ชื่นมื่น'วาเลนไลน์' จัดกิจกรรมวันแห่งความรักคู่รักกุมมือจดทะเบียนสมรส
"วาเลนไทน์" ทั่วไทยชื่นมื่นเจ้าบ่าวขอนแก่นวัย 77 ยกขันหมากแต่งเจ้าสาววัย 74 หลังครองคู่กันมานานกว่า 50 ปี ขณะที่โคราช วิวาห์หลานย่า คู่รัก LGBTQ สาวหล่อพบรักสาวสอง ตัดสินใจพากันมาจดทะเบียน ที่จ.สุรินทร์ งานวิวาห์หนึ่งเดียวในโลกของชาวกูยโบราณจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง
14 ก.พ.2566 ที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองนครราชสีมา จัดกิจกรรม "สมรสลอยฟ้า วิวาห์หลานย่า" ต้อนรับเทศกาลวาเลนไทน์ 2566 คู่รักกว่า 30 คู่ เข้าร่วมพิธีสมรสลอยฟ้าท่ามกลางบรรยากาศอบอวลไปด้วความรัก ซึ่งหลังจากจดทะเบียนสมรสคู่รักเดินทางไปกราบสักการะท้าวสุรนารี หรือ คุณย่าโม ที่ชาวโคราชให้ความเคารพเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของ จ.นครราชสีมา จากนั้นพากันเดินลอดประตูชุมพล ที่ชาวโคราชมีความเชื่อว่า หากคู่รักเดินผ่านลอดซุ้มประตูชุมพลแล้ว จะทำให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และจะได้อาศัยอยู่ด้วยกันที่จังหวัดนครราชสีมา
นอกจากคู่รักชายหญิงแล้วแล้ว ปีนี้มีคู่รัก LGBTQ มาเข้าร่วมกิจกรรมและได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือคู่รักระหว่างสาวหล่อ น้องจอย หรือนางสาวรจนีย์ กับสาวสอง น้องแบล็ค หรือนายโสมนัส โดยน้องแบล็ค เปิดเผยว่าทั้ง 2 คน ตั้งใจจะจดทะเบียนสมรสกันในช่วงเดือนมีนาคม แต่พอมีกิจกรรมนี้ขึ้น จึงตัดสินใจใช้โอกาสนี้จดทะเบียนสมรสกัน เพราะถือว่าเป็นฤกษ์ที่ดีเนื่องในวันวาเลนไทน์ วันนี้จึงเป็นวันที่ตนมีความสุขอย่างมากที่ได้มีโอกาสจดทะเบียนสมรสกันในครั้งนี้
ส่วนคู่รักอีกคู่ที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน ก็คือคู่รักของคุณตาอำพล อายุ 81 ปี กับคุณป้าพิมเพ็ญ แซ่ตัง อายุ 63 ปี เป็นคู่รักต่างวัยที่มีอายุห่างกันถึง 18 ปี โดยคุณยายพิมเพ็ญบอกว่า ตนกับคุณตาอำพล ต่างคบหาดูใจกันมา 7 ปีแล้ว เพื่อนของตนเป็นคนแนะนำให้รู้จักกัน จึงมีโอกาสได้คบหากันก่อนที่จะมาจดทะเบียนสมรสในครั้งนี้
ที่จังหวัดขอนแก่น นายสมบูรณ์ ยุคง เจ้าบ่าววัย 77 ปี ชาวบ้านหนองโจด แห่ขันหมากสู่ขอนางหนูพัน ยุคง อายุ 74 ปี เจ้าสาว โดยมี นางกรรณิกา กองฉลาด นายกเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น เป็นเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว และนายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นเถ้าแก่ให้กับฝ่ายเจ้าสาว
นายสมบูรณ์ เปิดเผยว่าตนเองได้อยู่กินกับนางหนูพัน มานานกว่า 55 ปี แล้ว แต่มีการจดทะเบียนสมรสเท่านั้น จนมีลูกด้วยกัน 4 คน คนโตอายุได้ 50 ปี แต่ตนเองไม่ได้มีการจัดงานแต่งงานแต่อย่างใด จนกระทั่งทางอำเภอเมืองขอนแก่นได้จัดงานจดทะเบียนสมรสเนื่องในวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก จึงได้โอกาสจัดงานแต่งงาน
วิวาห์บนหลังช้าง ตามประเพณีแต่งงานชาวชุมชนกูยโบราณ หรือ ซัตเต เป็นการสู่ขวัญบ่าวสาวแบบชาวกูย จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทางจังหวัดจัดขึ้นถือว่าเป็นการจัดงานงานบนหลังช้างหนึ่งเดียงในโลก โดยมีบ่าวสาวทั้งชาวไทย และต่างชาติ จำนวน 30 คู่ เข้าร่วมพิธี
พิธีสมรสแบบ "พิธีซัตเต " ร่วมทั้งพิธีจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ถือเป็นสิริมงคล มีแห่งเดียวในโลก ถือเป็นพิธีที่มีรูปแบบที่แปลก แตกต่างไปจากที่อื่น เนื่องจาก มีทั้งกลิ่นอายของวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชนชาวกูย มีหมอช้างเดินนำคู่บ่าวสาวลอดซุ้มดอกไม้ขึ้นมาประกอบพิธีซัตเต อีกทั้งยังได้นำช้าง ที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง และการจดทะเบียนสมรส บนหลังช้างซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ของจังหวัดสุรินทร์ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดสุรินทร์ให้มีความคึกคัก ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไว โคโรนา 2019 (COVID - 19) ซึ่งจังหวัดสุรินทร์จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปี