กรมชลประทาน อวด บริหารจัดการน้ำ คาบสมุทรสทิงพระ ส่งน้ำช่วยพท.แล้ง 2 หมื่นไร่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา รองอธิบดีกรมชลประทาน นำบรรยายสรุป ชูศักยภาพ "โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ" มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไข ปัญหาด้านอุทกภัย พ่วงแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ที่ จ.สงขลา ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยมี นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายชูชาติ รักจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายการุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ สำหรับพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ มีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ได้แก่ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร และบางส่วนของอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
อยู่ในความรับผิดชอบของ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ซึ่งได้บริหารจัดการน้ำและส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากพื้นที่ อ.ระโนด มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้มีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างในช่วงฤดูฝน เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบ ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนในด้านอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง
กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการ โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ โดยได้ดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านอุทกภัยในพื้นที่ อาทิ ก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านท่าเข็น ขุดขยายคลองศาลาหลวง ระยะทาง 2.44 กิโลเมตร ขุดขยายคลองโคกทอง -หัวคลอง ความยาว 4.66 กิโลเมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองระโนด ขุดขยายคลองโรง ความยาว 4.00 กิโลเมตร ขุดขยายคลองพังยาง ความยาว 4.50 กิโลเมตร ขุดขยายคลองหนัง ความยาว 2.52 กิโลเมตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำสนามชัย และก่อสร้างคันกั้นน้ำบ้านเกาะใหญ่ - บ้านท่าคุระ ความยาว 3 กิโลเมตร
ด้านการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ได้ดำเนินการโครงการต่างๆ อาทิ การเพิ่มศักยภาพคลองพลเอกอาทิตย์ พร้อมอาคารประกอบ ด้วยการขุดขยายคลอง ความยาว 37.40 กิโลเมตร การก่อสร้างสถานีสูบน้ำโคกพระและระบบส่งน้ำ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองหนัง และขุดลอกแก้มลิงชะแล้ เป็นต้น ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถชะลอน้ำหลากในช่วงฤดูฝนได้ 32,000 ไร่ ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง 21,530 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 1,485 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้เพิ่มขึ้นอีก 12,000 ไร่
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแนวทางในการอนุรักษ์ และพัฒนาทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช
ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยมี สมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ,ชูชาติ รักจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,วิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน และ การุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 ร่วมบรรยายสรุป