ข่าว

ปกป้อง "ลูกน้อย" จาก 4 โรคที่มากับหน้าฝน ร้ายสุด เสียชีวิตลงได้

ปกป้อง "ลูกน้อย" จาก 4 โรคที่มากับหน้าฝน ร้ายสุด เสียชีวิตลงได้

06 ก.ค. 2564

4 โรคที่มากับหน้าฝน ร้ายสุด เสียชีวิตลงได้ ปกป้อง "ลูกน้อย" รู้จักโรค สาเหตุ อาการ การรักษาและป้องกัน ก่อนจะสายไป

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ เข้าสู่ฤดูฝน 15 พฤษภาคม 2564 โดยปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่แล้ว และมากกว่าค่าปกติ 5 - 10% โดยปัญหาที่ตามมาเมื่อฝนตกนอกจากการตากผ้าไม่แห้ง อับชื้น แล้วสิ่งที่น่ากลัวคงไม่พ้น 4 โรค RSV โรคมือเท้าปาก ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ที่อาจจะเกิดกับ "ลูกน้อย" ของเรา ต้องระวังปกป้องให้ดี

RSV หรือชื่อทางการแพทย์ คือ Respiratory Syncytial Virus

  • RSV ดูเผินๆ ก็เหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่เราไม่สามารถปล่อย "ลูกน้อย" ให้หายเองได้เหมือนไข้หวัด เพราะปอดและหลอดลมจะติดเชื้อ ร้ายสุด คือ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตลงได้
  • สาเหตุการเกิดโรค : RSV เป็นเชื้อไวรัส สามารถติดต่อได้ทางการสัมผัส สารคัดหลั่งต่าง ๆ หรือแม้แต่การจาม ก็ทำให้ติดเชื้อได้แล้ว
  • อาการของโรค : เริ่มแรกคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีน้ำมูก ไอหรือไออย่างหนักจนอาเจียน จาม มีไข้ แต่ไข้อาจจะสูงถึง 39 - 40 องศาฯ ได้เลยทีเดียวหากปล่อยไว้นาน หายใจลำบากและมีเสียงวี้ด ปากซีดเขียวในบางราย
  • การรักษาและป้องกัน : ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่สามารถรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ลดน้ำมูก พ่นยาขยายหลอดลม ซึ่งใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 - 2 สัปดาห์
  • ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันไวรัส RSV รวมถึงไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เมื่อเด็กได้รับไวรัสต้องรักษาตามอาการ
  • การป้องกันการติดเชื้อ RSV คือ การล้างมือให้เด็กเล็กบ่อย ๆ และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กก็ต้องล้างมือบ่อย ๆ เช่นกัน และเมื่อมีเด็กป่วยให้แยกเด็กและแยกเครื่องใช้ของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค

 

โรคมือเท้าปาก

  • โรคนี้มาจากกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ผู้ป่วยที่พบมักอยู่ในวัยอนุบาล โดยเชื้อใช้ระยะเวลา 3 - 7 วัน
  • สาเหตุการเกิดโรค : เชื้อไวรัสสามารถติดได้ทางสารคัดหลั่งเช่น ละอองน้ำลายจากการไอ จาม น้ำมูก และสัมผัสแผล หรือ การดื่ม กิน อาหาร เครื่องดื่ม ที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่
  • อาการของโรค : มีไข้ น้ำมุก อาการคล้ายหวัด แต่จะมีแผลที่ปาก เบื่ออาหาร และเมื่อทิ้งเชื้อไว้ 3 - 7 วัน จะเริ่มมีผื่น ตุ่มแดง ตามมือ ขา และเท้า
  • การรักษาและป้องกัน : โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน สิ่งที่เราสามารถป้องกัน "ลูกน้อย" จากโรคนี้คือ การให้เด็กรู้จักการล้างมืออย่างถูกวิธี ทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสได้ หรือหากได้รับเชื้อแล้ว ต้องนำไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อเฝ้าระวังและรักษาตามอาการต่อไป

 

ไข้เลือดออก

  • เมื่อฝนตกหนัก ย่อมเกิดน้ำท่วมขังกลายเป็นเพาะพันธุ์ของเหล่ายุงตัวร้ายและโรคที่มากับยุง เช่น ไข้เลือดออก เป็นต้น
  • สาเหตุการเกิดโรค : การที่แหล่งน้ำใกล้ตัวท่วมขังและมีการแพร่พันธุ์ของยุง หรือลูกน้อยของเราได้รับเชื้อจากการยุงลาย
  • อาการของโรค : อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว บางรายมีไข้สูงเฉียบพลัน ไอ จาม มีน้ำมูก เลือดออกตามผิวหนัง หรือตามไรฟัน เลือดกำเดา เป็นต้น
  • การรักษาและป้องกัน : ไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขังเพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หาก "ลูกน้อย" ได้รับเชื้อแล้วควรพาไปพบแพทย์ แม้จะยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง แต่เราสามารถรักษาตามอาการและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดก็สามารถหายจากโรคไข้เลือดออกได้

 

ไข้หวัดใหญ่

  • ความจริงแล้วไข้หวัดใหญ่นั้นไม่ได้มีเฉพาะในหน้าฝนเท่านั้น โรคนี้ใคร ๆ ก็เป็นได้ หากร่างกายอ่อนแอ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซ้ำแล้วไข้หวัดใหญ่วิวัฒนาการตัวเองเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ออกมาได้เรื่อย ๆ อีกด้วย
  • สาเหตุการเกิดโรค : ไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราด้วยการดื่ม หรือ กินอาหารที่มีการปนเผื้อนของเชื้อไวรัสนี้ นอกจากนี้ การรับเชื้อจากละอองน้ำมูก การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน
  • อาการของโรค : อาการของไข้หวัดใหญ่นั้น ช่วงแรกจะคล้ายกับโรคไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีไข้สูงกว่า บางรายที่ไข้สูงเฉียบพลัน อาจจะทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
  • การรักษาและป้องกัน : การป้องกัน "ลูกน้อย" จากโรคไข้หวัดใหญ่นี้ สามารถทำได้โดยการล้างมือบ่อย ๆ ระมัดระวังการสัมผัสสิ่ง ๆ ต่างที่อาจนำเชื้อเข้าร่างกายได้ หากได้รับเชื้อแล้ว ควรเฝ้าระวังไข้ที่สูงผิดปกติ และควรบุตรหลานพบแพทย์โดยด่วน เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ด้วย

 

RSV, โรคมือเท้าปาก, ไข้เลือดออก, ไข้หวัดใหญ่, ลูกน้อย

ข้อมูล : โรงพยาบาลเปาโล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง