ข่าว

'สภาทนายฯ'ช่วย 'กลุ่มคนรักษ์เขากะลา' นับ1,000 เดือดร้อนจาก 'เหมืองแร่'

'สภาทนายฯ'ช่วย 'กลุ่มคนรักษ์เขากะลา' นับ1,000 เดือดร้อนจาก 'เหมืองแร่'

06 มี.ค. 2567

'สภาทนายฯ' ตั้งทีมช่วย 'กลุ่มคนรักษ์เขากะลา' นับ 1,000 เดือดร้อนจากการทำ 'เหมืองแร่' ปิดกั้นถนน เจ็บป่วยจาก 'ฝุ่น น้ำไม่สะอาด 'พืชผลทางการเกษตรเสียหาย'

วันที่ 6 มี.ค.2567 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์  นายปัญญา พานทอง ตัวแทนชาวบ้าน ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ นายเกษมสุข กลัดเพ็ชร ตัวแทนชาวบ้าน ต.เขากะลา อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ตัวแทน กลุ่มคนรักษ์เขากะลา พร้อมชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขากะลา เข้าพบ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นายขวัญชัย โชติพันธุ์ รองประธานกรรมการ นายไพโรจน์ จำลองราษฎร์ รองประธานอนุกรรมการ นางทัดดาว จตุรภากร กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย

 

กรณีคัดค้านบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ยื่นขอประทานบัตรประกอบกิจการ เหมืองแร่หินปูน ในพื้นที่ โดย กลุ่มคนรักษ์เขากะลา ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ประสงค์ให้มีการประกอบกิจการในลักษณะดังกล่าว ตลอดจนหวั่นเกรงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบน้ำ ระบบนิเวศน์ พืชผลทางการเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาตและดำเนินกิจการ เหมืองแร่ ในปัจจุบัน ได้ปิดถนนหรือทางสาธารณะประโยชน์ของชาวบ้าน อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน แม้จะมีการพิพากษาลงโทษผู้ปิดทางสาธารณะแล้วก็ตาม

ดร.วิเชียร กล่าวว่า ได้รับคำร้องเรียนมาจากตัวแทนชาวบ้าน เห็นว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องอำนวยความยุติธรรมและทางทนายมีทีมงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้ส่งตัวแทนเพื่อลงไปดูพื้นที่การทำ เหมืองแร่ ไปตรวจสอบเห็นสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงให้ชาวบ้านทำเป็นหนังสือให้เป็นหลักฐานว่าต้องการขอความช่วยเหลือจาก สภาทนายความ หลังจากวันนี้ที่ได้รับหนังสือแล้ว จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะทนายที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม น่าจะประมาณ 10 คน​ ตรวจสอบความเสียหายชาวบ้านเพิ่ม​ เบื้องต้น พบผู้ได้รับผลกระทบ​ เป็นชาวบ้านในละแวกนั้นกว่า 1,000 คน เป็นชาวบ้านในต.เขากะลา​และบริเวณใกล้เคียง หากเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะเขตอำนาจศาลไหนไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา เเพ่งสิ่งเเวดล้อม หรือคดีปกครองจะพิจารณาดำเนินการทั้งหมด

 

นายไพโรจน์​ รองประธานอนุกรรมการ​ กล่าวว่า​ ทีมงานได้ลงพื้นที่ดูสถานที่ที่มีการทำเหมืองแร่ทั้ง 2 แห่ง พบว่าขณะนี้มีหนึ่งแห่งที่กำลังขอประทานบัตรประกอบกิจการ เหมืองแร่หินปูน อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของ​ชาวบ้าน โดยครั้งแรกที่เข้าไปประชุมรับฟังความคิดเห็นนั้น ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านการทำ เหมืองแร่  เนื่องจากเชื่อว่าการทำ เหมืองแร่ ในครั้งนี้จะมีผลกระทบ ต่อการอุปโภคบริโภคน้ำที่ไหลลงสู่บึงบอระเพ็ด​ที่ใช้หล่อเลี้ยงคนทั้งจังหวัด​ ส่วนอีกแห่งมีการปิดกั้นทางสาธารณะ​ และมีการทำ เหมือนแร่ เข้ามาในบริเวณอาณาเขตของน้ำตกที่อยู่บริเวณนั้น​ ปกติน้ำตกเวลาหน้าฝนจะไหลสู่บึงบอระเพ็ด จึงเป็นเรื่องที่คณะทำงานลงพื้นที่สำรวจและเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงแนะนำให้ชาวบ้านทำหนังสือขึ้นมาเพื่อขอความช่วยเหลือต่อ สภาทนายความ ในวันนี้

