ข่าว

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชี้ กัญชาเพื่อการแพทย์ประโยชน์ผู้ป่วย

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชี้ กัญชาเพื่อการแพทย์ประโยชน์ผู้ป่วย

26 ก.ย. 2561

คลิปภาพข่าวโดย...มานิตย์ สนับบุญ

 

               26 ก.ย. 61  ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี รายงานว่า หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด การพิจารณาเนื้อหาการถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 เพื่อใช้ทางการแพทย์เท่านั้น โดยล่าสุดเตรียมล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมายตามเนื้อหาให้เสร็จในสัปดาห์นี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยอีกจำนวนมาก

 

 

 

               ภญ.ดร.สุภาพร ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้บุกเบิกและพัฒนาวงการสมุนไพรไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “เป็นสิ่งที่โชคดีที่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังมีความพยายามที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติด ซึ่งเรื่องของกัญชาเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่น่าทันเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด แต่ก็มีความพยายามของ สนช. กลุ่มหนึ่ง ซึ่งขอบคุณอย่างมากที่จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายเล็กๆ เป็น พ.ร.บ.กัญชา โดยเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์ เป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมรอคอย

               ตนเองในฐานะคนที่ทำงานด้านสมุนไพร ก็รอเสมอว่าเมื่อไรที่ประเทศไทยจะมียาดีๆ เราผลิตสารเคมีแต่ไม่มีโรงงานผลิตสารเคมี แต่เรามีพืชที่ผลิตสารเคมีเก่งๆ เสมือนโรงงานที่มีประสิทธิภาพ ถ้าเราใช้อย่างเหมาะสม เราจะประหยัดค่ายาไปมากมายมหาศาล ซึ่งก็เป็นความหวังว่า ถ้าเกิดว่า พ.ร.บ.กัญชา ออกมา ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถจะมียาจากสมุนไพร มีสารเคมีที่ปลูกในบ้านเรา

               บ้านเราเองมีสายพันธุ์กัญชา มีแสงแดดที่เพียงพอ ต้นทุนการผลิตจะถูกกว่า ฮอลันดา , อเมริกา ที่ปัจจุบันเขามีการวิจัยพัฒนายาต้านมะเร็งจากกัญชา แต่ว่าบ้านเรายังไม่ได้เริ่มต้น ทั้งที่ กัญชา เป็นชื่อที่ตระกูลไทเรียกเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นไทย ในรัฐอัสสัม , ไทยใหญ่ , ไทยพาเจในอินเดีย ซึ่งเหล่านี้ก็เรียก กัญชา ว่า “กัญชา”

 

 

 

               แสดงว่ากัญชาคู่เผ่าพันธุ์ไทยมานาน เรารู้จักใช้ว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ อย่างมาใส่หม้อต้มแกง ก็ทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และไม่เป็นพิษอะไร เพราะสารในกัญชาละลายในน้ำมัน ละลายน้ำได้ปริมาณเล็กน้อย ไม่มีผลอะไร

               และเรื่องการนำกัญชามาเป็นยา ในตำรับยามีมากมาย อย่างน้อยยานอนหลับ การนอนหลับก็เป็นปัญหาของคนในสังคมปัจจุบัน กัญชา สมอเทศ รากชะพลู เป็นส่วนผสมที่คนสมัยก่อนเอามาต้มกินเป็นยานอนหลับ

               ประโยชน์ของกัญชามีตั้งแต่ ยาต้านมะเร็ง , ยาแก้ปวด , ต้านอาเจียน , ทำให้หลับสบาย ช่วยการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เป็นประโยชน์ของกัญชา รวมถึงการติดเชื้อที่ทำให้เกิดท้องเสียด้วย

