เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 'PM2.5' หนาแน่น 80% เล็กกว่า 0.3 ไมครอน เข้ากระแสเลือดได้
เชียงใหม่ ฝุ่น 'PM2.5' สะสมหนาแน่น จากงานวิจัยพบ 80% มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เข้าสู่กระแสเลือดได้ เร่งให้ยกระดับการป้องกัน
วันนี้ (29 มีนาคม 66) ช่วงเช้าที่ผ่านมา ฝุ่นควัน ปกคลุมเต็มพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากช่วงนี้ เชียงใหม่ยังคงเกิด ไฟป่า ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่โซนเหนือ อย่าง อ.แม่แตง และ อ.เชียงดาว มีจุด ความร้อนขึ้นจำนวนมาก ทำให้เกินฝุ่นควันสะสม
จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกลมควบคุมมลพิษพบว่า ที่สถานีตรวจวัด ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว พบค่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 'PM2.5' สูงถึง 264 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
รศ.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยงานวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ฝุ่นควัน ที่สะสมในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วง 2 ถึง 3 วันที่ผ่านมา เกิด ไฟป่า ในพื้นที่ อ.เชียงดาว และ อ.แม่แตง จำนวนมาก ประกอบกับ ในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีจุดความร้อนจากการเผาจำนวนมากเช่นกัน จึงมีส่วนทำให้ ฝุ่นควันมาสะสมรอบใหม่ เกิดขึ้นหลัง พายุฤดูร้อน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และฝุ่นควันที่ลอยอยู่ในอากาศลอยสูงกว่า 10 กิโลเมตรซึ่งถือว่าเป็นการสะสมจำนวนมาก ซึ่ง สิ่งที่ทำได้ ต้องควบคุมปัจจัยการเกิดฝุ่นควันใหม่ ก็จะทำให้ฝุ่นควันค่อยๆ จางไป
ขณะเดียวกัน จากงานวิจัยพบว่า 80% ใน ฝุ่น PM2.5 คืออนุภาค ของฝุ่น ขนาดเล็ก 0.3 ไมครอน ซึ่ง ฝุ่น อนุภาค 0.3 ไมครอนเหล่านี้หากเราหายใจเข้าไปฝุ่นขนาดเล็ก จะผ่านทะลุเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ไปถึงบริเวณถุงลมปอดไปจนถึงระดับเซลล์ในร่างกายได้เนื่องจากมีขนาดเล็กและมวลน้อยกว่าจึงเข้าไปได้ลึก และเข้าถึงเส้นเลือดฝอยสามารถกระจายไปทั่วร่างกายผ่านระบบไหลเวียนของเลือดเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจได้
โดยวิธีการป้องกันหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มี 'PM2.5' สูงระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ต้องใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากกรองอากาศหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอนุภาคขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอน
ขณะเดียวกัน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการใช้เครื่องวัด ค่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในระดับที่วัดฝุ่น ขนาด PM1 ที่จะสะท้อนให้เห็นอันตรายของฝุ่น ขนาดเล็กที่มีผลกับสุขภาพ และ ถือว่าเป็นการยกระบบการป้องกันที่มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น
โดย : วสันต์ ปัญญาเรือน