ข่าว

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

24 ก.พ. 2563

ศธ.นครปฐมเพิกถอนใบอนุญาตรร.จารุวรรณ ครูนักเรียน 500ชีวิตขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

 

               หลังจากที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม ได้มีหนังสือ ที่ ศธ 0274/402 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 63 ที่ลงนามโดยนายกนก ปิ่นตบแต่ง ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม เรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตโรงเรียนจารุวรรณวิทยา เลขที่ 30 ม.1 ต.ไทยาวาส อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งได้สร้างความผิดหวังให้กับนักเรียน ครูผู้สอนและเจ้าหน้าที่กว่า 500 ชีวิต ซึ่งเพิ่งทราบข่าวไม่กี่วันก่อนที่จะมีการสอบปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปี 2562 เด็กๆพยายามจะส่งสัญญาณไปถึงผู้บริหารและพยามเรียกร้องโรงเรียนให้ดำเนินกิจการต่อไปท่ามกลางกระแสข้อมูลต่างๆนานาที่มีการส่งต่อถึงกัน ความสับสนและความท้อแท้ ได้เกิดขึ้นในโรงเรียนที่เป็นตำนานของผู้คนในชุมชน เนื่องจากโรงเรียนจารุวรรณวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของอำเภอนครชัยศรี ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี โดยตั้งอยู่ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี นานกว่า 67 ปี เป็นการนับถอยหลังในการปิดตัวลงท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้าน ผู้ปกครองในวงกว้างของชุมชนเก่าแก่โดยเฉพาะในสังคมโซเชียลที่ได้มีการออกมาแสดงความเสียใจจากศิษย์เก่าและผู้ปกครองที่ยังตั้งตัวในการหาสถานที่เรียนใหม่ให้กับบุตรหลานแบบไม่คาดคิดมาก่อน

               ย้อนกลับไป โรงเรียนจารุวรรณวิทยา ถูกก่อตั้งโดยนางสาวจำรัส สิรสุนทร และพี่น้องที่เป็นสาวโสดอีก 3 คน รวม 4 คน เพื่อเปิดเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก กระทั่งได้ถูกขยับขยายมาจัดตั้งให้เป็นโรงเรียนเอกชนตั้งแต่ปี 2500 ต่อมา ได้มีการจัดโอนให้กับนางสาวอรนุช สิรสุนทร หนึ่งในสี่ผู้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 โดยได้เปิดให้บริการในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยดั้งเดิมนักเรียนที่จะมาเรียนที่โรงเรียนจารุวรรณวิทยา ต้องนั่งเรือยนต์และเรือพายข้ามฝั่งมาจากฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี ก่อนที่ยุคต่อมาจะมีการสร้างสะพานและถนนทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้นและการเดินทางโดยทางเรือได้รับความนิยมลดลงและยกเลิกไปในที่สุด

 

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

 

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

 

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

 

 

                     ทั้งนี้หลังเกิดกระแสดังกล่าว บรรยากาศภายในโรงเรียนคณะครูกว่า 20 ชีวิตได้พยายามทำหน้าที่ของตัวเองในช่วงท้ายของการเรียนการสอนอย่างเต็มที่เพื่อจะส่งเด็กนักเรียนในการเข้าสอบในเทอมสุดท้ายของทุกคนให้ได้มีผลการเรียนที่ดีที่สุด แท้จะมีความเห็นต่างเกิดขึ้น โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการให้มีการดำเนินกิจการต่อไปแม้เงินเดือนครูจะมีน้อยนิดเฉลี่ย 1 หมื่นกว่าบาท บางคนแม้จะถึงวันเกษียณอายุไปแล้วแต่ยังคงขอมาทำหน้าที่สอนนักเรียนในชุมชนต่อไป เพราะความรักความผูกพันกันมานาน ซึ่งบางคนสอนหนังสือที่นี่มานานกว่า 40 ปี อีกส่วนคือครูที่ทราบเรื่อราวและต้องการจะไปเริ่มต้นอาชีพใหม่ โดยหวังจะได้เงินชดเชยกว่า 3-4 แสนบาทเพื่อจะเป็นทุนสำหรับดำเนินชีวิต เพราะเมื่อมีการประกาศให้มีการนำนักเรียนไปหาสถานศึกษาแห่งใหม่ ก็จะทำให้นักเรียนนั้นต้องหายไป เท่ากับกเป็นการยุติกกิจการ ซึ่งถ้ามีการยื้อต่อไปเงินอุดหนุนทุนที่เหลืออยู่จะทำให้เหลือเงินในการชดเชยน้อยลงไปตามเวลาที่เดินไปไม่หยุด ในขณะที่ผู้ปกครองและนักเรียนกำลังรอความหวังให้เกิดปาฏิหาริย์ เนื่องจากปัญหาคือการต้องหาโรงเรียนใหม่ ตั้งหาชุดนักเรียนใหม่และปรับชีวิตในการดูแลบุตรหลานใหม่ทันที เพราะนิ่งนอนใจไปแล้วว่าการดำเนินการจะมีต่อไปตามที่เคยมีการตกลงกันไว้ก่อนหน้า

