ข่าว

เงินหายพริบตา คุณตา 81 ปีถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงิน-จำนองบ้าน สูญ 22 ล้าน

เงินหายพริบตา คุณตาวัย 81 ปีถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงิน-จำนองบ้าน สูญรวม 22 ล้าน ลูกชายวอนแก๊งมิจฉาชีพอย่าหลอกผู้สูงอายุ หวั่นทำให้ป่วยจนถึงแก่ชีวิต


คุณตาวัย 81 ปี ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกสูญเงิน 22 ล้านบาท

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมในรูปแบบออนไลน์ยังเป็นปัญหาระดับประเทศสร้างความเสียหายไปอย่างกว้างขวาง และที่น่าตกใจคือเหยื่อแต่ละรายส่วนใหญ่เป็น "ผู้สูงอายุ"  
 

นายไพรสัณต์ หรือ คุณตาอ๊อด อายุ 81 ปี เคยทำงานเป็นอดีตหัวหน้างานด้านวางแผนธุรกิจ
สายงานด้านเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เล่าให้ฟังว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้กลอุบายว่าบัญชีของคุณตาอ๊อดพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย ตอนนั้นรู้สึกตกใจ จึงทำให้หลงเชื่อมิจฉาชีพ ทั้งยังมาในรูปแบบแบบของการวิดีโอคอลเป็นตำรวจ จึงยิ่งทำให้เชื่อและทำตามขั้นตอนเพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีหรืออายัดทรัพย์สิน ทำให้ตนเองหลงเชื่อโอนเงินไปเป็นเงินสด 19 ล้านบาท
 

แค่นั้นยังไม่พอ หลังจากโอนเงินไปแล้ว มิจฉาชีพยังใช้อุบายให้เอาบ้านไปจำนองขายฝากอีก 3 ล้าน รวมทั้งดอกเบี้ยอีก 450,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเดือนละ 37,000 บาท และให้คืนเงินต้น 3 ล้านบาทที่เอาบ้านไปจำนองขายฝากไว้ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังได้เงินจากจำนองขายฝากบ้านอีก 3 ล้านบาทตนก็ได้โอนเงินให้กับมิจฉาชีพไป รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22 ล้านบาท

กระทั่ง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 67 ช่วงเวลา 14.30 น ได้มีโทรศัพท์เบอร์มือถือ หมายเลข 098- 563-xxxx โทรเข้ามาหา เป็นชายแนะนำตัวว่าชื่อนายรณฤทธิ์ รหัสพนักงาน 593xxx โดยแจ้งตนว่าตนถูกแอบอ้างนำข้อมูลส่วนตัวไปเปิดบัญชีธนาคาร สาขาอยุธยาพาร์ค โดยมีหมายเลขบัญชี 029-781-xxxxxx ซึ่งได้ถูกตรวจบัญชีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 66 โดยทางธนาคารได้ติดต่อประสานงานไปยังสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งใบรับรองการแจ้งความมายังธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ภายใน 2 ชั่วโมง


ต่อมาได้มีเบอร์โทรศัพท์เบอร์มือถือหมายเลข 082-717-xxxx โดยผู้โทรมาอ้างว่าชื่อ พันตำรวจตรีกิตติศักดิ์ เป็นสารวัตรงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธพระนครศรีอยุธยา ต้องการสอบปากคำตนเอง เนื่องจากได้มีการทุจริตในหน่วยงานราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นวงเงิน 11 ล้าน โดยมีนายเอนก ตำแหน่ง สจ. เป็นหัวหน้าขบวนการ และมีผู้ร่วมทุจริตเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ -ผู้น้อยกว่าร้อยคน โดยได้มีการนำเงินจากการทุจริตมาฝากผ่านบัญชีธนาคารออมสินของตนเอง

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แจ้งว่า ตนเองจะได้เงินผ่านบัญชี 10% ของเงินทั้งหมด และเงินที่อยู่ในบัญชีจะต้องเป็นของกลางในคดีอาญา โดยผู้ที่แอบอ้างเป็นพันตำรวจตรี เห็นว่าตนมีอายุมากแล้ว หากต้องไปให้การสอบสวนที่โรงพักจะลำบาก เลยแนะนำให้ตนทำตามขั้นตอน ผ่านทางไลน์


