ข่าว

"ตะคริว"สัญญาณผิดปกติร่างกาย

"ตะคริว"สัญญาณผิดปกติร่างกาย

13 ก.ค. 2564

จู่ ๆน่องก็ปวดตึงเป็น"ตะคริว"ขึ้นมาและเราแก้ไขปัญหาด้วยการบีบ ๆ นวด โดยไม่ได้ใส่ใจกับมันมากนัก พอ"ตะคริว"คลายตัว ก็เลิกสนใจมัน แต่รู้หรือไม่ว่าอาการ"ตะคริว" เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติในร่างกายเกิดขึ้น

ปวดแบบไหน…เรียกว่า “ตะคริว”

 

"ตะคริวคืออาการหดเกร็งที่ทำให้กล้ามเนื้อปวดและเป็นก้อนแข็งซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่เราไม่สามารถบังคับได้  มีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็งซึ่งจะเป็นเพียงแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ทิ้งเวลาไว้สักครู่อาการก็จะดีขึ้น

 

"ตะคริว"อาจแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
 1. แบบ tonic เป็นชนิดที่พบได้บ่อย  กล้ามเนื้อจะมีการเกร็งอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  
 2. แบบ clonic กล้ามเนื้อจะมีการหดตัวสลับกับการคลายตัวเป็นช่วงสั้น ๆ สลับกันไปอย่างรวดเร็ว

สาเหตุที่ทำให้เกิด"ตะคริว"

 

ถึงแม้ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด"ตะคริว"แต่ก็พอบอกคร่าว ๆ ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิด"ตะคริว"

 

1.การดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ

 

2.ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ อาจเป็น"ตะคริว"ได้บ่อย

 

3. ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุลโดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม ได้แก่ ท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมาก หรือรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรง 

 

4.กล้ามเนื้ออ่อนล้าหรืออ่อนแรงจากการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานานหรือการทำงานหนัก จะทำให้เกิด"ตะคริว"ได้บ่อย

 

5.หญิงตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำหรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก

 

6.กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย

 

7.การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้ออาจเกิดจากการกระแทกทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ

 

8.การนอน นั่ง หรือยืนในท่าที่ไม่สะดวกนาน ๆ ก็ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวกและเกิด"ตะคริว"ได้เช่นกัน

 

9.กล้ามเนื้อขาดเลือด หากออกกำลังกายอย่างหนักโดยที่ไม่ได้วอร์มอัพ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ

 

10.ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดตีบตัน เช่น ผู้สูงอายุอาจเป็น"ตะคริว"ขณะที่เดินนาน ๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี

 

หากคุณออกกำลังกาย

 

-ก่อนออกกำลังกายควรมีการยืดกล้ามเนื้อก่อนทุกครั้ง อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ สังเกตง่าย ๆ คือ ดูสีน้ำปัสสาวะถ้ายังเข้มเหลือง โอกาสที่คุณลงเล่นกีฬาอะไรก็ตามจะเป็น"ตะคริว"มีสูง
 

-อย่าใช้อะไรรัดให้แน่นมากไป เช่น ใส่กางเกงขารัดมากไป เลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ


-สูดหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

หากเกิด“ตะคริว”ระหว่างนอนหลับ

 

ส่วนคนที่มักจะเป็น"ตะคริว"ระหว่างหลับ ควรนอนในท่าที่ผ่อนคลาย อย่าให้กล้ามเนื้อตึงและควรจะห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น

 

และหากเกิดอาการเป็น"ตะคริว"ขึ้นมาในตอนกลางคืนหรือในขณะที่นอนให้คุณยืดกล้ามเนื้อขาโดยยืดขาให้ตรง กระดกปลายเท้าขึ้นค้างไว้ 5 วิ ทำแบบนี้ 5-10 ครั้ง แล้วนวดกล้ามเนื้อขาเป็นวงกลมจนกว่าจะหาย

 

และถ้าหากคุณมักจะเป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อย ๆ ก็ควรดื่มนมก่อนนอนเพื่อเพิ่มแคลเซียมให้กับร่างกายและยกขาให้สูงโดยใช้หมอนรองขาให้ขาสูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 4 นิ้วพร้อมทั้งฝึกยึดกล้ามเนื้อมัดที่เกิดตะคริวบ่อย ๆ

 

นอกจากนี้ก็ควรที่จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอเพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่ขาดการออกกำลังกายและมีร่างกายที่อ่อนแอ