               นางสาวสาลินี สุขขาบูรณ์ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44/4 ม.3 ต.ไทยาวาส อ.นครชัยศรี ผู้ปกครอง บอกทั้งน้ำตาว่า ตนเองได้เข้ามาสอบถามถึงเรื่องดังกล่าวในการที่โรงเรียนจะต้องปิดตัวลงจากครูในโรงเรียนซึ่งได้รับคำตอบว่าจะต้องมีการปิดตัวลงจริงๆ ก็รู้สึกใจหาย เพราะที่เลือกเรียนโรงเรียนนี้เพราะสามีเคยอยากเรียนแต่ก็ไม่ได้เรียนจึงได้เอาลูกชายมาเรียนที่นี่เพราะเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนดี ครูที่สอนก็เป็นศิษย์เก่าและทำหน้าที่สอนกันแบบเป็นครอบครัว ตอนแรกทราบว่าทายาทขัดแย้งกันแต่ตกลงกันได้ก็ดีใจแต่จู่ๆมีหนังสือไปแจ้งว่าจะต้องหาที่เรียนใหม่เนื่องจากทางโรงเรียนจกถูกปิดลงก็เสียความรู้สึก คือลูกชายังเรียน ป.5 และเหลืออีก 1 ปีเท่านั้นก็จะจบและมีนักเรียนอีกหลายรุ่นที่ยังไม่จบต้องไปหาที่เรียนใหม่ และปัญหาคือโรงเรียนต่างๆก็มีนักเรียนเรียนอยู่แล้วโรงเรียนที่ใกล้บ้านเป็นเอกชนอีกไม่กี่แห่งก็ไกลและมีราคาค่าเทอมแพงกว่านี้หลายเท่าตัว ส่วนโรงเรียนรัฐที่ก็เต็มไปหมดปัญหาปิดเทอมนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ไม่น้อยสำหรับครอบครัว

               ด.ช.ภิสิทธิ์ ภานุมาศเมธี อายุ 11 ปี บุตรชาย นักเรียนชั้นป.5/1 บอกว่าพอรู้ว่าโรงเรียนต้องปิดแล้วรู้สึกเสียใจเพราะรักโรงเรียนนี้มาก ครูสอนหนังสือดีมีความรักให้กับตนเองและเพื่อนๆ  อยากให้โรงเรียนนี้ไปต่อแต่วันนี้ก็ได้เริ่มบอกลาเพื่อนๆไปแล้วว่าถ้ามีโอกาสก็จะขอกลับมาเจอกันอีก วันนี้ก็เก็บเบอร์โทรเพื่อนๆเอาไว้เพื่อติดต่อกันแล้ว แต่ก็ไม่อยากแยกย้ายกันออกไปอยากเรียนให้จบโรงเรียนนี้แต่ก็หมดโอกาสเสียดายและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน

