"สะทอน" ของดีเมืองเลย น้ำปรุงรสภูมิปัญญาชาวบ้าน อ.ด่านซ้าย
"สะทอน" พันธุ์ไม้ท้องถิ่น ที่พบมากใน พื้นที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ชาวบ้านนิยมนำมาต้มเพื่อนำน้ำสะทอน เป็นน้ำปรุงรส ภูมิปัญญาชาวบ้าน แทนน้ำปลาช่วยลดปัญหาสุขภาพจากโรคไต
ชื่อของผัก สะทอน อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันมากนัก แต่ถ้าไปทางแถบอิสาน โดยเฉพาะ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จะรู้จัก สะทอน เป็นอย่างดี เพราะเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ที่นำมาแปรรูปเป็นน้ำปรุงรสอาหารได้เป็นอย่างดี เพราะใน 1 ปี จะมีช่วงที่ชาวบ้านเก็บใบ สะทอน มาแปรรูปเป็นน้ำสะทอนได้ ปีละครั้งเท่านั้น
เรามาทำความรู้จัก "สะทอน" พันธุ์ไม้ท้องถิ่น เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดไม้ยืนต้น มักจะขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามป่าเชิงเขาที่อุดมสมบูรณ์บริเวณเชิงเขา และสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและปักชำ รากและใบ ของ สะทอน มีสรรพคุณทางยา ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืดและลดไข้
ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน ชาวบ้านจะนำใบของต้น สะทอนที่แตกใบอ่อนหมักในน้ำสะอาด ก่อนนำไปต้ม เคี่ยวจนได้น้ำ สะทอน ที่มีสีน้ำตาลไหม้ มีความหอม หวาน เค็ม ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ชาวบ้านใช้น้ำ สะทอน ในการปรุงอาหารแทนน้ำปลา หรือน้ำปลาร้า
สะทอน แบ่งเป็น 3 สายพันธุ์ คือ สะทอนจั่น สะทอนจาน และ สะทอนวัว ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ เมื่อนำมาหมัก จะได้น้ำสะทอนที่มีสี และรสชาติที่ต่างกัน
สะทอนจั่น สีของน้ำมีสีดำเข้ม รสชาติขม เค็ม หวานเล็กน้อย
สะทอนวัว สีของน้ำมีสีน้ำตาล ออกไปทางสีแดง รสชาติหวาน หอม จืด
สะทอนจาม สีของน้ำมีสีน้ำตาลเข้มออกไปทางสีน้ำตาลไหม้ รสชาติหอม หวาน เค็ม
ใบสะทอน ไม่ว่าจะใบอ่อน หรือ แก่ ใช้ต้มเป็นน้ำผักสะทอนได้ และยังเก็บไว้ทำอาหารแทนน้ำปลร้าได้ตลอดทั้งปี
สำหรับขั้นตอนในการผลิตน้ำ สะทอน ซึ่งจะสามารถทำได้ในในช่วง เดือนมีนาคม - เมษายน ของทุกปี ที่ต้น สะทอน จะแตกใบอ่อน ชาวบ้านจะเก็บใบสะทอน ที่เป็นใบอ่อน จากนั้นมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับน้ำหมัก ในภาชนะ เป็นเวลา 3-4 วัน โดยระหว่างนี้ ต้องหมั่นกลับสะทอนตลอดเวลาที่หมัก และเมื่อครบเวลา ซึ่งไม่ควรเกิน 4 วัน ให้นำสะทอน ขึ้นมาแยกกาก โดยปั่นสะทอนให้เป็นก้อน กรอง เอาแต่น้ำสะทอน จากนั้น นำน้ำสะทอนตั้งไฟเคี่ยวจนมีสีน้ำตาลเข้ม พักน้ำสะทอนให้เย็นตัวลงก่อนที่จะกรองด้วยผ้าขาวบาง เก็บในภาชนะปิดฝาเพื่อใช้เป็นน้ำปรุงรสจากผักสะทอน ได้ตลอดทั้งปี
ขอบคุณข้อมูล https://tis.dasta.or.th
ชุมชนคนรักษ์พรรณไม้