ข่าว

รู้จัก "ฝนกรด" ภัยใกล้ตัว จากน้ำมือมนุษย์

รู้จัก "ฝนกรด" ภัยใกล้ตัว จากน้ำมือมนุษย์

06 ก.ค. 2564

"ฝนกรด" ภัยใกล้ตัว กับสสารอันตราย จากน้ำมือมนุษย์ หรือภัยทางธรรมชาติ

"ฝนกรด" (Acid Rain) คืออะไร หลายคนอาจสงสัยว่า เจ้า "ฝนกรด" นี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้เราจึงมาหาคำตอบกันว่า สาเหตุที่ทำให้เจ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น ต้นเหตุมาจากอะไร

 

รู้จัก \"ฝนกรด\" ภัยใกล้ตัว จากน้ำมือมนุษย์

 

 

ปรากฏการณ์ "ฝนกรด" คือ การลดลงของค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือค่า pH ของน้ำฝนในธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติแล้ว น้ำฝนมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ โดยมีค่า pH อยู่ที่ราว 5.6 แต่เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้ค่า pH ของน้ำฝนลดต่ำลงกว่าปกติ และในบางพื้นที่ หากมีมลพิษทางอากาศสูง อย่างเช่น ปล่อยก๊าซที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ ก็ยิ่งทำให้น้ำฝน อาจมีค่า pH อยู่ในช่วง 4.2 ถึง 4.4 เลยทีเดียว

 

ปรากฏการณ์ "ฝนกรด" เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของน้ำฝน และก๊าซออกไซด์ของโลหะบางชนิดในอากาศ ซึ่งในธรรมชาติ เมื่อเกิดการระเบิดของภูเขาไฟ หรือ เกิดไฟป่า มักเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทำให้ฝนที่ตกลงมาในช่วงเวลานั้น มีฤทธิ์เป็นกรดมากกว่าน้ำฝนปกติ แต่ปรากฏการณ์ฝนกรดในธรรมชาติ เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก

 

ในทางตรงกันข้าม ปรากฏการณ์ "ฝนกรด" ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหินในอุตสาหกรรมไฟฟ้า การปล่อยควันพิษ และของเสียจากโรงงานต่างๆ รวมไปถึงมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ รวมทั้งเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานสารเคมีต่างๆ

 

เมื่อควันไฟที่ประกอบไปด้วยสารพิษต่างๆ ลอยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ กระบวนการทางเคมีของฝนกรดก็เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการทำปฏิกิริยาระหว่างไอน้ำ ออกซิเจน และสสารต่างๆในอากาศ กับก๊าซออกไซด์ของโลหะบางชนิด เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ก่อให้เกิดกรดซัลฟูริก , กรดไนตริก และสารพิษอื่นๆ ที่เข้ามาปนเปื้อนอยู่ในน้ำฝน หรือ หิมะ และหมอก

 

และการรวมตัวของกรดซัลฟูริก หรือ กรดไนตริก กับเมฆบนท้องฟ้า ซึ่งส่งผลให้น้ำฝน หรือ หิมะ ที่ตกลงสู่พื้นโลก มีฤทธิ์เป็นกรด โดยอนุภาคเหล่านี้สามารถเคลื่อนที่ไปตามแรงลม ได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร ก่อนตกลงสู่พื้นดิน แหล่งน้ำ หรือสะสมอยู่ตามต้นไม้ อาคาร และสิ่งก่อสร้าง

 

ส่วนผลกระทบจากปรากฏการณ์ฝนกรดที่เกิดกับมนุษย์ สามารถสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงระบบทางเดินอาหาร เพราะหากบริโภคน้ำฝนที่เพิ่งตกลงมาใหม่ ๆ อาจเสี่ยงต่อการดื่มน้ำที่มีสภาวะเป็นกรดและมีสารพิษปนเปื้อน 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล /  คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ

ข้อมูลอ้างอิง

กรมวิทยาศาสตร์บริการ

กรมควบคุมมลพิษ

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

National Geographic