               ด.ญ.ภัทรินทร์ โกทัน อายุ 10 ปี นักเรียนชั้น ป.4/2 บอกทั้งน้ำตาว่าตอนนี้ยังไม่ได้บอกลาเพื่อนแต่จะบอกกันในวันสุดท้าย เตรียมของขวัญให้เพื่อนสนิทไว้แต่ตอนนี้ยังทำใจไม่ค่อยได้เพราะต้องไปเจอโรงเรียนใหม่ โดยจะต้องปรับเวลาการไปโรงเรียนแบบกระทันหัน ซึ่งทุกวันที่มาเรียนถ้าว่างจะไปรวมตัวแอบร้องไห้กับเพื่อนสนิทในกลุ่มอีก 3 คนและพยายามหาขอมูลถึงเรื่องที่โรงเรียนจะปิดตัว และอยากบอกว่าไม่ควรจะปิดโรงเรียนเพราะนักเรียนอีกมากต้องหาที่เรียนใหม่ในปิดเทอมนี้ และครูเจ้าหน้าที่ก็จะต้องตกงานด้วย

               ด้านครูสุทิศา รอดดียิ่ง ครูผู้สอนชั้นป.5-ป.6 บอกว่าเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องการแบ่งการบริหารงานของทายาทไม่ลงตัวซึ่งตอนแรกก็ได้ตกลงกันแล้วแต่มาถึงตอนนี้ทางโรงเรียนก็ได้ออกเอกสารให้ผู้ปกครองไปหาโรงเรียนให้บุตรหลานใหม่ โดยยังตกลงไม่ได้ว่าใครจะเป็นผู้บริหาร ผู้อำนวยการ ซึ่งทั้งเด็กและผู้ปกครองก็อยากให้โรงเรียนนี้ไปต่อ เพราะโรงเรียนเปิดมา 60 กว่าปี ซึ่งตอนนี้ได้ทำงานเพื่อให้เด็กๆได้เตรียมตัวไปเรียนโรงเรียนอื่นให้พร้อมที่สุด ส่วนตัวต้องปรับตัวเองอาจจะต้องไปค้าขาย แต่เศรษฐกิจยุคนี้ก็ไม่รู้ว่าจะขายอะไรได้ โดยทำงานที่นี่เงินเดือนก็ไม่ได้มากเพียงแค่ 1 หมื่นเศษแต่เราอยู่ได้เพราะประหยัดและใช้ความผูกพันกับเด็ก ยืนยันว่าถ้าโรงเรียนที่นี่ปิดจะยกเลิกอาชีพครูไปด้วย เพราะไม่อยากสอนที่อื่นอยากเก็บที่นี่ไว้เป็นความทรงจำ เหมือนศิษย์เก่าและผู้ปกครองหลายคนที่รักและผูกพันกับโรงเรียนนี้มาถึง 2-3 ชั่วอายุคน

               ขณะที่ ดร.กนก ปิ่นตบแต่ง ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม แจงว่า สำหรับโรงเรียนจารุวรรณวิทยา นั้นสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม ยืนยันว่าจะต้องมีการเพิกถอนใบอนุญาตเพราะถึงทางตันจริงๆ เนื่องจากการแบ่งการบริหารงานไม่ลงตัวจากทายาท 8 ครอบครัว โดยตอนนี้กำลังดำเนินการในการเพิกถอนใบอนุญาต โดยได้แจ้งว่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมนี้ คือหลังการสอบปลายภาคเรียนที่ 2 ปี 2562 เสร็จสิ้น และยอมรับว่าการบริหารงานนั้นเกิดขึ้นเรื่องนี้เกิดมาตั้งแต่สมัยศึกษาธิการท่านก่อนที่ได้เกษียณอายุไป เมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งก็ได้เข้ามาดูปัญหา โดยทราบว่าปัญหานั้นมีทายาทที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่มีแนวคิดในการบริหารงานที่ไม่ตรงกัน ซึ่งก่อนหน้าก็ได้มีการเชิญทายาทมาคุยกันหลายรอบ โดยได้ดูบัญชีที่เหลือตอนนี้มีอยู่ราว 5 ล้านบาทเศษ โดยจำนวนนักเรียน 400 กว่ารายตอนนี้ก็ได้มีการให้ออกหนังสือแจ้งไปยังสถานที่ศึกษาเพื่อให้ผู้ปกครองไปหาที่เรียนใหม่ โดยได้มีการจัดให้ 11 โรงเรียนในพื้นที่อำเภอนครชัยศรีมีการรองรับนักเรียนไว้แล้ว

