ย้อนรอย..สิงห์เหนือ " พระชลอ อิสโร" แค่เสียดายยังไม่พอ
บางคนถามว่าเขาไปไหน บอกเลย ชลอ เกิดเทศ อดีตมือปราบพระกาฬ ฉายา "สิงห์เหนือ" ยังอยู่ และเพิ่งบวชเป็นพระ มีฉายาแปลว่า "ผู้ยิ่งใหญ่" ว่าแต่ทำไมต้องได้ฉายานี้?!
บางคนถามว่าเขาไปไหน บางคนตอบว่าเขาติดคุก บางคนเถียงว่าเขาออกมาแล้ว ขณะที่บางคนคิดว่าเขาไปไกลกว่านั้น
แต่บอกเลยวันนี้ ชลอ เกิดเทศ ยังอยู่ และเมื่อ17 มิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งบวชเป็นพระที่วัดดัง จ.แพร่ ฉายา 'พระชลอ อิสโร” ที่แปลว่าผู้ยิ่งใหญ่ พร้อมระบุเหตุผลที่บวชที่วัดแพร่ธรรมาราม แห่งนี้ ว่ามาด้วยศรัทธาในหลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เจ้าอาวาส
และหลังจากนี้ พระชลอจะย้ายไปจำอยู่ที่วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นวัดสาขา และคาดว่าจะครองผ้าเหลืองปฏิบัติธรรมต่อให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว
ถึงตรงนี้ หลายคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ อาจต้องถามว่าเขาเป็นใคร ก็ต้องทวนซ้ำ!
แต่ก่อนอื่น บอกเลยว่าคนๆ นี้เรียกได้ว่าเคยมีทั้งอำนาจ และบารมีกว้างขวางในหลายวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอล และก็ยัง เป็นอีกตัวอย่างของชีวิตถึงขีดสูงสุด และกลับคืนลงสู่สามัญของแท้
พระชลอ อิสโร เดิมชื่อ "ชลอ" นามสกุลอาจจะ “เกิดเทศ” แต่เขาถือกำเนิดที่เมืองไทย เมื่อ 28 สิงหาคม 2481 เป็นชาวกรุงเทพฯ บิดาคือ พันโทแช่ม มารดาคือ ทองคำ เกิดเทศ
ชีวิตส่วนตัว พระชลอครั้งยังเป็น นายชลอ ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่า "ป๋าลอ" สมรสครั้งแรกกับ สุรางค์ (สกุลเดิม พลทรัพย์) ซึ่งภายหลังได้หย่าขาด แต่ก็มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ ชอบรบ (เสียชีวิต), ชนม์ยืน และ กุมาริภา เกิดเทศ
อย่างไรก็ดี ต่อมาป๋าลอสมรสใหม่กับ มิเชล รัสเซล (อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ร.ร.นายร้อยตำรวจสามพราน) ซึ่งมีบุตรติดมา 2 คน โดยเธอเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วในวัย 77 ด้วยอาการมะเร็งกระเพาะอาหาร
สำหรับความรักของป๋าลอหนนี้ น่าสนใจเพราะที่จริงนั้น เริ่มคุตั้งแต่ ป๋าลอเรียนอยู่ร.ร.นายร้อยสามพราน แต่ก็มีเหตุให้แยกย้ายเมื่อฝ่ายหญิงกลับประเทศจนไปมีครอบครัว ครั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างหย่าร้าง ก็หวนกลับมาครองรักกันใหม่ จนวาระสุดท้าย
อย่างไรก็ดีก่อนเสียชีวิต ภรรยาแหม่มของป๋าลอคนนี้ ยังเป็นกรรมการผู้จัดการของ บริษัท ไวท์ ไดมอนด์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตเครื่องประดับจากอัญมณีในไทยอีกด้วย
ย้อนไปในวัยเรียน หลังจากป๋าลอจบมัธยมจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ แล้วไปต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จบในรุ่น 15 เขาก็เริ่มรับราชการอยู่ที่ สน.นางเลิ้ง กทม. แล้วย้ายลงใต้ไปประจำที่ พังงา, ขึ้นมาอยู่ หนองคาย, พระนครศรีอยุธยา, ตาก, ลพบุรี ตามลำดับ
กระทั่งมารับตำแหน่งรองผู้บังคับการกองปราบปราม และรับตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ยศพลตำรวจตรี ได้ฉายาว่า “สิงห์เหนือ” เจ้าพ่อแห่งคุ้มพระลอ จ.ตาก และได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ
ฉายาสิงห์เหนือ ก็ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจากผลงานเด็ดๆ ที่ต้องยกเป็นมือปราบระดับพระกาฬ แถมยุคหนึ่งป๋าลอยังขึ้นหม้อได้เป็นถึงนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย (ปี 2525- 2538) ต่อจาก ประชุม รัตนเพียร และยังเคยเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยอีกด้วย
ชื่อชั้นของป๋าลอเวลานั้น บอกเลย ไม่มีใครไม่รู้จัก!!
