ข่าว

ชาวเชียงรายไม่ทน รวมตัวถามแก้ฝุ่น 'PM2.5' นักวิชาการจี้ประกาศภัยพิบัติ

ชาวเชียงรายไม่ทน รวมตัวถามแก้ฝุ่น 'PM2.5' นักวิชาการจี้ประกาศภัยพิบัติ

10 เม.ย. 2566

ชาวเชียงรายไม่ทน รวมตัวถามจังหวัดแก้ ฝุ่น 'PM2.5' นักเคลื่อนไหวจี้ประกาศภัยพิบัติ รองผู้ว่าฯ แจงทำดีสุดแล้ว

ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ห้าแยกพ่อขุน อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ประชาชนชาวเชียงราย ประมาณ 200 คน ประกอบด้วยคณะสงฆ์และสามเณรจากวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ กลุ่มแพทย์ใน จ.เชียงราย ภาคเอกชน เยาวชน องค์กรเอกชน นักเคลื่อยไหวทางการเมือง ได้ไปรวมตัวจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขปัญหาฝุ่น 'PM 2.5' และขอยื่นหนังสือต่อ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (ผู้ว่าฯ เชียงราย) ขอทราบถึงการแก้ไขปัญหาของจังหวัดทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

 

 

โดยมีการถือป้ายข้อความต่างๆ มีทั้งป้ายเขียนล้อคำขวัญประจำจังหวัด โดยผู้ที่มาร่วมงานต่างได้ร่วมกันเขียนข้อความแสดงความเห็นบนกระดาน พร้อมทั้งได้มอบน้ำดื่ม เกลือแร่  ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปใช้ในภารกิจดับไฟป่า

 

นายพลวัต ตันศิริ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย กล่าวว่าปัญหาฝุ่น 'PM2.5' ควรจะเป็นปัญหาระดับภูมิภาคนี้เพราะไม่ได้มีแค่ จ.เชียงราย หรือประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบต่อใน สปป.ลาว และเมียนมา ต่างเผชิญกับปัญหาเหมือนกัน ดังนั้นภาครัฐควรแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น กระทรวงพาณิชย์หารือกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงการต่างประเทศหารือเรื่องแนวนโยบายต่อปัญหานี้ร่วมกัน

 

 

นอกจากนี้แพทย์หญิงที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า 'ฝุ่น PM2.5' มีผลกระทบต่อคนทุกเพศวัยโดยที่คนทั่วไปยังไม่ตื่นตระหนกว่ากรณีเด็กเล็กหากสูดเข้าไปจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ส่วนผู้ใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ปอด ฯลฯ จะกระทบหนัก และในระยะยาวจะทำให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นี้อายุสั้นลง 4 ปี ส่วนการป้องกันด้วยหน้าการที่ใช้กันโดยทั่วไปจะไม่ได้ผลกับฝุ่นขนาดเล็กนี้แต่ต้องใช้หน้ากากแบบ M95 ขึ้นไปเท่านั้น

 

 

ชาวเชียงรายไม่ทน รวมตัวถามแก้ฝุ่น PM2.5

ชาวเชียงรายไม่ทน รวมตัวถามแก้ฝุ่น PM2.5

 

โดย ผู้ว่าฯ เชียงราย มอบหมายให้ นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายชุติเดช กมนณชุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 15 (เชียงราย) และนายสมเกียรติ ปูกา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จ.เชียงราย เข้าชี้แจงต่อผู้ชุมนุม ซึ่ง นายวราดิศร ระบุว่าจังหวัดได้วางแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

 

 

ส่วน ไฟป่า ในจังหวัดพบว่าเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ป่าเขาสูงชันและผู้ก่อเหตุเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟจุดใดได้แล้วก็จะย้ายไปเผาจุดใหม่อีก ป้จจุบันจึงใช้มาตรการเข้มข้นจับกุมได้แล้วหลายราย ด้าน นายสมเกียรติ ประกาศต่อผู้ชุมนุมว่าเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ลักลอบเผาและทำลายป่าได้แล้ว 18 ราย 

 

 

โดยในช่วงที่มีการเปิดให้ประชาชนได้พูดถึงปัญหา 'PM2.5' นายสราวุทธิ์ หรือเซียนแว่น กุลมธุรพจน์ แกนนำกลุ่มราษฎรเชียงราย ถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติจากฝุ่น PM2.5 ทั้งๆ ที่ทาง พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศให้อำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเต็มที่ ซึ่ง นายวราดิศร ชี้แจงว่าหากประกาศจะส่งผลกระทบด้านอื่นเพิ่มเติมมาด้วยและงบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันยังถือว่าเพียงพออยู่

 

 

วันเดียวกัน ผู้ว่าฯ เชียงราย ได้มีแถลงการณ์ว่าทางจังหวัดได้เตรียมการมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 - ก.พ. 2566 จากนั้นวันที่ 15 ก.พ. - 15 เม.ย. นี้ ได้ประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดและจัดกำลัง รวมทั้งมีแผนจะฟื้นฟูในระหว่าง วันที่ 16 เม.ย. - 30 ก.ย. 2566 ต่อมาเดือน มี.ค. เป็นต้นมาพบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะวันที่ 27 มี.ค. กรมควบคุมมลพิษตรวจวัดที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ได้สูงถึง 546 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไม่ปรากฎจุดความร้อนหรือ Hot Spot ในพื้นที่แต่อย่างใด ดังนั้นปัญหาจึงได้เกิดเฉพาะในประเทศเท่านั้น ต่อมามีไฟป่าในจังหวัดจึงได้ระดมเจ้าหน้าที่เข้าดับจนมีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บแล้ว 15 ราย

 

 

ปัจจุบันยังร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรองรับปัญหาต่างๆ วนในระยะยาวจะผลักดันให้มีเวทีข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศอีกครั้ง

 

ชาวเชียงรายไม่ทน รวมตัวถามแก้ฝุ่น PM2.5

ชาวเชียงรายไม่ทน รวมตัวถามแก้ฝุ่น PM2.5

 

 

โดย : ณัฐวัตร ลาพิงค์