"2 ป." มอบ "ชัยวุฒิ" ตรวจน้ำท่วมปทุมธานี ชี้ไม่น่าเป็นห่วง คุมระดับน้ำได้
"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" มอบ "ชัยวุฒิ" ตรวจน้ำท่วมปทุมธานี ชี้ระดับน้ำยังคุมได้ จังหวัดเตรียมแผนรับมือดีเยี่ยม สิ่งสำคัญอย่าให้ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ ส่วนที่ลุ่มต่ำต้องทำใจ เผยรัฐบาลเตรียมผันน้ำลงทุ่ง คุยกับชาวบ้านแล้วต้องเฉลี่ยทุกข์-สุขกัน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.ปทุมธานี โดยเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ อบต.กระแชง
นายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมปทุมธานี ซึ่งตอนนี้ระดับน้ำท่วมสูงมาก หลายจุดข้ามคันกั้นน้ำเจ้าพระยาไปท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ เท่าที่ลงพื้นที่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
พร้อมฝากไปยังชาวปทุมธานีว่ายังไม่ต้องเป็นห่วง สถานการณ์น้ำยังป้องกันได้ ตอนนี้น้ำท่วมแค่พื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถป้องกันน้ำได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ จ.ปทุมธานี วางแผนรับมือน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี โดยยังไม่มีรายงานปัญหาเรื่องการตัดน้ำหรือไฟฟ้า ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมมาก มองว่าพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่มีความคุ้นชินอยู่แล้ว เพราะการอยู่นอกคันกั้นน้ำหรือพนังกั้นน้ำ เวลาน้ำล้นตลิ่ง จะเป็นชุมชนที่ได้รับปัญหาก่อนอยู่แล้ว แต่นโยบายหลักของรัฐบาลคือต้องทำไม่ให้น้ำข้ามไปท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างความเสียหายมาก
ขณะที่รัฐบาล และ จ.ปทุมธานี ก็ร่วมมือกันได้อย่างดีไม่มีปัญหา ซึ่งอยู่ที่ปริมาณน้ำด้วยว่า น้ำที่ไหลออกมาจากทางภาคเหนือในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่เท่าที่ดูจากกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ก็มีข้อมูลว่าช่วงสัปดาห์นี้น่าจะเป็นจุดสูงสุดแล้ว หากผ่านจุดนี้ไปได้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว
ส่วนการนำข้อมูลกลับไปหารือกับคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวนั้น นายชัยวุฒิ ระบุว่า จะนำไปหารือคณะรัฐมนตรี แต่ยอมรับว่าพื้นที่ลุ่มต่ำบางทีอาจต้องยอมรับสภาพเพราะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้
"พื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำหรือพื้นที่ลุ่มต่ำก็ต้องยอมรับสภาพ ว่าบางทีมันไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราต้องภาพรวม ต้องมีระบบป้องกันน้ำท่วม ที่ป้องกันพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ หรือพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ให้เสียหาย เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ตามปกติสุข แต่บางพื้นที่ที่ป้องกันไม่ได้จริงๆ ก็จะดูแลเยียวยาให้มากที่สุด"
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า บ้านในชุมชนส่วนใหญ่ ที่เป็นบ้านเก่า ส่วนมากสร้างไว้ไม่สูงมาก เนื่องจากสมัยก่อนน้ำไม่ได้ท่วมสูงขนาดนี้ ส่วนบ้านสมัยใหม่ เขาจะทำบ้านไว้สูง เพราะริมแม่น้ำมันท่วมสูงขึ้น คันกั้นน้ำที่เราเห็นด้านหลังเป็นตัวยกระดับน้ำให้สูง ตอนนี้ก็สูงเกือบ 3 เมตรแล้ว ไม่อย่างนั้นก็จะอยู่ไม่ได้
ยอมรับว่าเห็นใจชาวบ้าน ขณะนี้มีนโยบายผลักดันน้ำอย่างเต็มที่ลงทุ่งนาในภาคกลางทั้งหมด เพื่อเป็นการตัดยอดน้ำไม่ให้ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด โดยได้มีการทำความเข้าใจกับชาวนาและชาวสวน ซึ่งทุ่งที่รับน้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรหมดแล้ว เชื่อว่าชาวนาและชาวสวนส่วนใหญ่เข้าใจ
"ฝากเตือนประชาชนทุกกลุ่มว่า เราต้องเฉลี่ยทุกเฉลี่ยสุขนะ บางทีถ้าระบบป้องกันน้ำท่วม ถ้าคันกั้นน้ำกันไม่ไหว ก็ต้องแบ่งออกไปท่วมบ้าง เพราะถ้าไม่แบ่งออกไปมันก็พัง มันขาด น้ำไปอยู่ดี แล้วมันจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า จะเป็นน้ำท่วมที่คุมไม่ได้"
สำหรับพื้นที่น้ำท่วม ต.กระแชง มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 250 ครัวเรือน ระดับน้ำท่วมสูง 3 เมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริ่มตลิ่งนอกคันกั้นน้ำ
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/