ตามหา..อภินิหาร ‘คุณยายจันทร์’ ธรรมกายจะล่มมั้ย?
คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย’ และมีบทบาทต่อการก่อสร้างวัดนี้อย่างแท้จริง
เมื่อเอ่ยถึง วัดพระธรรมกายแล้ว มักนึกถึง “พระไชยบูลย์” อดีตเจ้าอาวาสขึ้นมาเป็นอันดับแรก แต่สำหรับ “คนธรรมกาย” แล้ว มีอีกหนึ่งบุคคลที่พวกเขาเคารพกราบไหว้มายาวนาน นั่นคือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย” และมีบทบาทต่อการก่อสร้างวัดนี้อย่างแท้จริง
ใครไปมาที่วัดจึงมักได้ยินได้ฟังเรื่องราวของ “อุบาสิกาจันทร์” หรือ “คุณยายจันทร์” อยู่เสมอ อีกทั้งมีรูปหล่อ และอาคารต่างๆ ให้เห็นอยู่ในวัดที่ได้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของคุณยายจันทร์ในฐานะปูชนียบุคคลของวัดธรรมกาย ขณะที่ทางวัดเองได้จัดกิจกรรมงานบุญคุณยายจันทร์เพื่อให้สาธุชนได้ร่วมทำบุญอย่างต่อเนื่องหลายวาระหลายโอกาส ถึงปีนี้ก็ครบชาตกาล 108 ปีแล้ว
อุบาสิกาจันทร์ หรือ คุณยายที่ชาวธรรมกายเห็นนั้น เป็นสตรีผอมบางร่างเล็ก แต่ประกายดวงตาแกร่งกล้านั้น เป็นลูกชาวนาอำเภอนครไชยศรี จ.นครปฐม เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2452 มีพี่น้อง 9 คน โดยท่านเป็นคนที่ 5 ซึ่งไม่ไกลจากถิ่นเกิดนั้นเป็นเส้นทางบรรลุธรรมและเผยแผ่วิชชาธรรมกายของ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ด้วย จากที่แวดล้อมด้วยวัดเก่าแก่จึงน่าจะทำให้ลูกสาวพ่อพลอยแม่พันซึมซับศาสนาไปด้วย วันหนึ่งถูกพ่อขี้เมาแช่ง “ขอให้หูหนวก 500 ชาติ” เป็นจริง กระทั่งอายุ 18 ปี ได้ยินกิตติศัพท์หลวงพ่อวัดปากน้ำ ถึงการสอนคนให้เข้า "ธรรมกาย" ได้ เพื่อไปพบพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้วก็ได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาวิธีการนั่งสมาธิเพื่อไปขอขมาพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว
อายุ 26 ปี มุ่งไปสู่วัดปากน้ำ แต่ยังเข้าไม่ถึงเพราะสายการปฏิบัติธรรมมีหลายขั้น จึงเริ่มฝึกสมาธิอย่างจริงจัง กับคุณยายทองสุก สำแดงปั้นน ครูสอนสมาธิ จากวัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) จนได้เข้าถึงพระธรรมกาย จากการใช้วิชชาธรรมกายนำบุญช่วยพ่อพ้นจากนรกและได้ขอขมา ยิ่งเชื่อมั่น
29 ปี ตัดสินใจโกนหัวออกบวชและได้กราบหลวงพ่อวัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) ผู้ค้นพบวิชาธรรมกายตัวจริง ในเวลานั้นหลวงพ่อสดได้ก่อตั้ง เรียกว่า “โรงงานทำวิชชา” หรือ "ห้องปฏิบัติธรรมเพื่อศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูง" มาแล้ว 7 ปี อุบาสิกาจันทร์เป็นคนที่มีความวิริยะอุตสาหะ และทำจริง จึงศึกษาวิชชาธรรมกายได้อย่างรวดเร็วและเชี่ยวชาญยิ่ง จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าเวรในการทำวิชชา และได้รับคำชมจากหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญว่า “ลูกจันทร์นี่ หนึ่งไม่มีสอง” นับแต่นั้นมาจึงถือเป็นศิษย์เอกคนหนึ่ง
อายุ 50 ปี หลวงพ่อวัดปากน้ำได้มรณภาพจากไปอุบาสิกาจันทร์ จึงเป็นผู้สานต่อเผยแพร่เจตนารมย์วิชชาธรรมกายให้กับคนรุ่นใหม่
อายุ 54 ปี ได้พับกับ "ไชยบูลย์ สุทธิผล นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบมาฝากตัวเป็นศิษย์ โดยมีข้อแม้ให้ไปเรียนหนังสือให้จบระดับปริญญาเสียก่อน เด็กหนุ่มวัย 19 ปี จึงกลับไปเรียน แล้วกลับมาใหม่พร้อมกับ “เผด็จ ผ่องสวัสดิ์” (หรืออดีตหลวงพ่อทัตตชีโว) นิสิตรุ่นพี่ที่ฝึกวิชาคงกระพันชาตรีมาก่อน ทันทีที่คุณยายจันทร์เห็น 2 หนุ่มในเวลานั้น ถึงกับร้องโอโหเพราะเห็น “วิชาเดียรัจฉาน” เต็มตัวจึงได้สอนสั่งจากคุณยายจันทร์ต่อมาทั้งคู่จึงฝึกวิชชาธรรมกายแทน กระทั่งปี 2513 ไชยบูลย์เรียนจบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ
