8 ทริก "ลูกกินนมแม่" อย่างไรให้ปลอดภัย
"ลูกกินนมแม่" ไม่เพียงแต่ทารกแรกเกิดได้รับสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เท่านั้น แต่ระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการสื่อสารภาษากาย ด้วยการโอบกอดลูกน้อยแนบอกแม่ เพิ่มความรักความอบอุ่นของแม่และลูกดีนักแล
จากสถานการณ์การ แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหรือ "ลูกกินนมแม่" 6 เดือน เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งขึ้น จากความสมบูรณ์ของสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด
ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเด็กทารก และสร้างภูมิคุ้มกันโรค และแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ในทุกสถานการณ์ โดยก่อนการให้ "ลูกกินนมแม่" ทุกครั้งมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
8 ทริก "ลูกกินนมแม่" อย่างไรให้ปลอดภัย
1.เช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนม
2.ล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที ก่อนให้นม
3.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ให้นมลูก
4.แม่ผู้เข้าข่ายติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ยังให้นมลูกได้
5.แม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มาก ให้นมจากเต้าได้ แต่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี และห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปาก รวมถึงการหอมแก้มลูก
ทั้งนี้ ควรให้คุณแม่และครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หากคุณแม่ไม่สะดวกที่จะให้นมจากเต้า แต่ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมได้
6.ควรให้พ่อหรือผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูกแทน โดยผู้ช่วยจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มีทักษะในการให้นมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด
7.ในกรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง แนะนำงดให้นมลูก และอาจบีบน้ำนมทิ้งไปก่อน เพื่อให้แม่คงสภาพที่สามารถให้นมลูกได้เมื่ออาการดีขึ้น
8.แม่หลังคลอดให้นมลูก ควรไปฉีดวัคซินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งภูมิคุ้มกัน ที่เกิดขึ้นในแม่ยังสามารถส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือ "ลูกกินนมแม่" เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น สำหรับประเทศไทยแล้วมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนส่งเสริมและสนับสนุนให้"ลูกกินนมแม่"
โดยเหฉาะหน่วยงานของรัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่ อย่างต่อเนื่อง ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ กินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่ เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต
และ "ลูกกินนมแม่" ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือ นานกว่านั้น โดยตั้งเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขไว้ว่าในปี 2568 ทารก ร้อยละ 50 จะได้เด็กกินนมแม่ อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก
ความเป็นจริงจากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2562 (MICS 6) พบว่ามีทารกไทยเพียงร้อยละ 34 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ของชีวิต และยังมีทารกเพียงร้อยละ 15 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันสนับสนุนและปกป้องให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ตามสิทธิของเด็กเพื่ออนาคตของประเทศไทย
ข้อมูล : กรมอนามัย