ข่าว

ชาวบ้านนำฟางข้าวมาสานเป็น เฒ่าตาปุ๊ก

ชาวบ้านนำฟางข้าวมาสานเป็น เฒ่าตาปุ๊ก

28 พ.ย. 2562

ภูมิปัญญาชาวบ้านหลังเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งนำฟางข้าวมาสานเป็นเฒ่าตาปุ๊กตามความเชื่อมาแต่โบราณให้ช่วยเฝ้าข้าวในยุ้งฉาง

 

 

                         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากผ่านพ้นฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี นำข้าวที่ตากผึ่งแดดจนแห้งได้ที่แล้วนำข้าวขึ้นเก็บในยุ้งฉาง วิธีการตามความเชื่อต่อมาคือการนำฟางข้าวมาสานเป็นลักษณะคล้ายคนนั่งขัดสมาธิซึ่งชาวบ้านจะเรียกกันมาเฒ่าตาปุ๊ก ในการให้ช่วยเฝ้าข้าวในยุ้งฉาง

 

ชาวบ้านนำฟางข้าวมาสานเป็น เฒ่าตาปุ๊ก

ซึ่งจากการลงพื้นที่พบกับนายเงิน กรวยสวัสดิ์ เกษตรกรชาวนาตำบลดอนตะหนิน อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ได้สาธิตวิธีการทำเฒ่าตาปุ๊กเริ่มจากนำฟางข้าวที่ผ่านมานวดหรือตีเอาเมล็ดข้าวออกไปแล้ว มาจัดเป็นกำแล้วใช้ตอกไม้ไผ่มามัดเป็นลักษณะคล้ายกับคน มีหัว แขน ลำตัว แล้วใช้ฟางอีกกำมือมามัดเป็นวงกลมแล้วนำมาติดเข้ากับลำตัว ใช้ตอกไม้ไผ่มัดให้แน่นติดกันในลักษณะคล้ายคนนั่งขัดสมาธิ ทำหุ่นเช่นเดียวกันจำนวน 2 ตัว ก่อนจุดธูปอันเชิญวิญญาณผีบ้านผีเรือนเข้ามาอาศัยในตัวหุ่นก่อนจะนำไปไว้ในยุ้งฉางรวมกันเมล็ดข้าว ตามความเชื่อว่าเฒ่าตาปุ๊กจะเป็นตัวแทนของผีบ้านผีเรือนในการช่วยเฝ้าข้าวในยุ้งฉางในยามที่เจ้าของบ้านไม่อยู่

ชาวบ้านนำฟางข้าวมาสานเป็น เฒ่าตาปุ๊ก

ซึ่งอีกนัยหนึ่งเฒ่าตาปุ๊กจะใช้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมทำขวัญข้าวเมื่อเข้าถึงเดือน 3 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นแล้วฟางข้าวจะหายากเกษตรกรจึงทำไว้ตั้งแต่ช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จใหม่ๆที่มีฟางจำนวนมาก

เมื่อทำเสร็จแล้วไม่รู้จะไปเก็บที่ไหนก็ไปเก็บในยุ้งฉางเสีย แล้วเมื่อเก็บเฉยๆจึงหาเรื่องให้เฒ่าตาปุ๊กเฝ้าข้าวเสียเลยถือว่าเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของชาวนาที่สืบทอดต่อกันมาซึ่งปัจจุบันหาคนทำยากแล้ว

ชาวบ้านนำฟางข้าวมาสานเป็น เฒ่าตาปุ๊ก

ภาพ/ข่าว ณัฐพงศ์ อรชร ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา