ผู้ว่าฯสตูลลงเกาะสาหร่ายแก้ปัญหาแล้งซ้ำซาก พร้อมหามาตรการช่วยเหลือหวั่นแล้งนาน
ผู้ว่าฯสตูลลงเกาะสาหร่ายแก้ปัญหาแล้งซ้ำซากพร้อมหามาตรการช่วยเหลือหวั่นแล้งนาน
สถานการณ์ภัยแล้งในจ.สตูลขณะนี้พื้นที่เกาะเริ่มมีผลกระทบบ้างแล้ว โดยนายเอกรัฐ หลีเส็น ผวจ.สตูลพร้อมด้วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายปกครองอ.เมืองสตูล ได้เดินทางลงพื้นที่ม.2และ3 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งเป็นเกาะกลางทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ม.2 บ้านบากันใหญ่ ผวจ.สตูลได้ไปพบกับ กำนัน ผญบ.และชาวบ้านในพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาภัยแล้งที่ปีนี้เริ่มมาเยือนและมาเร็วกว่าปกติ ทำให้ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ โดยชาวบ้านม.2 ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ต้องนำถังน้ำขึ้นรถซาเล้งไปขนน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ม.3 ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 2 ก.ม บางครั้งตั้งเข้าคิวรอไปตั้งแต่เช้ามืดกว่าจะถึงคิวก็เที่ยง และที่สำคัญคือน้ำในสระขณะนี้กลายสภาพเป็นน้ำเค็มแล้ว ต้องใช้เครื่องกรองน้ำเค็มเป็นน้ำจืดในแต่ละวันสามารถผลิตได้ 2 หมื่นลิตรซึ่งไม่เพียงพอแก่ความต้องการของชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน
นายกอเฉ็ม ดานเด็น อายุ 64 ปีอยู่บ้านเลขที่101 ม.1 ต.เกาะสาหร่าย กล่าวว่าชาวบ้านเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งตั้งแต่เดือนม.ค.64 ปีนี้ภัยแล้งมาเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะน้ำดื่มนั้นต้องไปซื้อน้ำบนฝั่ง หากซื้อน้ำในพื้นที่ถังละ 20 บาท ส่วนน้ำใช้ต้องใช้น้ำบ่อโดยม.1นั้นยังมีน้ำบ่อให้ใช้แต่ก็ต้องแย่งกันเพราะตอนนี้น้ำเริ่มแห้งแล้ว ส่วนม.2และ3ต้องไปเอาน้ำจากสระน้ำธรรมชาติ ซึ่งที่มีปัญหาตอนนี้คือน้ำในสระที่เป็นน้ำจืดกลายสภาพเป็นน้ำเค็มแล้วต้องใช้เครื่องกรองและต้องเข้าคิวกันบางวันไปตั้งแต่มืดเพื่อรอคิวน้ำจะเปิดใช้เวลา06.00น.และมีกำลังผลิตได้วันละ 2 หมื่นลิตรซึ่งไม่เพียงพอเพราะชาวบ้านต้องมาเอาทุกวันน้ำในสระเมื่อมาเอาเป็นน้ำจืดแต่หากนำไปทิ้งไว้ค้างคืนจะกลายเป็นน้ำเค็มเหมือนเดิม ต้องนำมาใช้วันต่อวัน ที่กังวลคือหากแล้งยาวนานชาวบ้านเดือดร้อนมาก เงินไม่มีใช้แถมต้องมาซื้อน้ำอีกซึ่งครอบครัวละถังบางวันยังใช้ไม่พอ ซึ่งเมื่อไม่มีน้ำชาวบ้านก็จำเป็นต้องเอาน้ำกรองมาต้มกินแต่เมื่อเก็บค้างคืนกลายเป็นน้ำเค็มชาวบ้านก็กลัวว่าหากกินเข้าไปจะเป็นอันตรายหรือไม่
นายเอกรัฐ หลีเส็น ผวจ.สตูล กล่าวว่ามารับทราบปัญหาจากกำนัน ผญบ.และชาวบ้าน ซึ่งปัญหาภัยแล้งบนเกาะสาหร่ายนี้ถือเป็นปัญหาแล้งซ้ำซาก และประสบปัญหาทุกปี ชาวบ้านต้องการน้ำประปา แต่เป็นรัฐวิสาหกิจเขาคำนึงถึงความคุ้มทุน โดยปีนี้ในการช่วยเหลือนั้นเรื่องของน้ำดื่มต้องมีการขนน้ำจากฝั่งมาใช้ โดยจะใช้เรือบาสในการขนส่ง ส่วนระยะยาวนั้นมอง 3 ประเด็นคือหาพื้นที่ขุดทำสระน้ำ 2 การขุดบ่อบาดาล ซึ่งที่ผ่านมาเคยเจาะแล้วแต่ขุดลึกจึงเป็นน้ำเค็ม 3 เครื่องกรองน้ำโดยประสานหางบประมาณซื้อเครื่องมาให้ชาวบ้านได้ใช้สำหรับอาบน้ำ ซักผ้า และทำกิจกรรมในครัวเรือน ......................
ภาพ/ข่าว สุไหล โพธิ์ดก ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจ.สตูล