ซ้อลักษณ์ ขอโทษ เข้าใจผิด มหาวิทยาลัยพิษณุโลก พร้อมลาออกจากการเป็นนักศึกษา
"ซ้อลักษณ์" กล่าวขอโทษกลางที่ประชุม เข้าใจผิด มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ปม ซื้อขายวุฒิการศึกษา พร้อมลาออกจากการเป็นนักศึกษา
ที่ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยพิษณุโลก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ว่าที่ร้อยตรีรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรมในสังคม นายชาญชัย ฉายบุ ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วย "ซ้อลักษณ์" นางวิไลลักษณ์ ไชยชาญ ผู้เสียหาย และ น.ส.ปุ๊กกี้ ได้เดินทางนำหนังสือมายื่นต่อคณะผู้บริหารของทางมหาวิทยาลัยพิษณุโลก นำโดย ดร.มานพ เกตุเมฆ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยพิษณุโลก โดยได้ประชุมหารือข้อเท็จจริง และตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงกรณี ซื้อขายวุฒิการศึกษา และทวงถามเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ร่วมขบวนการซื้อขายวุฒิว่ามีมากกว่า 1 คน หรือไม่
ทางด้านของ "ซ้อลักษณ์" ได้ยกมือกราบขอโทษทางมหาวิทยาลัยพิษณุโลก ที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ทางด้านของทนายทางฝั่งผู้เสียหายได้พูดชี้แจงว่า เพื่อเป็นการเคลียร์ข้อเคลือบแคลงสงสัยทางสังคม เพราะถ้าหากมีขบวนการผู้ร่วมกระทำความผิดซื้อขายวุฒิการศึกษา ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเป็นอย่างมาก
ว่าที่ร้อยตรีรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า ได้พา นักศึกษา เดินทางมหาวิทยาลัยพิษณุโลก เป็นครั้งแรก หลังจากได้สมัครเป็นนักศึกษา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายวุฒิการศึกษา ว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นเพียงอาจารย์ 1 ท่าน มีท่านอื่นหรือไม่อย่างไร ซึ่งคุณลักษณ์ เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยพิษณุโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มีการขยายผลเพิ่มเติมผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการขายวุฒิการศึกษาหรือไม่ อย่างไรให้ มหาวิทยาลัยชี้แจงถึงการตรวจสอบว่ามี อาจารย์และพวก จำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งทั้งหมดจะเป็นผลดีกับทางมหาวิทยาลัยพิษณุโลกเอง
หลังจากเกิดเรื่อง ปรากฏว่าทางมหาวิทยาลัย ได้ส่งบัตรนักศึกษา เข้ามาในระบบออนไลน์ เชื่อว่าวันนี้ประชาชน ผู้ปกครอง สงสัยว่ามีผู้ร่วมขบวนการ เพียง 1 ท่านจริงหรือ อาจมีการขยายผลผู้ร่วมกระบวนการทางมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในมหาวิทยาลัยว่ามีผู้กระทำความผิดมากน้อยเพียงใด
ด้าน "ซ้อลักษณ์" นักศึกษาผู้สียหายกล่าวว่า ตนหลงเชื่อให้มาเป็นนักศึกษา เพื่อจะได้วุฒิการศึกษาปริญญาตรี ด้วยได้รับการชักชวนว่าจะได้ค่าตำแหน่ง 4-5 แสนบาทต่อเดือน จากคนในมูลนิธิฯ เบื้องต้น ได้จ่ายเงินผ่อนจ่าย 3 งวด งวดละ 50,000 บาท 2 ครั้งและครั้งสุดท้าย 30,000 บาท แล้วจะได้วุฒิเลยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้เคยแย้งว่าผิดกฎหมาย ผู้ชักชวนอ้างว่าสามารถเคลียร์กับมหาวิทยาลัยได้ ไม่มีปัญหา ตนเป็นเหยื่อเรื่องนี้
ขณะที่ ดร.มานพ เกตุเมฆ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยพิษณุโลก กล่าวชี้แจ้งว่า ได้มีการสมัครเรียนตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง มีการส่งเอกสารหลักฐานเข้ามาที่มหาวิทยาลัยอย่างครบถ้วน พร้อมกับเงินค่าสมัครเรียนแรกเข้า 1,500 บาทและค่าเทอม 130,000 บาท ซึ่งทางมหาวิทยาลัย ได้รับนักศึกษาตามขั้นตอน 2 คำ คือ มา อยู่ ไป โดยนักศึกษาเมื่อมาสมัครเรียน ทางคณะกรรมการจะมีการประกาศรายชื่อเสร็จ นำชื่อเข้าสู่ระบบนายทะเบียน เมื่อมาอยู่กับเรา จากนั้นส่งชื่อไปที่คณบดีแต่ละคณะ เมื่อรับหมดจะแยกไปตามหมวดการเรียนการสอน ทางคณะนั้นๆ นศ.ไปเรียนเป็นเวลา 3 ปี 3 ปีครึ่งหรือ 4 ปี
หลังจากเรียนจบการศึกษาแล้ว ทางคณะกรรมการก็จะมาพิจารณาหลักสูตรว่าถูกต้องไหม ตรวจสอบว่ามีชื่อตั้งแต่แรกเข้าจริง จบจริง แล้วจะส่งชื่อไปผู้บริหารวิชาการว่า รายชื่อเข้ามาตอนแรกรับกับรายชื่อเมื่อจบตรงกันไหม เข้า-ออก จะมีการตรวจรายชื่อว่าเข้ามาจริง ไม่มีการเรียนก็ไม่จบการศึกษา สุดท้ายนักศึกษาที่จบจะเสนอคณะสภามหาวิทยาลัยเพื่อให้จบการศึกษาอีกครั้ง โดย นักศึกษา ที่จบแล้วจะต้องมีอาชีพ มีงานทำ มีความซื่อสัตย์ พอเพียง ไม่สร้างความขัดแย้ง สร้างศัตรูและเป็นคนดีของสังคม
หลังจากได้มีการเจรจาและสอบถามในเรื่อง การซื้อขายวุฒิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว "ซ้อลักษณ์" และทีมทนาย ต่างเข้าใจและเชื่อว่าทางมหาวิทยาลัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการซื้อขายวุฒิการศึกษา เป็นเพียงแค่ตัวบุคคลเท่านั้น และได้กล่าวขอโทษมหาวิทยาลัย ที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง พร้อมกันนี้ แจ้งความจำนงจะไม่ขอเรียนต่อ และขอทำเรื่องคืนเงินจำนวน 130,000 บาท ที่ทำการลงทะเบียนไว้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ได้ให้ "ซ้อลักษณ์" กรอกใบยื่นความจำนง ลาออกจากการเป็นนักศึกษา และมหาวิยาลัยพิษณุโลก โอนเงินคืนให้ ซ้อลักษณ์ ไปทั้งหมด ซึ่งภายหลังจากได้รับเงิน ซ้อลักษณ์ บอกว่าจะนำเงินไปเป็นค่าเทอมลูกต่อไป
โดย : Mongkolchaowaraj Tungmungmee