จากนั้นคนที่อ้างตัวเป็นตำรวจรายนี้ได้ บอกกับตนเองว่าคดีนี้เป็นคดีใหญ่ มีผู้ร่วมขบวนการเป็นทั้งตำรวจ-ทหาร-ทนายความ รวมทั้งยังได้ส่งรูปคำสั่งจากศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของตนเองทั้งหมดโดยให้ถือเป็นความลับ  ถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีก็จะออกหนังสือแสดงความบริสุทธิ์ให้ รวมทั้งจะมีการเยียวยาให้ตามขั้นตอนของกฎหมาย

จากนั้น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังโน้มน้าวให้ทำตามขั้นอีกหลายขั้นตอน เพื่อให้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการโอนเงินทรัพย์สินที่มีอยู่ไปให้ตรวจสอบ เป็นเงินสดจำนวน 19 ล้านบาท รวมทั้งบ้านที่ไปจำนองขายฝากอีก 3 ล้านบาท ที่ตนเองกับภรรยา (เสียชีวิตไปแล้ว) ทำงานเก็บหอมรอมริบมาตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างตัว จนเงินที่มีอยู่เริ่มหมดตัวแล้ว จึงได้ติดต่อลูกชายคนเดียวที่ทำงานอยู่ตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์


ลูกจึงเอะใจ เชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกจนหมดตัวแล้ว วันรุ่งขึ้นลูกชายตนก็รีบบินกลับมาหาตน และนำข้อมูลทั้งหมดไปแจ้งความที่ สอท.2 เมืองทองธานี "ตนสูญทั้งเงินและกำลังจะสูญบ้าน ใน 1 ปี และเสียสุขภาพจิตกินไม่ได้นอนไม่หลับ น้ำหนักลดไป 3 กิโลกรัมจนต้องกินยาแทบจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อยากจะฆ่าตัวตาย ก็อยากให้ตำรวจช่วยติดตามเงินและบ้านที่เสียไปกลับคืนมาให้ตนด้วย 


ขณะที่นายนีรนาท หรือโอ๊ต ลูกชายเพียงคนเดียว บอกว่าโมโหและเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก ทำไมถึงมาหลอกลวงกันได้ขนาดนี้เอากันให้หมดตัวเลย พอตนได้รู้ตนก็รีบบินกลับมาจากสิงคโปร์ทันที เพื่อมาช่วยพ่อรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปแจ้งความที่ สอท. ก็อยากขอร้องพวกคอลเซ็นเตอร์ว่าอย่ามาทำกินบนหลังคนเลย ขอให้มีความ เมตตาสงสารผู้คนบ้าง ในเมื่อคนไม่มีแล้ว เสียทั้งสุขภาพจิต สุขภาพกาย ไม่เป็นอันกินอันนอน


ที่สำคัญ คุณพ่ออายุมากแล้ว ตอนนี้ไม่มีทรัพย์สินเหลือแล้ว ถ้าเกิดเจ็บป่วยก็จะลำบาก ก็ขอรบกวนฝากทาง สอท.ด้วย และก็ฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้เกี่ยวข้อง เพราะในกรณีแบบนี้ทางแบงก์ทั้งหลาย สามารถใช้ระบบในการตรวจสอบได้ และหากเป็นไปได้อยากให้ธนาคารใช้ระบบ IT เพื่อตรวจจับความผิดพลาดหรือตั้งข้อสังเกตว่ามีเงิน เข้า-ออก เป็น10เท่าของรายได้ น่าจะทำการหยุดธุรกรรมไว้จนกว่าทางเจ้าของบัญชีจะมาแจ้งอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันให้ทางลูกค้า

มิเช่นนั้นก็จะมี ประชาชนคนสุจริตที่ทำงานเก็บเงินมาช่วยชีวิต ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกไม่มีวันสิ้นสุด