แบบนี้ดี เปิดลานวัด ให้ชาวนา "ตากข้าว แทนตากบนถนน" ป้องกันอุบัติเหตุ
ชาวนาจังหวัดพิจิตร นำข้าวเปลือกที่หลังจากเก็บเกี่ยว โดย "ใช้ลานวัด ทำการตากข้าว" แนะชาวนาใช้ที่ว่างเปล่า ตากข้าวแทน การตากบนถนน ป้องกันอุบัติเหตุ และ ความเสียหาย
17 พ.ย.2565 ปัญหาเกษตรกรนำข้าวมาตากบนถนนหลวง กีดขวางการจราจร และอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ ในหลายพื้นที่ต่างหาวิธีแก้ปัญหาด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทำเป็นลานตากข้าว เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในจังหวัดพิจิตร ได้เปิดลานวัดให้เกษตรกรชาวนา ตากข้าวเปลือก
โดยที่ วัดป่าหวาย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ได้เปิดลานคอนกรีตอเนกประสงค์ ที่ตั้งอยู่ภายหน้าพระอุโบสถ เมรุเผาศพ ภายในวัด ให้ชาวนา นำข้าวเปลือกมาตากเพื่อไล่ความชื้น เพื่ออำนวยความสะดวกกับชาวนา แทนการตากข้าวบนถนน เพื่อลดอุบัติเหตุ และข้าวเสียหาย บนท้องถนน
โดย นายประพัทธ ผาสุข ชาวนาตำบลหนองปลาไหล อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ระบุ ว่า ในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยว ข้าวเก็บไว้แปรรูปเป็นข้าวสาร และ เมล็ดพันธุ์ข้าว จะนำมาตากไว้ที่ลานวัดจะนำข้าวที่ตากลดความชื้น และอยากให้ชาวนาด้วยกัน ใช้พื้นที่ว่างเปล่า ตากข้าว แทนการตากข้าวบนถนน เพื่อไม่ให้ขวางเส้นทางสัญจร ที่อาจจะส่งผลกระทบการเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงป้องกันความเสียหายของข้าว เวลา ที่ตากบนถนน จะมีรถเหยียบข้าวเสียหาย
สำหรับข้าวส่วนใหญ่ที่ชาวนาในจังหวัดพิจิตร จะนำมาตากเพื่อลดความชื้น ส่วนใหญ่ จะใช้ลานวัดเป็นสถานที่ตากข้าว ซึ่งข้าวที่ชาวนาตากไว้ จะเป็นข้าวที่เก็บไว้สำหรับ แปรรูปเป็นข้าวสาร และ บางส่วนเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวแทน ซึ่งจะใช้เวลาตาก 2 - 3 วัน เสร็จแล้ว จะบรรจุถุงเก็บไว้ที่บ้านต่อไป
ทั้งนี้ การตากข้าวบนถนน เข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง 2535 มาตรา 39 มาตรา 72 ห้ามนำสิ่งใดมาวางขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 114 ห้ามมิให้ผู้ใดวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร แต่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร จะอนุญาตได้ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
ผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง นอกจากจะมีความผิดตามมาตรา 148 แล้ว หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางดังกล่าวได้ถ้าไม่ยอมรื้อถอนหรือเคลื่อนย้าย ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายได้
สายันต์ ชูฉ่ำ จ.พิจิตร