"โลมาหลังโหนก" เกยตื้น อีก 1 เตรียมถอดบทเรียน อนุรักษ์ ลดตาย "สัตว์ทะเลหายาก"
อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล พบ "โลมาหลังโหนก" เกยตื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ด้าน กรมทะเลและชายฝั่ง เตรียมถอดบทเรียนเพื่ออนุรักษ์และลดอัตราการตายของ "สัตว์ทะเล หายาก"
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ได้รับรายงานสถานการณ์ "สัตว์ทะเลหากยาก" เกยตื้นจากนางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สวพ.) ว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (ศวทล.) ได้รับการแจ้งจากอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ว่าพบ "สัตว์ทะเลหายาก" เกยตื้นเสียชีวิตอยู่บริเวณ หมู่ 2 บ้านตะโละสะมิแล ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จึงประสานงานกับเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี ดำเนินการเก็บรักษาซากไว้ก่อน และเจ้าหน้าที่ ศวทล.ได้ไปรับซากมาเพื่อผ่าชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิต เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสภาพพบว่าเป็น "โลมาหลังโหนก" ตัวเต็มวัย ขนาดความยาวลำตัว 234 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 127 กิโลกรัม เพศเมีย ความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับปกติดี สภาพซากเน่ามาก ภายนอกพบบาดแผลบริเวณศีรษะด้านขวาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร มีความลึกอยู่ในชั้นไขมัน ไม่พบร่องรอยช้ำของกล้ามเนื้อบริเวณบาดแผล ซึ่งคาดว่ารอยแผลนั้นเกิดภายหลังจากการเสียชีวิต
อธิบดีทช.เปิดเผยว่า จากการรายงานผลการชันสูตรซาก "โลมาหลังโหนก" เบื้องต้นทราบว่า ระบบทางเดินหายใจปกติ ระบบทางเดินอาหารไม่พบอาหารในกระเพาะและลำไส้ ส่วนอวัยวะภายในร่างกายส่วนใหญ่เน่าสลายจึงทำให้ไม่สามารถระบุรอยโรคและสาเหตุของการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น เจ้าหน้าที่ ศวทล. จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมต่อไป พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในแต่ละพื้นที่ดำเนินการถอดบทเรียนจาก "มาเรียมโปรเจค" นำมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานเชิงรุก เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟู "โลมาหลังโหนก" รวมถึงลดอัตราการตายของ "สัตว์ทะเลหายาก" ทุกชนิด จึงมอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ออกสำรวจ "สัตว์ทะเลหายาก" ตามบริเวณชายฝั่งทะเล พร้อมกับรายงานผลการสำรวจให้ทราบโดยทันที
อีกทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจด้านกฎหมายคุ้มครองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และวิธีการช่วยเหลือ "สัตว์ทะเลหายาก" ที่ถูกวิธีให้แก่ชุมชนชายฝั่ง ผสานความร่วมมือกับจังหวัดและท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทและหน้าที่ในการทำงานร่วมกันอีกด้วย
สุดท้ายนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่คอยทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมมือแก้ไขปัญหา "สัตว์ทะเลหายาก" เกยตื้นแบบครอบคลุมทุกมิติ เริ่มตั้งแต่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ไปจนถึงการจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเลซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ตนย้ำเสมอว่า หากพี่น้องประชาชนพบเห็นเบาะแส "สัตว์ทะเลหายาก" เกยตื้น ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ให้รีบแจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงทีต่อไป
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube Official : https://youtube.com/user/KOMCHADLUEK