ข่าว

'อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ' แหล่งน้ำชลประทานท่ายาง  

'อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ' แหล่งน้ำชลประทานท่ายาง  

27 ก.ค. 2566

ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  พื้นที่ภาคกลาง มาตรวจเยี่ยม โครงการ  "อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ในเขต ท่ายาง เพชรบุรี ด้วยการบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพ ทำเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร

ที่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  พื้นที่ภาคกลาง    สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)   , พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วย นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ   ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม โครงการ  "อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"   ทั้งนี้ปัจจุบันประชาชนใน  ต.เขากระปุก  อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ    มีการบริหารจัดการน้ำโดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ และใช้น้ำผ่านระบบน้ำหยดเพื่อให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ราษฎรมีความสุขจากอาชีพที่มั่นคง 

 

 

 


นายสมนึก เทศอ้น อาสาสมัครชลประทาน และประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำ "อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"   เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้เช่าพื้นที่นอกเขตชลประทานปลูกพืช แต่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงมาเช่าพื้นที่ใกล้บ้านเพื่อทำเกษตร จำนวน 6 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน โดยปลูกพืชที่ให้ผลผลิตเร็ว เช่น กระหล่ำปลี กล้วยหอมทอง มะเขือเปราะ และแตงกวา จากการมีน้ำใช้ในภาคการเกษตร  ทำให้มีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตร 130,000 บาท / ปี 

"พื้นที่นอกเขตชลประทานต้องรอน้ำฝนจากธรรมชาติ บางทีปลูกไป ช่วงฝนตกต้องตามฤดูกาลก็ได้ผลผลิต แต่ช่วงแล้งบางทีไม่ได้ผลผลิต ผลเสียมากกว่า  แต่ถ้าใช้น้ำชลประทานได้ทั้งปี ก็จะเป็นผลดีกับภาคการเกษตร    ซึ่งในการใช้น้ำมีการสำรวจข้อมูลการทำเกษตรว่าปลูกอะไรบ้าง กี่ไร่ และน้ำชลประทานมีการจัดเก็บเท่านี้ ใช้ได้กี่เดือน ชลประทานจะป้อนข้อมูลระดับน้ำในอ่างให้ตลอดเวลา "

 

 

เขา กล่าวว่า  สำหรับการบริหารจัดการน้ำ มีการแบ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย หมู่ที่ 9 สายลำห้วยธรรมชาติหมู่ 1  ท่อสายใหญ่ สาย 1 ซ้าย และสาย 2 ซ้าย ปัจจุบันมีการเก็บเงินจากสมาชิกเข้ากลุ่มปีละ 40 บา ทต่อราย เพื่อนำไปใช้ในการซ่อมบำรุง รักษาท่อที่แตกและรั่ว ก่อนที่กรมชลประทานในพื้นที่จะตั้งงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ  ขณะที่การบริหารการใช้น้ำทางกลุ่มได้ตกลงกันไว้ว่าสายลำห้วยธรรมชาติ จะใช้น้ำได้ปีละ 2 แสนลูกบาศก์เมตร ในช่วงฤดูแล้ง ส่วนกลุ่มสายท่อ จะเปิดน้ำพร้อมกันทั้ง 3 สาย สัปดาห์หนึ่งจะเปิด 4 วัน ปิด 3 วัน    

 

 

 

สมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี กล่าวว่า   ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ให้แก่ราษฏร  ต.เขากระปุก  อ.ท่ายาง  จ. เพชรบุรี  ทำให้พื้นที่แห่งนี้ นอกจากจะมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรกรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ อ.ท่ายาง  อีกด้วย "พื้นที่ตรงนี้จะเป็นแหล่งชุมชน รอยต่อระหว่างเพชรบุรีกับ
ประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณใกล้เคียงก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย เช่นช่วงวันลอยกระทง เทศกาลปีใหม่ หรือช่วงสงกรานต์ ก็จะมีคนมาเช็คอิน มากางเต็นท์ มาท่องเที่ยว แต่ละปีชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว ทุกคนก็มีความสุข นอกจากมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรกรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอท่ายาง "  สมเกียรติ กล่าว

 โครงการ "อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ " ต.เขากระปุก  อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2523 ความว่า "ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย ที่บริเวณเขากระปุก บ้านหนองจับงา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยเร่งด่วน พร้อมทั้งก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกบริเวณหมู่บ้านหนองจับงา บ้านหนองตาฉาว และหมู่บ้านใกล้เคียง ในเขตอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ประมาณ 28,000 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี"

 

 

 

กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีขนาดความจุ 4,054,000 ลูกบาศก์เมตร  และเนื่องจากอ่างเก็บน้ำมีอายุการใช้งานมานานถึง 30 ปี ทำให้เกิดความตื้นเขิน   ประกอบกับความต้องการการใช้น้ำมากจึงเกิดความขัดแย้งจากการใช้น้ำ ราษฎร ต.เขากระปุกจึงมีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.  2549

 

 

 

เนื่องจากอยู่ในพื้นที่โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ (หนองพลับ) โดยสำนักงาน กปร. สนับสนุนงบประมาณ ให้แก่กรมชลประทาน เพื่อขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ ที่มีสภาพตื้นเขินและสระเก็บน้ำบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ขุดลอกสระเก็บน้ำตาพูล และสระเก็บน้ำบ้านกลุ่ม 12 เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำ  เมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำขึ้น ทำให้ความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำหมดไป  ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ จึงเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ทำประปา และทำการเกษตร ให้แก่ราษฎร จำนวน 1,790 ครัวเรือน ส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 4,500 ไร่ และช่วยบรรเทาอุทกภัย

 

\'อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ\' แหล่งน้ำชลประทานท่ายาง  

\'อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ\' แหล่งน้ำชลประทานท่ายาง  

\'อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ\' แหล่งน้ำชลประทานท่ายาง  

\'อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ\' แหล่งน้ำชลประทานท่ายาง  

\'อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ\' แหล่งน้ำชลประทานท่ายาง  

  "อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"    ใน  ต.เขากระปุก  อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเป็นแหล่งสนับสนุนการใชน้ำครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร กว่า 4,500  ไร่