"ท้องถิ่น" คือหัวใจการพัฒนา"วุฒิสาร"แนะเปลี่ยนตัวเอง ประเทศเปลี่ยน
ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หนุน "ท้องถิ่น" เปลี่ยนเมือง เปลี่ยนประเทศ ย้ำท้องถิ่นคือหัวใจการพัฒนา หากท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ ประเทศก็จะเปลี่ยนได้
เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2566 หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พสม.) รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นความร่วมมือของ มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเสนอโครงงานในการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ โดยมีผู้บริหารและคณะทำงานจากเทศบาลกว่า 165 แห่งเข้าร่วมอบรม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการในฐานที่ 4 ของหลักสูตรคือ การเรียนรู้แบบการทำจริง โดยใช้กระบวนการศึกษาโครงงานเป็นฐาน
ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวในการอบรมครั้งนี้ว่า ท้องถิ่นคือหัวใจในการพัฒนาประเทศ ท้องถิ่นต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยใช้ฐานการวิจัยและข้อมูลเมืองเป็นพื้นฐานในการวางแผนการพัฒนา การกระจายอำนาจคือการเอาการตัดสินใจไปให้ไว้กับคนที่แก้ปัญหา เพราะอำนาจคือต้องเอามากำหนดทิศทางการแก้ปัญหา กำหนดลมหายใจของเมือง และกำหนดจิตวิญญาณของบ้านเราเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร หากผู้บริหารไม่มีวิสัยทัศน์การพัฒนาก็ไม่เกิดประโยชน์
"หัวใจของท้องถิ่นคือความเป็นอิสระมีอำนาจในกาคคิด แก้ปัญหา และตัดสินใจ รวมไปถึงต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงปัญหาและการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร"
“ส่วนหัวใจการปกครองท้องถิ่นคือ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ค้นหาปัญหาตอบโจทย์ให้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงภูมิสังคมของแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน เพราะภูมิสังคมคือกายภาพ จิตวิญญาณวิถีชีวิตวิธีคิดของคนในพื้นที่
ผู้นำท้องถิ่นต้องสร้างภาพท้องถิ่นใหม่ มองแบบเลนส์ละเอียด เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยหลักแห่งความสำเร็จคือต้องศึกษาข้อมูล กำหนดจุดหมาย และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน หากอยากจะเปลี่ยนเมือง เปลี่ยนประเทศต้องเปลี่ยนที่ท้องถิ่น”ศ.วุฒิสาร กล่าว
ในขณะที่นายสุเมธ เฮงยศมาก นายกเทศมนตรีตำบลละหานทราย อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ดีใจที่ได้มีโอกาสมาเรียนในหลักสูตรนี้เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของเทศบาลได้อย่างแท้จริง เหมือนเป็นการเปิดโลก เนื่องจากเทศบาลตำบลละหานทรายเป็นพื้นที่ชายแดน ยังขาดเรื่องข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน
“โดยเฉพาะฐานข้อมูลระบบดิจิทัลที่จะเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของตนเอง ยังไม่รู้ว่าถนนสายไหนมีไฟฟ้าหรือไม่มีไฟฟ้า น้ำท่วม น้ำแล้งอย่างไร ประชาชนต้องการอะไร ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่ไหน เนื่องจากเจ้าหน้าที่เองก็มีไม่มากพอ การได้มาอบรมในหลักสูตรนี้ ทำให้มองเห็นศักยภาพของตัวเองชัดเจนขึ้น และรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรในอนาคต เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาท้องถิ่นตัวเองให้สำเร็จ โดยอาศัยความร่วมมือขององค์กรทั้งภายนอกและภายในพื้นที่ด้วย”นายกเทศมนตรีตำบลละหานทราย กล่าว
ด้านรศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวถึงหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พสม.) รุ่นที่ 1 ว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตรพสม. นี้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยระยะเวลา 1 ปี ซึ่งขณะนี้ผ่านไปแล้ว 6 เดือน จากการจัดฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน โดยมีจากฐานที่ 1 คือวิเคราะห์ศักยภาพและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเมืองในระบบเศรษฐกิจใหม่ ฐานที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องศึกษาตัวบทปฏิบัติการทั้งในและต่างประเทศ และฐานสุดท้ายคือฐานที่ 4 เป็นการเรียนรู้แบบการทำจริงโดยใช้กระบวนการศึกษาโดยใช้โครงงานเป็นฐาน
“หลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูงตั้งเป้าจะพัฒนาศักยภาพของผู้นำและคณะทำงานของท้องถิ่น โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน เพราะการวิจัยคือการได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นจริงและอ้างอิงตามหลักวิชาการได้ หากท้องถิ่นมีข้อมูลที่ดีพอ จะสามารถนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริง ไม่ใช่ไปนั่งคิดเอาเอง และระยะเวลาอีก 6 เดือนที่เหลือของหลักสูตรคือการลงพื้นที่เรียนรู้จากพื้นที่จริง และติดตามโครงงานการพัฒนาที่แต่ละเทศบาลได้วางแผนเอาไว้ใน 7 เรื่องหลักคือ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจฐานราก ภัยพิบัติ การพัฒนาคนเพื่อสร้างองค์กรอัจฉริยะ และการตอบโจทย์อนาคต”รศ.ดร.ศุภวัฒนากร กล่าว