ลด "ความเครียดสะสม" ด้วย 4 เทคนิคง่ายๆ มาเป็นตัวช่วย
4 เทคนิคง่ายๆ จะช่วยให้เราสำรวจใจและฝึกฝนทักษะสร้างภูมิคุ้มใจต่อความเครียดต่างๆ ในชีวิต จนกลายเป็น"ความเครียดสะสม"ได้ จากสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19
เมื่อโควิด-19 ยังอยู่กับมวลมนุษยชาติไปอีกยาวนานหลายปี การเกาะติดข่าวทุกความเคลื่อนไหวจากทุกมุมโลก ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล กลายเป็นความเครียดสะสม ได้
แต่เราไม่ควรปล่อยให้ความเครียดสะสม เกาะกิจจิตยาวนานนัก เพราะความเครียดเป็นอาการอันโอชะของโรคมะเร็ง "คมชัดลึกออนไลน์" รวบรวมเทคนิคหรือทริกง่ายๆเป็นตัวช่วยลดความเครียดสะสม
เทคนิคที่ 1 การจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสม
การเข้าจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสมเมื่อไม่สบายใจเป็นสิ่งที่ควรถูกสำรวจและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ การเผชิญกับปัญหา คือ การรับรู้และประเมินสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และให้เข้าใจเสมอว่าเราแก้ไขได้ด้วยต้นทุนทางปัญญาที่เรามี เทคนิคนี้แบ่งย่อยเป็น 2 วิธี ที่สามารถเลือกใช้ได้ คือ
เผชิญปัญหาแบบมุ่งไปที่จัดการกับปัญหา (Problem-focused Coping)
ความพยายามจัดการปัญหาโดยตรงไปที่เหตุของปัญหา เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง วางแผนและตั้งเป้าหมายในการแก้ปัญหา พร้อมใช้ประสบการณ์ชีวิตประกอบการพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม จากนั้นก็ลงมือแก้ไข ในข้อนี้ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเราด้วย
เผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับอารมณ์ (Emotion-focused Coping)
สำหรับสถานการณ์ที่เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอะไรได้ ให้เรากลับมาควบคุมอารมณ์ คลี่คลายความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าอารมณ์กลัว โกรธ เศร้า คับข้องใจ วิธีที่ทำได้เพื่อระบายอารมณ์ เช่น การบอกให้ใครสักคนได้รับฟังความรู้สึกที่เรามี
เทคนิคที่ 2 ฟื้นพลัง (Resilience)
ความสามารถในการฟื้นพลังคือแนวคิดที่เห็นว่าทุกคนล้มแล้วลุกขึ้นได้เสมอ ทุกชีวิตต้องประสบปัญหาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เราเองก็เช่นกัน ความสามารถในการฟื้นพลังเป็นเสมือนไม้ค้ำยันให้เราลุกยืนขึ้นอีกครั้งหนึ่งและก้าวผ่านปัญหานั้นๆ ไปได้ในที่สุด
เทคนิคนี้ประกอบด้วย 3 แนวคิดสำคัญ ได้แก่
I Have
การตระหนักรู้ในสิ่งที่ตนมีอยู่โดยหันกลับไปมองว่าเรามีอะไรและมีใครที่เป็นที่พึ่งหรือขอความช่วยเหลือได้ มีใครที่เข้าใจและเห็นคุณค่าในตัวเรา เป็นที่พึ่งทางใจให้เราได้ เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน และคนรัก
I Am
การยอมรับคุณค่าในตัวเอง มองเห็นจุดแข็งหรือศักยภาพตนเอง เช่น ความซื่อสัตย์ ความอดทน ตระหนักในความสำคัญของการดำรงอยู่ของตน คุณค่าของตนต่อคนรอบข้าง
I Can
การรับรู้ความสามารถของตน ความสามารถที่จะคิด กระทำ พูดคุยหรือซักถามเพื่อจัดการกับปัญหาให้ลุล่วง รวมทั้งการร้องขอความช่วยเหลือและเชื่อว่าตนจะผ่านพ้นปัญหาได้ในที่สุด
ความสามารถนี้ถือเป็นทักษะสำคัญต่อการก้าวพ้นปัญหายากๆ และยังหมายถึงความสามารถที่จะกลับไปเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วย
เทคนิคที่ 3 เมตตากับตัวเอง (Self-compassion)
ความเมตตาต่อตนเองคือทัศนะใหม่ที่ทุกคนพึงมี มองตัวเองโดยไม่ตัดสินถูกหรือผิด ดีหรือไม่ ได้หรือไม่ได้ เทคนิคนี้ชี้แนะให้เรายอมรับหรือเห็นคุณค่าในตัวเองเช่นเดียวกับที่เห็นคุณค่าของคนอื่น อาจเรียกว่าใจดีกับตัวเองเหมือนที่เราใจดีกับผู้อื่น
ไม่โบยตีตนเองเมื่อเกิดความผิดพลาดหรือผิดหวัง รู้จักให้อภัยตัวเองบ้าง และมองเห็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับเราก็อาจเกิดขึ้นกับคนอื่นได้
เทคนิคที่ 4 ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ (Gratitude)
ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ ถือเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ควรฝึกฝน โดยแต่ละวัน เราอาจทดลองมองสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งเหล่านั้นที่ช่วยให้เรารู้สึกสุขได้แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ไม่ว่าสิ่งต่างๆจะเป็นผู้คน สัตว์เลี้ยง ข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งข้าวปลาอาหาร ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรารถนาให้ปรากฏกับตัวเราคือความรู้สึกบวกในจิตใจ กำลังใจ ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังความสัมพันธ์กับผู้อื่น
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า เป็นเพียงสถานการณ์ภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ขืนกังวลไปก็รังแต่จะทำให้จิตตก หมดแรง หมดกำลังจะรับมือกับปัญหาอื่นๆในชีวิต
ใครที่เริ่มรู้ตัวว่าเครียดและกำลังจะกลายเป็นความเครียดสะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็อาจทดลองปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น เช่น ยุติกิจกรรมที่ทำอยู่ตรงหน้า ลองขยับปรับเปลี่ยนอิริยาบถ พักความคิดไว้ชั่วขณะแล้วลองออกไปทำกิจกรรมอื่นที่ผ่อนคลายกว่า
ขอให้เราถอยห่างจากสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีต่อการบรรเทาความเครียด และจะเป็นตัวช่วยลดความเครียดสะสมที่อาจจะเกิดในอนาคตได้
ที่มาข้อมูล:ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ลดความเครียด"ด้วยการกิน กับเมนู14 ชนิด
ส่อง 4อาชีพ "สายแพทย์ทางเลือก" ใหม่ที่มาแรง
รู้ไว้ "5 สารอาหาร" เสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย ตัวช่วยให้ห่างไกลไวรัส
"นอนไม่หลับ"เสียงบำบัดตัวช่วยเพื่อผ่อนคลาย