นายไพโรจน์​  กล่าวต่อว่า​  นอกจากชาวบ้าน ต.เขากะลาแล้ว​ ยังมีชาวบ้าน ต.พระนอน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการ เหมืองแร่​ เพราะหากมี การระเบิดเขาจะมีละอองฝุ่นฟุ้งกระจายและมีเศษหินที่กระเด็น​  ไม่ทราบว่ามีสารเคมีอันตรายปนเปื้อน อยู่ในระบบนิเวศน์ สัมปทานที่ขอคือแร่เพอร์ไลท์ที่เอามาทำเฟอร์นิเจอร์หิน แต่จากการตรวจพบแร่ชนิดอื่น​ แต่ยังไม่สามารถบอกชื่อแร่ได้ต้องนำมาตรวจสอบต่อไป

 

นายปัญญา ตัวแทนตำบลพระนอน​ กล่าวว่า ต.พระนอนอยู่ในพื้นที่สีชมพู ไม่สามารถสร้างโรงงานได้ แต่ผู้ประกอบการใช้วิธีตั้งในพื้นที่สีม่วง ตำบลติดกัน มีบริษัทที่ได้ประทานบัตร ทำเหมืองแร่ แล้ว 4 บริษัท  และมีบริษัทอีกหลายแห่งต้องการเข้ามาขอประทานบัตรทำเหมือง แต่ชาวบ้านพยายามคัดค้านบริษัทที่จะเข้ามาใหม่เพราะ ได้รับผลกระทบอย่างมาก ที่เห็นชัดเจนที่สุดส่วนใหญ่คือสุขภาพที่ผ่านมาได้มีสถิติว่า ชาวบ้านป่วยกับโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หลอดลม และผลกระทบจากแรงระเบิด คือ บ้านเรือนแตกร้าวหลายหลัง อีกทั้งพื้นที่ของตนเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้ขาดแคลนน้ำสะอาด เพื่อใช้รดน้ำพืชผลทางการเกษตร โดยชาวบ้านในพื้นที่ปลูกอ้อย มัน ข้าวโพด กระทบกับผลผลิตการเกษตรเพราะ มีฝุ่นละอองไปจับใบ จากที่เคยได้ผลผลิต 10 ตัน ภายหลังเหลือประมาณ 4 ตัน ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด

 

“ปัจจุบันชาวบ้านยังรู้สึกกังวลใจกลัวมีผู้มีอิทธิพลเข้าไปข่มขู่ แต่หากไม่สู้ก็ตายเหมือนกัน และได้รู้จากบุคคลใกล้ชิดว่ามีการเข้าไปจ่ายเงินให้ชาวบ้านเพื่อทำประชาพิจารณ์ให้เห็นชอบในการขอประทานบัตร แต่ผมไม่มีหลักฐาน วันนี้ได้นำหลักฐานเป็นเอกสารและรูปถ่าย ฝุ่น จากการระเบิด เส้นทางถนนที่ปิดการใช้ โดยมีป้ายห้ามผ่าน บ้านเรือนที่พื้นแตกร้าว และแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเอกสารทางการแพทย์ เป็นสถิติผู้ป่วยในหมู่ 10 ของ ต.พระนอน ที่ล้มป่วย มาประกอบการยื่นขอความช่วยเหลือจาก สภาทนายความ ”นายปัญญา กล่าว  

 

ด้านนายเกษมสุข กลัดเพ็ชร ตัวแทนชาวบ้าน ต.เขากะลา กล่าวว่า ทำหนังสือถึง อบต.เขากะลา ให้ดำเนินดคีกับบุคคลที่ปิดเส้นทางการใช้ถนนของชาวบ้าน ทาง อบต.ก็ได้มีหนังสือส่งกลับมาว่าได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว และได้แจ้งให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวทราบแล้ว แต่ก็ไม่ได้ความคืบหน้า จึงไปแจ้งความที่ สภ.นิคมเขาแก้ว ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการเปิดใช้ถนนสาธารณะให้กับชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ ในประเด็นการปิดถนนสาธารณะ ดร.วิเชียร กล่าวว่า ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดแล้ว ถ้าหากยังไม่เปิดใช้ เราสามารถยื่นฟ้องและศาลสามารถให้เยียวยาเปิดใช้ทางสาธารณะได้ และสำหรับการเพิกเฉยในการดูแล ทาง สภาทนายความ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อนดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นทางอาญาหรือทางแพ่งต่อไป ในส่วนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งเเวดล้อมนี้ ในประเด็นเรื่องกฎหมายบางฉบับที่ล้าหลัง ทาง สภาทนายความ ได้ตั้งคณะทำงานเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้งระบบเพื่อเสนอผู้มีอำนาจในการเเก้ไขกฎหมายต่อไป