               เพราะฉะนั้น การที่จะมี พ.ร.บ.กัญชา เพื่อพัฒนาเป็นยาทางการแพทย์ ที่มีความพยายามจะผลักดันให้ทันสภาฯ ในชุดนี้ เราเองขอให้กำลังใจ และฝากความหวังไว้ เพราะว่ากัญชาคือ อิสรภาพทางยาในระดับหนึ่งทีเดียว เพราะว่ายาต้านมะเร็งที่ติดสิทธิบัตรแพงมาก เป็นหมื่นๆ ล้านบาท ถ้าเกิดเราสามารถจะพัฒนายาจากกัญชาได้ เราก็หวังว่าจะช่วยประเทศชาติได้อย่างมหาศาล จะทำให้มียาเกิดขึ้นในประเทศ รวมถึงยาในตำรับสมุนไพรแผนไทยด้วย หวังว่าอีกไม่นานเราจะมีกัญชาใช้ทางการแพทย์” ภญ.ดร.สุภาพร กล่าว

               ภญ.ดร.สุภาพร กล่าวต่อไปว่า “ที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เราได้มีการศึกษาค้นคว้าว่าคนสมัยก่อนใช้ประโยชน์จากกัญชาอะไรบ้าง และปัจจุบันมีการใช้กัญชาอย่างไรบ้าง ทั้งในระดับการเป็นอาหาร เช่น ในช็อกโกแลต เพื่อผ่านการผ่อนคลาย รวมไปถึงพัฒนาศึกษาขึ้นเป็นยา เราก็ติดตามความก้าวหน้าในต่างประเทศ ซึ่งก็จะเห็นว่าในแคนาดาที่มีแต่หิมะ เขาก็สามารถควบคุมปัจจัยการผลิต การผลิตกัญชาให้มีอัลคาลอยในสิ่งที่ตนเองต้องการได้ มีการศึกษาวิจัยพัฒนาตั้งแต่ศึกษาพันธุ์ วิธีการปลูก เกิดสาระสำคัญ สกัดสาร ปริมาณที่ใช้ การใช้ในโรคต่างๆ รวมไปถึงการปรับปรุงโครงสร้างของสารในกัญชาเพื่อลดอาการข้างเคียง

 

 

 

               เราต้องตามเขาว่าเขาทำอะไรบ้าง จึงเห็นได้ว่าเราหาวิธีใช้ประโยชน์ต่อยอดใช้งานวิจัยร่วมกันได้ หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะเป็นส่วนหนึ่ง เป็นผู้กอบกู้การใช้ประโยชน์จากกัญชากลับมา”

               ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ในทางการแพทย์ กัญชา มีประโยชน์ในการรักษาโรคและบรรเทาอาการได้หลากหลาย แก้อาการไอ อ่อนล้า โรคข้อ กัญชาใช้บรรเทาหอบหืด เพราะขยายหลอดลมและลดการหดตัวของหลอดลม แก้อาการสั่นเพ้อ ปวดหัวไมเกรน และปวดประจำเดือน แม้การใช้จะลดลงเมื่อมีการสังเคราะห์ยากล่อมประสาท และยาแก้ปวดอื่น หรือกระทั่งโรคมะเร็ง กัญชาก็ยังถูกนำมาใช้เพื่อรักษาผลข้างเคียง ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด ใช้เป็นสารกระตุ้นความอยากอาหาร กัญชาจะช่วยชะลอน้ำหนักลดในโรคมะเร็ง และโรคเอดส์ หรือการใช้รักษาโรคต้อหิน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสรรพคุณพืชกัญชา

               กัญชา จัดเป็นพืชล้มลุกประเภทหญ้า ขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2 - 4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5 - 8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลัง ที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบ และยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้ง แล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ

 

 

 

               จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยวหรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบ นอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้ว ยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้ง จึงได้เป็นนำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20 - 60 % หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบ และยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประมาณ 4 - 8 %

               สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในกัญชามีหลายชนิด แต่สารที่สำคัญที่สุดที่มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ THC ที่มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา สาร THC นี้ในเบื้องต้นจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพตื่นเต้น ช่างพูด และหัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะกดประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อนๆ เซื่องซึม และง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆ จะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้

 

 

 

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชี้ กัญชาเพื่อการแพทย์ประโยชน์ผู้ป่วย

 

 

 

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชี้ กัญชาเพื่อการแพทย์ประโยชน์ผู้ป่วย