อายุ 61 ปี เริ่มมีดำริสร้างวัดแห่งใหม่ เมื่อมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนหนึ่งแล้วจึงมุ่งหวังขยายวิชชาธรรมกายให้กว้างขวาง แต่จะเป็นจริงได้ต้องมี “ที่ดิน” สักแห่งหนึ่ง ก็มองไปทางปทุมธานี จึงไปขอบริจาคสัก 50 ไร่ บังเอิญเป็นวันเกิดของเจ้าของที่พอดีจึงยกให้ทั้งผืน 196 ไร่ จากนั้นก็ส่ง พระเผด็จทัตตชีโว ไปเฝ้าไว้ พอถึงวันเสาร์ คุณยายจันทร์ก็นั่งรถไปดูที่ พอไปถึงก็ปฏิบัติธรรมและปลูกต้นไม้ไปด้วย
แรกๆ ก็ลงมือทำกันเอง แต่นานไปชักจะไม่ไหวเพราะที่กว้างขวางถึง 196 ไร่ด้วยกัน จึงเริ่มไปบอกบุญชาวบ้านรอบบริเวณ ด้วยเเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน เจอใครก็ยกมือไหว้ จนคนแถวนั้นรู้จักคุ้นหน้าต่างยกกันมาช่วยสร้างกุฎิและครัวเพิ่มมาเป็นลำดับ
อุบาสิกาจันทร์ดูแลพระดีเยี่ยม สมัยแรกๆ ถึงกับไม่ให้พระออกบิณฑบาต โดยสร้างครัวเป็นโรงทานไว้ แต่ปรากฏว่านานวันเข้าร่างกายไม่ไหวเพราะเวลานั้นอายุเข้าเลข 6 แล้ว เริ่มแรกยังไม่เป็นวัด รู้จักในนาม “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” ก่อนเปลี่ยนชื่อภายหลังเป็น “วัดพระธรรมกาย”
อายุ 66 ปี นำทีมคณะบุกเบิก ทั้งพระไชยบูลย์ และลูกศิษย์ลูกหาย้ายจาก “บ้านธรรมประสิทธิ์” ในวัดปากน้ำไปอยู่ที่คลองหลวง เมื่อการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมและกุฏิเสร็จในปี 2518
นั่น ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระธรรมกายภายหลัง
พอมาอยู่แล้ว อย่างแรกคือ การตั้ง “กฎระเบียบ” ภายในวัดด้วยตนเองทั้งหมด โดยเฉพาะ “ความเป็นระเบียบ” และ “ความสะอาด” โดยนำประสบการณ์เมื่อครั้งที่อยู่วัดปากน้ำภาษีเจริญมาใช้ด้วย ขณะที่ตัวเองก็ทำงานช่วยวัดทุกอย่าง โดยเฉพาะงานครัวหอฉัน ควบคู่ไปกับการนั่งธรรมะจึงได้รับการยกย่องเป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีทั้งเรื่องช่วยงานวัดและการปฏิบัติธรรม
อายุ 79 เป็นประธานกฐินสามัคคีของวัดพระธรรมกายเป็นครั้งแรก ได้เห็นการเติบโตของธรรมกายอย่างยิ่งใหญ่ โดยซื้อที่ดิน 2,000 ไร่ เพื่อรองรับสาธุชนที่มาร่วมทอดกฐินสามัคคี ณ สภาธรรมกายสากลหลังคา
วัย 85 ปี คุณยายจันทร์เริ่มมีอาการป่วย สุขภาพอ่อนแรงจนเห็นได้ชัด กระทั่งละสังขารจากไปด้วยวัย 92 ปี เมื่อ 10 กันยายน 2543 ทางด้านพระไชยบูลย์ได้มีดำริให้สวดอภิธรรมติดต่อกันเป็นเวลา 500 วัน ณ บ้านแก้วเรือนทอง อย่างไรก็ตามทางวัดได้กำหนดให้ทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันสลายร่าง หรือ “วันมหาปูชนียาจารย์” ซึ่งทางศิษยานุศิษย์จากทั่วโลกได้เดินทางมาประกอบพิธีบุญกุศลอุทิศให้เป็นการแสดงความกตัญญูบูชาครู (อีกวันหนึ่ง) ภายหลังการสลายร่าง อัฐิของคุณยายได้เปลี่ยนเป็น “อัฐิธาตุ” ที่มีลักษณะเป็นรัตนชาติ คือ เป็นเกล็ดทอง ทับทิม และแก้ว ได้รับการอัญเชิญบรรจุไว้ภายใน มหารัตนธาตุเจดีย์ ประดิษฐาน ณ บ้านแก้วเรือนทองคุณยายฯ และเหล่าศิษยานุศิษย์ได้สถาปนาท่านเป็น “คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง” นับตั้งแต่นั้นมา
ภายในวัดได้จัดสร้าง อนุสรณ์สถานคุณยายอาจารย์ฯ 3 แห่งด้วยกัน คือ หอฉันคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง เรียกโดยย่อว่า หอฉันคุณยาย, มหาวิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง และ อาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตน อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
ถึงวันนี้ 108 ปีแล้ว คุณยายอาจารย์ฯ ยังสร้างคุณูปการต่อวัดอย่างต่อเนื่อง โดยทางวัดได้จัดพิธีเพื่อให้เหล่าศิษยานุศิษย์มาปฏิบัติธรรมบูชาครูบาอาจารย์อย่างต่อเนื่อง