               ซึ่งที่ผ่านมาสำนักพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษาเขต 2 จังหวัดนครปฐมได้มีการพยายามเป็นตัวกลางให้กับทายาททั้ง 2 ฝั่งได้หาทางออกร่วมกันแต่ก็ไม่ลงตัว กระทั่งวันที่ 27 สิงหาคม 62 จึงได้มีการออกหนังสือให้โรงเรียนจารุวรรณอยู่ในความควบคุมของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม โดยเป็นเรื่องสืบเนื่องที่ นางสาวอรนุช สิรสุนทร ผู้รับใบอนุญาต ได้เสียชีวิตลง ซึ่งได้แจ้งให้มีการหาทายาทมาเป็นผู้รับโอนใบอนุญาตดำเนินกิจการแต่ปรากฏว่าก็ไม่สามารถหามาได้ จึงต้องอาศัยความในมาตรา (96) (2)(3)และ6 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 เพื่อเข้ามาควบคุกิจการของโรงเรียน และมีการเจรจากันมาหลายรอบโดยต่อเวลามาคราวละ 90 วันจนสุดท้าย ได้มีการเชิญทายาทและผู้ปกครองมาทำการประชุมกันในวันที่ 26 มกราคม 63 โดยสรุปในที่ประชุมกันว่าจะให้มีการดำเนินกิจการต่อทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนรวมถึงคณะครู ต่างดีใจส่งเสียงปรบมือกันทั่วห้องประชุมก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงจ้อตกลงกันอีก

               ดร.กนก กล่าวต่อว่า แต่หลังจากนั้นได้ตกลงกันแล้วได้มีทายาท 5 จาก 8 ครอบครัว ได้ยื่นข้อเสนอ 6 ข้อแนบเข้ามาในเอกสารบันทึกในการประชุมเข้ามาเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอจึงจะยินยอมให้มีการดำเนินการ ทำให้อีกฝั่งของทายาทไม่ยอมรับข้อเสนอโดยเฉพาะในเรื่องของตัวผู้บริหารที่จะรับใบอนุญาตและวาระในการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารคราวละ 2 ปี เท่านั้น ทำให้การรับโอนใบอนุญาตเกิดการติดขัดอีก สุดท้ายคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงได้เสนอให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อยุติปัญหาทั้งหมดเพราะเล็งเห็นถึงผลกระทบกับเด็กนักเรียนในระยะยาว ซึ่งโรงเรียนเอกชนจะไม่สามารถดำเนินการต่อได้ถ้าไม่มีผู้รับโอนใบอนุญาตเพื่อดำเนินการ เป็นความน่าเสียดายและอึดอัดใจสำหรับทุกคนที่เห็นโรงเรียนที่มีประวัติศาสตร์ของโรงเรียนแห่งนี้ แต่จะมีทางออกเดียวในระหว่างที่กำลังดำเนินการถ้าทายาททั้ง 8 ครอบครัวตกลงกันได้ในเวลาสั้นๆช่วงนี้ ทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมก็จะพร้อมที่จะดำเนินการให้โรงเรียนได้ดำเนินการต่อไปได้

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

 

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

 

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

 

 

