้ง จะทำให้ไม่เกิดการรวมตัวเป็นฝีขึ้น กุ้งยิงก็จะหายได้โดยการใช้ยาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องผ่าฝี ทั้งนี้ การใช้ยาควรได้รับการตรวจตาและสั่งยาโดยแพทย์ โดยยาที่ใช้มักเป็นยาปฏิชีวนะหยอดตาป้ายตา และบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะรับประทานร่วมด้วย แต่ในรายที่เป็นฝีหรือตุ่มเป็นไตขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องทำการผ่าฝีและขูดบริเวณนั้นออกให้สะอาดจริงๆ ร่วมกับการใช้ยาเพื่อรักษาให้หายขาดและไม่ให้เป็นซ้ำอีก ในบางรายอาจเป็นซ้ำได้ถ้าหนองยังออกไม่หมด หรือการอักเสบยังไม่หายดี
วิธีดูแลตัวเองหลังเจาะกุ้งยิง
1. ปิดตาไว้อย่างน้อย 2 - 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นสามารถเปิดตาเองได้ ล้างหน้าได้ตามปกติ
2. หากมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวด ครั้งละ 1 - 2 เม็ด ทุก 4 - 6 ชั่วโมง
3. วันรุ่งขึ้นให้ประคบน้ำอุ่น โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น บิดให้หมาด แล้วประคบลงบนเปลือกตาข้างที่เป็นกุ้งยิงครั้งละ 10 - 15 นาที ในขณะที่ประคบให้หลับตาไว้ วิธีนี้จะช่วยลดอาการปวด บวม หรือช้ำได้
ง่ายนิดเดียว "ตากุ้งยิง" ป้องกันได้
1. ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตา ใบหน้า และเส้นผม โดยเฉพาะผู้หญิงควรต้องสระผมบ่อยๆ
2. ระวังอย่าให้ผมแยงตา
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณเปลือกตา หรือขยี้ตาบ่อย ๆ
4. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น
5. ล้างเครื่องสำอางให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณดวงตา
6. เมื่อสงสัยว่ามีอาการตากุ้งยิง ให้รีบมารักษากับแพทย์โดยเร็ว
พยายามอย่าใช้มือขยี้ตาหรือสัมผัสดวงตาบ่อยๆ รวมทั้งควรสวมใส่แว่นตาเมื่อต้องเผชิญกับกลุ่มควันและฝุ่นละออง เท่านี้ก็จะช่วยป้องกันได้แล้ว แต่หากใครเป็นตากุ้งยิงขึ้นมา ถ้าสามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้อย่างที่แนะนำไปในระยะที่อาการยังไม่รุนแรงมาก ตากุ้งยิงจะค่อยๆ ยุบลงภายใน 24 ชั่วโมง และเมื่อรักษาต่อไปอีก 3 - 4 วัน ฝีก็จะค่อย ๆ ยุบหายไปเอง
ข้อมูล : หมอชาวบ้าน