เปิดเคล็ดไม่ลับ กว่าจะมาเป็น "ปลากุเลาเค็มป้าอ้วน" มัดใจผู้นำ "เอเปค"
เปิดเคล็ดไม่ลับ "ปลากุเลาเค็มปลาอ้วน” หนึ่งในเมนูที่ถูกคัดสรร ขึ้นโต๊ะกาลาดินเนอร์ ผู้นำ "เอเปค 2022" กว่าจะเป็น "ปลากุเลาเค็มตากใบ" ทำไมต้องเลือกร้านนี้ขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปค 2022
หลังจากที่ "ปลากุเลาเค็มตากใบ" หรือ "อีแกลาง๊ะมาเซ็ง" ในภาษายาวี ปลาเค็ม จากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ได้รับการคัดเลือกให้เป็นส่วนประกอบในอาหารสำหรับเสิร์ฟ ในงานกาลาดินเนอร์ สำหรับผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม เอเปค 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 19 พ.ย. 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
"ปลากุเลาเค็มตากใบ" เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเฉพาะของชาวอำเภอตากใบ ที่ในอดีตคือการเก็บรักษาคุณภาพปลาไม่ให้เน่าเสีย สามารถเก็บไว้กินได้นาน โดยมีการขึ้นทะเบียนสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้สมญานามว่า เป็นราชาแห่งปลาเค็ม
โดย ร้านปลากุเลาเค็มป้าอ้วน เป็นร้านหนึ่งเดียว ที่ได้รับการคัดสรรให้ผู้นำประเทศเอเปค ได้ลิ้มรสชาติเป็นส่วนผสมของอาหารจานหลัก เป็น ซอสราดมัสมั่นเนื้อน่องโคขุน จากสหกรณ์โพนยางคำ จังหวัดสกลนคร และข้าวกล้อง 9 ชนิดอบตะไคร้หอม เพื่อเพิ่มรสชาติให้โดดเด่นขึ้น ซึ่งร้านปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ เป็นร้านจำหน่ายปลากุเลาเค็ม ดั้งเดิมมานานกว่า 35 ปี
ปลากุเลาเค็ม ของร้านป้าอ้วน เนื้อปลาจะแห้งมีกลิ่นหอม มีรสชาติความเค็มที่กลมกล่อม เมื่อนำมาทอดเนื้อจะฟู และร่วนซุยแทบละลายในปาก เมนูที่ทำง่ายและการันตีถึงความอร่อย คือ ปลากุเลาเค็มทอด โรยด้วยพริกซอย หอมแดงซอย โรยน้ำตาลเล็กน้อย ปิดท้ายด้วยน้ำมะนาว บีบสักนิดนำไปคลุกกับข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อยแล้ว หรือหากจะนำไปดัดแปลงเป็นข้าวผัดปลากุเลาเค็มใส่คะน้า หรือหลนปลากุเลาเค็ม ก็จะได้รสชาติความอร่อยที่แตกต่างกันออกไป
ด้านนางสาวพรจรัส ปฐมศิริกุล อายุ 36 ปี เจ้าของร้านปลากุเลาเค็มป้าอ้วน ตากใบ ได้แสดงกระบวนการทำปลากุเลาเค็ม ซึ่งกรรมวิธีนั้น ไม่ง่ายและไม่ยากอย่างที่คิดแต่ต้องมีความอดทนเป็นเลิศ แต่ละตัวต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ เริ่มแรก คือ นำปลากุเลามาขอดเกล็ดออกพร้อมทั้งใช้มือควักไส้ทิ้ง แล้วนำมาล้างปลาให้สะอาด จากนั้นนำเกลือเม็ดมาใส่ลงไปในท้องปลาอัดจนแน่น พร้อมทั้งโรยเกลือทั้งตัวใส่ไว้ในภาชนะ 2 วัน
เมื่อถึงกำหนด 2 วัน นำปลาออกมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปแขวนในราวที่มีการผนึกตาข่ายพลาสติกไว้รอบด้าน เพื่อกันแมลงวันตอม หลังจากนั้นจะนำปลาที่แขวนไว้ที่ผ่านการตากแดดตลอดทั้งวัน มาใช้ขวดคลึงไปมาบนเนื้อปลาทั้ง 2 ด้าน แล้วนำไปเก็บไว้ ทำอย่างนี้ประมาณ 2 สัปดาห์ทุกวัน จนกว่าปลากุเลาที่นำไปตากแดดจนแห้ง ถือว่าจบกระบวนการทำปลากุเลาเค็ม
ที่สำคัญผู้บริโภคมักจะพูดถึงเรื่องราคาที่ค่อนข้างแพง เป็นเพราะเราต้องซื้อปลาจากชาวบ้านที่นำมาขายให้ ตกกิโลกรัมละ 380 บาท เมื่อผ่านกระบวนการผลิตน้ำหนักปลาที่รับซื้อจะเหลือน้ำหนักเพียงครึ่งหนึ่ง แล้วผ่านกระบวนการผลิตแต่ละตัวประมาณ 2 สัปดาห์ จึงทำให้ราคาปลากุเลาเค็มป้าอ้วนต้องจำหน่ายโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1,700 ถึง 1,800 บาท ซึ่งอยู่กับขนาดของตัวปลา
ปัจจุบันปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ ได้มีการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ผ่านมาตรฐานฮาลาล และเป็นสินค้าระดับ 5 ดาว ประเภทอาหาร ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ปี พ.ศ.2562 เป็นการการันตี
ด้านนางสาวพรจรัส เจ้าของร้านปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้รับเลือกขึ้นโต๊ะให้กับผู้นำประเทศเอเปคได้รับประทาน ทำให้กลุ่มผู้ค้าปลากุเลาเค็มตากใบ แต่ละเจ้ามียอดสั่งซื้อโดยปลากุเลาเค็มมากขึ้น ส่วนปลากุเลาเค็มของป้าอ้วนนั้น จะมีกลิ่นหอมเนื้อปลาละเอียด โดยปลากุเลาเค็มตัวขนาดใหญ่จะมีรสชาติเค็มนิดหนึ่งไม่เช่นนั้นมันจะมีรสชาติขม โดยปลากุเลาเค็มของป้าอ้วนจำหน่ายตัวเล็กกิโลกรัมละ 1,700 บาทพร้อมส่ง ตัวขนาด 1 กิโลกรัมขึ้นไปจำหน่ายตัวละ 1,800 บาทพร้อมส่งเช่นกัน
สำหรับผู้บริโภคที่สนใจจะซื้อหาปลากุเลาเค็มของป้าอ้วน สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง คือ โทรศัพท์ 073 581155 มือถือเบอร์ 083 1702788 หรือ 086 9636422 ทางไลน์ ไอ.ดี.083 1702788 หรือทางเฟซบุ๊ก https//www.facebook.com.plakulao
ณรงค์ นวลสกุล จ.นราธิวาส