ช่วงปี 2529 ป๋าลอ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 จากนั้นปีเดียวไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา จนปี 2532 ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผ่านไปสองปี วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 เขาขึ้นเป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ชุมชนและมวลชนสัมพันธ์)
และผ่านไปแว้บเดียว วันที่ 7 พฤษภาคม 2534 เขาขึ้นเป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ แต่ก็มีเหตุให้ออกจากราชการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2537 เนื่องด้วยคดีดังเพชรซาอุ ที่ทำให้เขา พล.ต.ท.ชลอขณะนั้น มีชะตาชีวิตที่พลิกคว่ำขะมำหงาย จากตำรวจมาเป็นนักโทษประหาร
เนื่องจากไปเกี่ยวข้องกับการอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขันฑ์ ลูกเมียของเจ้าของร้านเพชรย่านบ้านหม้อ ที่มือโจรกรรมเพชรซาอุ นามว่า “เกรียงไกร เตชะโม่ง” ชาวลำปาง นำเพชรไปขายให้ ป๋าลอในฐานะผู้รับผิดชอบทำคดี ก็เดินหน้าเต็มที่จนสามารถนำคนร้าย ผู้รับซื้อของโจรและเพชรของกลางกลับมาได้ และส่งคืนไปยังราชวงศ์ซาอุฯ
แต่ทว่าภายหลังหลับพบว่าเพชรที่ตำรวจไทยส่งคืนกลับไปนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพชรปลอม! งานเลยเข้าป๋าลออย่างจัง ต้องเร่งสะสาง ไปตามหาเจ้าของร้านเพชรดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง โดยใช้วิธีจับลูกเมียมาเป็นตัวประกัน แต่การณ์พลิกกลายมาเป็นคดีอุ้มฆ่าในที่สุด
สุดท้าย คดีนี้ว่ากันยาวนานร่วม 15 ปี มามีคำตัดสินเอาปี 2552 ที่ป๋าลอจำเลยที่ 1 และพวกโดนไปหนักหนา ขณะที่ยังมีหลายคนที่เสียชีวิตไปด้วยระหว่างช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ของป๋าลอนั้นโดนตัดสินประหารชีวิต
อย่างไรก็ดี เวลาผันผ่าน เรื่องราวของป๋าลอเหลือไว้แต่บทสรุปที่ว่า เขาเคยเป็นนักโทษเด็ดขาดถูกพิพากษาประหารชีวิตในคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกในตระกูลศรีธนะขัณฑ์
ถูกตัดสินจำคุกในคดียักยอกเพชรซาอุฯ ซึ่งเป็นของกลางในคดี รวมทั้งยังถูกจำคุกในคดีอุ้มสันติ ศรีธณะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชรย่านบ้านหม้อ แต่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษถึง 3 ครั้ง จนเข้าเงื่อนไขการพักการลงโทษ
ต่อมาได้ถูกถอดยศ และถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี 2553 กลายเป็น"นาย” ชลอ เกิดเทศ แต่ต่อมาไปเปลี่ยนชื่อเป็น "ธัชพล เกิดเทศ" จนเมื่อถูกจองจำนานกว่า 19 ปี เขาได้รับอิสระเมื่อ 25 ตุลาคม 2556 ขณะอายุ 72 ปี
ทั้งนี้ หลังจากนั้นคนไทยได้เห็นเขาปรากฏตัวผ่านสื่อสองสามหน หนหนึ่งคือ การไปร่วมงานบวชของ พระเกรียงไกร (เตชะโม่ง) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ที่วัดท่ามะเกว๋น ม.3 ต.แม่ปะ อ.เถิน จ.ลำปาง ที่เจ้าตัวระบุว่า บวชเพื่อล้างอาถรรพ์ของเพชรซาอุฯ
และอีกครั้ง ในงานศพของภรรยาแหม่ม ช่วงสิงหาคมปีเดียวกัน ที่วัดวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
ป๋าลอ ในวัย 79 แม้จะมีอาการป่วยเป็นอัมพฤกษ์ท่อนล่าง หลังคิดดีแล้วว่าจะละชีวิตบั้นปลายอันแสนสบายกับลูกสาว และลูกชายที่ “คุ้มพระลอ” ริมน้ำปิง จ.ตาก อาณาจักรที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยยังรุ่งเรือง ในฐานะผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดตาก
ในที่สุด เขาก็เลือกที่จะหันไปฝากชีวิตไว้ในร่มกาสาวพัสตร์แทน