                    นายปราโมทย์ วิณิชยกุล นิติกร ชำนาญการพิเศษ (สช.) กล่าวว่า สำหรับเรื่องดังกล่าวทางคณะกรรมการได้เล็งเห็นว่าจะต้องเพิกถอนใบอนุญาต โดยมองว่าประโยชน์ของเด็กนั้นเป็นหลักเพราะการเกิดปัญหานี้จะทำให้เด็กไม่ได้รับการศึกษาที่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ การเพิกถอนจึงน่าจะเป็นการนำเด็กเข้าสู่สถานศึกษาที่มีความพร้อมจะดีกว่า ซึ่งมีประเด็นที่ทายาทบางคนได้ท้วงติงว่าทางนิติกรฯ ได้แจ้งว่าจะต้องมีเอกสารแนบท้ายในการขอใบอนุญาต โดยได้มาแจ้งทีหลังการประชุม ก็ขอเรียนว่าวันที่ 26 มกราคม ที่มีการประชุมนั้นไม่ได้เป็นวันที่คุยกันในเรื่องของการยื่นคำขอ แต่เป็นการตกลงกันเพื่อจะขอใบอนุญาต โดยได้แนะนำกันเรื่องว่าควรมีหนังสือสัญญาแนบท้ายการอขอโอนใบอนุญาตมาด้วย ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่ให้คำแนะนำกับทายาทว่าควรจะทำเข้ามาด้วย ซึ่งได้มีการทำบันทึกถ้อยคำในการประชุมและมีการบอกไปตั้งแต่การประชุมครั้งแรกๆมาแล้ว และมีการนำบันทึกถ้อยคำออกมาให้ทายาททุกคนได้ดูแต่มีการเข้าใจกันว่าทุกคนจะต้องทำตามหนังสือแนบท้ายจึงได้มีการล้มกระดานกันขึ้นมาในที่สุด ซึ่งการขอรับโอนจะต้องมาดำเนินการตามขั้นตอนที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมเท่านั้น และวันนี้ก็ไม่มีใครเข้ามายื่นเรื่องดังกล่าวด้วย

               ทั้งนี้กระแสดังกล่าวที่มีข่าวแพร่สะพัดออกไปมากขึ้นทำให้เกิดกระแสของการพยายามจากผู้ปกครองให้มีการดำเนินการในการดำเนินกิจการต่อขอโรงเรียนจารุวรรณโดยวอนให้ทายาททั้ง 8 ได้ยุติความขัดแย้งส่วนตัวในครอบครัวไปก่อนและให้มีการดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับนักเรียน ครูและเจ้าหน้าที่เกือบ 500 คนที่หลายคนยังหาที่เรียนและยังหางานใหม่ไม่ได้ โดยหลายโรงเรียนภาครัฐนั้นมีที่นั่งแทบจะเต็มพิกัดอยู่แล้ว โดยโรงเรียนจารุวรรณนั้นถือเป็นโรงเรียนที่รักของผู้คนในชุมชน เน้นการสอนแบบเข้าถึงสอนมารยาทการวางตัวของนักเรียนที่ดีมีวินัยรักสะอาด และเน้นการเข้าใจบทเรียนแบบเข้าถึงเด็กทุกคนโดยความใส่ใจของครูอาจารย์ อีกส่วนคือเรื่องค่าเทอมที่มีราคาถูกเพียงเทอมละ 2 พันเศษ ถ้าเทียบกับเอกชนบาทหลายแห่งจะมีราคาค่าเทอมเป็นหมื่นบาท ซึ่งหากครอบครัวที่ประสบปัญหาการเงินยังมีการติดค่าเทอมได้แบบผ่อนชำระได้อีก และตอนนี้ยังมีเงินค่าเทอมที่ยังจัดเก็บไม่ได้อีก 8 แสนบาทที่ผู้ปกครองยังคงค้างอยู่ โดยผู้ปกครองและนักเรียน ยังรอคอยความหวังปาฏิหาริย์ที่ ทายาททั้ง 8 จะกลับมาตกลงในการหันหน้ามาบริหารงานโรงเรียนต่อไป เพราะหากมีการปิดตัวจะเหลือเพียงอาคารไม้เก่าๆ ที่เป็นอดีตอยู่ที่ริมแม่น้ำนครชัยศรีเท่านั้น   

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย

 

ปิดตำนานรร.จารุวรรณ ครู-นร.ขอยื้อจนนาทีสุดท้าย


ปนิทัศน์ มามีสุข   นส.ปณิดา มามีสุข ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.นครปฐม